วันที่ 8 พฤษภาคมวันนี้ แพทยสภา ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์เป็นนายกแพทยสภา จะมีการประชุมพิจารณาตัดสินจริยธรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กรณี“ป่วยทิพย์ชั้น 14”โรงพยาบาลตำรวจ ของอดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร
เป็นการประชุมพิจารณาผลสรุปการสอบสวนของคณะอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ ซึ่งมีศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา เป็นประธาน ที่เริ่มกระบวนการสอบสวนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และคณะอนุกรรมการชุดนี้ เคยเลื่อนเสนอผลสอบสวนเข้าสู่การประชุมแพทยสภามาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา
ผลการชี้ขาดของแพทยสภาในวันที่ 8พฤษภาคม แม้จะไม่มีผลโดยตรงต่ออดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร หากแต่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของแพทย์ ทั้งนี้ ตามข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ระบุว่า จะมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ถูกลงโทษ 7คน”ก็ตาม แต่ถือว่ากรณีนี้จะเป็น“สารตั้งต้น” เพื่อนำไปสู่การบังคับให้ทักษิณต้องกลับเข้าไปติดคุกตามโทษที่มีติดตัว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำลังพิจารณาคดีอยู่ในขณะนี้
ตามข่าวที่ไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ที่มี นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ระบุว่า ผลสรุปการสอบสวนของคณะอนุกรรมการชุดนี้ พบข้อเท็จจริงว่า “ทักษิณ ชินวัตร”ต้นเหตุของเรื่องราวทั้งปวงไม่“ป่วยจริง” ซึ่งจะทำให้แพทย์ 2คนต้องถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และอีก 5 คนต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม
แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ 7 คน ที่เกี่ยวข้องกับการป่วยทิพย์ของ“ทักษิณ ชินวัตร” ประกอบด้วย พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อครั้งเป็นนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ, พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ,พ.ต.อ.ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5)โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้ และผู้เป็นผู้ออกใบความเห็นแพทย์,พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ออกใบความเห็นแพทย์,นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์,แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ และนายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ย้อนกลับไปดูที่มาของผลสอบสวนกรณี“นักโทษเทวดา”ป่วยทิพย์บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ อันนำมาสู่ข้อสรุปที่พบว่า “ทักษิณ ชินวัตร”ไม่ได้ป่วยจริง และทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจต้อง“รับกรรม” เพราะร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้“ทักษิณ ชินวัตร”ไม่ต้องติดคุก มีดังนี้
วันที่ 16 ธันวาคม 2567 คณะอนุกรรมการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ ซึ่งมี นพ.อมร ลีลารัศมี ได้ทำหนังสือส่งไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ขอให้แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ส่งข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาตัวของ“ทักษิณ ชินวัตร” ณ โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 นับเป็นวันแรกที่ทักษิณถูกส่งตัวมาจากเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ทักษิณถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลตำรวจเมื่อครบ 180 วัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
ข้อมูลหลักฐานที่คณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งมี นพ.อมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ขอไปยังโรงพยาบาลตำรวจนั้น ให้ส่งเอกสารที่ขอไปทั้งหมดกลับมาภายในวันที่ 15 มกราคม 2568 และจะต้องทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมพยานหลักฐานที่สนับสนุนคำชี้แจงทุกประเด็น
โดยสรุปก็คือ รายละเอียดเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลของ“ทักษิณ ชินวัตร”ทั้งหมด,ขอทราบชื่อ-นามสกุลแพทย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงเลขใบประกอบวิชาชีพ,ขอคำชี้แจงจากแพทย์ทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจ-การวินิจฉัยและการดูแลรักษา,ขอความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างที่แพทย์ทำรายงาน 3 ครั้ง ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อันเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ต้องส่งทักษิณกลับเข้าเรือนจำในช่วงครบ 30 วัน, 60 วัน และ 120 วันตามลำดับ
นอกจากนั้น ยังขอสำเนาใบส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาต่อ, สำเนาเวชระเบียน, สำเนาบันทึกการผ่าตัด,สำเนาบันทึกการให้ยาระงับความรู้สึก, สำเนาบันทึกการพยาบาล,สำเนารายงานทางการแพทย์ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัย,ผลการตรวจทางรังสี และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษา“ทักษิณ ชินวัตร” โดยให้ระบุหมายเลขหน้าเอกสารดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ลงนามรับรองสำเนาเอกสารทุกหน้าด้วย
จะอย่างไรก็ตาม การประชุมแพทยสภาวันที่ 8 พฤษภาคมวันนี้นั้น ผู้คนในสังคมมีความวิตกว่า จะมีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง พูดให้ชัดก็คือการเข้ามาครอบงำแทรกแซงของ“ทักษิณ ชินวัตร” ผ่านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น“ข้าเก่าเต่าเลี้ยง”ของทักษิณ
“สมศักดิ์ เทพสุทิน” มีตำแหน่งเป็นสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา สามารถใช้อำนาจยับยั้งมติของแพทยสภาได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่แพทยสภามีมติ และหลังจากนั้นแพทยสภาสามารถยืนยันมติเดิมได้ แต่ต้องมีเสียงถึง 2 ใน 3 ของแพทยสภา ที่มีจำนวนทั้งหมด 70 คน จึงจะชนะ
วันที่ 8 พฤษภาคมวันนี้ เป็นยกแรกของการพิสูจน์ว่า จะมีอำนาจ“ถุงขนม”แทรกแซงหรือไม่-การประชุมจะเลื่อนไม่เลื่อนต้องจับตาดู !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี