“หนี้นอกระบบถือว่า เป็น Modern World Slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้”
ข้อความที่ยกมานั้น เป็นคำพูดของนายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากการแถลงข่าวการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเมื่อวันที่28 พฤศจิกายนที่ผ่าน ถ้าปิดตาแล้วใช้หูฟังอย่างเดียว อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นภาษาแบบสำนวนลิเกของนักการเมืองจากพรรคก้าวไกล ซึ่งมักจะก๊อบปี้หรือลอกคำหรือประโยคที่ตัวละครใน “วรรรณกรรมก้าวหน้า” มาประดิษฐ์ใช้กัน บางครั้งฟังแล้วก็ทำให้รู้สึกเลี่ยน
เหตุผลที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน แถลง ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลสำคัญในการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ ก็คือ “ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทซึ่งคิดว่าตัวเลขนี้ น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริงๆ น่าจะมีมากกว่านั้น คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตามแพสชั่นได้ ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังทุกภาคส่วน”
แพสชั่น หรือ passion ที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน กล่าวนั้น หมายถึงความกระตือรือร้นที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จพูดง่ายๆ ก็คือ แรงขับเคลื่อน และเมื่อได้ฟ้งแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยคนนี้ มีดีเอ็นเอเดียวกับนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร และ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มักจะชอบพูดแบบภาษาไทยคำหนึ่งอังกฤษคำหนึ่งผสมปนเปกันไป ถ้าเป็นนักธุรกิจหรือคนที่ชอบโอ้อวดว่าตนรู้ภาษาอังกฤษก็พอจะอนุโลมได้ ว่าเป็นเพราะพูดติดปาก
แต่การเป็นผู้นำของประเทศ ภาษาที่สื่อกับประชาชนควรจะให้ชัดเจนแบบชัดถ้อยชัดคำ คือคิดและเรียบเรียงให้เสร็จก่อนพูด อย่างเช่น “แพสชั่น” คำนี้ ดีไม่ดีคนไทยที่เป็นชาวบ้านทั่วไป อาจจะคิดว่า “แพสชั่นฟรุต” (Passion Fruit) คือเสาวรสที่เป็นผลไม้ก็เป็นได้
เรื่องปัญหาหนี้นอกระบบนี้ แน่นอนว่าเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน จะบอกว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ จะไม่เหมือนเดิม โดยอ้างว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาไม่ได้ทำแบบบูรณาการ แต่ครั้งนี้จะมีทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการคลัง เข้ามาร่วมมือกันทำงานโดยเรียกเจ้าหนี้มาเจรจา พร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบควบคู่กันไปด้วย ซึ่งนายเศรษฐาเล็งผลเลิศว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบพร้อมๆ กันไปจะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ โดยย้ำว่า “เพื่อจะทำให้ประชาชนกลับมาเป็นหนี้ยากขึ้น แต่การจะไม่ให้เป็นหนี้เลยคงลำบาก แต่เราจะทำให้เป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด”
อันที่จริงแล้ว ฟังที่นายเศรษฐา ทวีสิน พูด หากไม่มีข้อมูลที่เป็นปูมหลังก็อาจจะเคลิ้มตามไปได้ เพราะสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยทำมาแล้ว และก็ทำแบบบูรณาการอย่างที่นายเศรษฐา ยกมากล่าวถึง โดยแก้ปัญหาทั้งระบบด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ” (ศตจ.)ซึ่งได้มีการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหรือเป็นกระทรวงหลัก เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการโดยมีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
คงไม่ต้องถามว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของใครทำสำเร็จหรือไม่ ถ้าหากทำสำเร็จก็คงไม่เป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกร่อนสังคมไทยมาจนถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด ใน พ.ศ.นี้
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลไทยรักไทยในยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ผ่านไปแล้ว ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มิได้ละเลยเรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งก็ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการเช่นเดียวกัน
ยกข้อมูลมาให้ดูเป็นสังเขปในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ ปรากฏว่า ระหว่างปี 2552-2554 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าลอกการบ้านการแก้ปัญหาเหมือนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร มีตัวเลขดังนี้ จากยอดประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบจำนวน 1.18 ล้านราย จำนวนหนี้ 122.67 ล้านบาทนั้น สามารถประนอมหนี้ได้สำเร็จ 6 แสนราย ไม่สำเร็จ 1.82 แสนราย และขอยุติเรื่อง 3.97 แสนราย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่เป็นรากเหง้าของปัญหาที่ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนก็แก้ไม่สำเร็จ ก็คือ ผู้ที่เป็นลูกหนี้นอกระบบไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ ทำนองว่าพอแก้หนี้วันนี้ให้คลี่คลายลุล่วงไปได้บางส่วน เสร็จแล้วก็วนกลับไปกู้หนี้พอกขึ้นมาใหม่อีก และก็กู้จากนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเดิมอีกด้วย
ที่สำคัญก็คือ ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบจริงๆ นั้นมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ามาแจ้ง จึงได้ตัวเลขไม่ครบตามจำนวนที่มีอยู่จริง เพราะนอกจากจะต้องอาศัยพึ่งพานายทุนเงินกู้นอกระบบกันต่อไปแล้ว ก็ยังกลัวอิทธิพลของนายทุนเงินกู้ พูดตรงๆ ก็คือนายทุนเงินกู้นั่นแหละที่เป็น “ผู้มีอิทธิพล” หรือ “เจ้าพ่อ-มาเฟีย” ตัวจริงของทุกพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศนี้ และการที่ “เจ้าพ่อ-มาเฟีย” สามารถยืนอยู่ได้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจาก “คนมีสี”
เพราะฉะนั้น ถ้าหากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน สามารถกวาดล้างปราบปราม “เจ้าพ่อ-มาเฟีย” หรือผู้มีอิทธิพลให้หมดไปได้ทุกพื้นที่ทุกจังหวัดของประเทศนี้ ปัญหาหนี้นอกระบบก็จะแก้ได้สำเร็จลุล่วง เนื่องจากปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนานอย่างแท้จริง ก็คือ“ระบบอุปถัมภ์” ที่เกี่ยวข้องกับทั้งเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ข้าราชการ และนักการเมือง
สรุปก็คือ ถ้าปราบผู้มีอิทธิพลได้สำเร็จ ก็สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ เพราะผู้มีอิทธิพลก็คือนายทุนเงินกู้นอกระบบนั่นเอง !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี