ช่วงนี้ถ้าไปจับจ่ายซื้อของตามห้างร้านตลาด จะเห็นตู้วางขนมไหว้พระจันทร์นานายี่ห้อหนาตา ได้รับรู้ถึงบรรยากาศแห่งเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีน เห็นความวิลิศมาหราของรูปทรงสีสันสวยงามของก้อนขนมที่มีการสรรค์สร้างกันใหม่ทุกปี รวมทั้งกล่องบรรจุภัณฑ์ออกแบบหรูหรากว่าเมื่อก่อน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีรสชาติและดีไซน์ใหม่ๆ ที่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แก่นแท้ของขนมไหว้พระจันทร์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการกลับมาพบกันและการเฉลิมฉลองยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในวัฒนธรรมจีน จนเกิดเป็นกระแสนิยมร่วมสมัย
ขนมไหว้พระจันทร์มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในวัฒนธรรมจีน ซึ่งเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ หนึ่งในเทศกาลดั้งเดิมที่สำคัญที่สุดของจีน โดยมีต้นกำเนิดมาเป็นเวลานับพันปี ประกอบกับประวัติศาสตร์ที่ได้พัฒนาควบคู่ไปกับอารยธรรมจีน
ต้นกำเนิดในยุคแรก
เชื่อกันว่าขนมไหว้พระจันทร์มีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) แต่บางข้อมูลสามารถสืบย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์โจว (ค.ศ. 1046-256 ก่อนคริสตกาล) เมื่อแรกขนมไหว้พระจันทร์เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ สำหรับงานเฉลิมฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยว ด้วยรูปทรงกลมของขนมไหว้พระจันทร์สื่อถึงความสามัคคี ความสมบูรณ์ และการกลับมาพบกันอีกครั้ง ซึ่งเสมือนวันพระจันทร์เต็มดวงโดยมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ อีกทั้งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองพระจันทร์ เป็นเวลาที่สมาชิกของครอบครัวจะมารวมตัวกัน ในช่วงความสุขเพลิดเพลินกับฤดูเก็บเกี่ยว และแสดงความขอบคุณซึ่งกัน โดยขนมไหว้พระจันทร์ของแต่ละครอบครัวจะมีการแลกเปลี่ยนเป็นของขวัญระหว่างครอบครัว เพื่อน และคนที่รัก
อีกหนึ่งตำนานของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับขนมไหว้พระจันทร์มาจากตำนานแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) ขนมไหว้พระจันทร์มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มราชวงศ์หยวนที่ปกครองโดยชาวมองโกล (ค.ศ. 1271-1368) กล่าวกันว่าผู้นำกบฏได้ซ่อนข้อความลับไว้ในขนมไหว้พระจันทร์เพื่อนัดหมายการก่อจลาจล เรื่องราวนี้แม้จะไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็เน้นย้ำถึงบทบาทของขนมไหว้พระจันทร์ของนิทานพื้นบ้านในประวัติศาสตร์จีน นอกจากนี้ยังมีนิยายปกรณัมที่เกี่ยวเนื่องเรื่องฉางเอ๋อกับโฮ่วอี้ ก่อกำเนิดเป็น “วันวาเลนไทน์ของลูกหลานมังกร”
ตำนานฉางเอ๋อกับโฮ่วอี้
เทศกาลไหว้พระจันทร์มีความเกี่ยวข้องกับตำนานจีนโบราณหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความรัก เรื่องที่โด่งดังที่สุดคือนิทานเรื่องฉางเอ๋อกับโฮ่วอี้ ดังกล่าว
ตามตำนานเล่าว่ามีอยู่วันหนึ่งบนท้องฟ้าบังเกิดดวงอาทิตย์สิบดวง ทำให้โลกร้อนและผู้คนต้องทนทุกข์ทรมาน โฮ่วอี้ซึ่งเป็นนักธนูฝีมือดีได้รับบัญชาจากจักรพรรดิให้ยิงดวงอาทิตย์เก้าดวงลงมาเพื่อช่วยโลก เขาทำสำเร็จและได้รับรางวัลเป็นยาอายุวัฒนะอันอมตะ ความรักจึงจบลงด้วยการพลัดพรากของเทพธิดาฉางเอ๋อ กับวีรบุรุษนักแม่นธนูนามว่าโฮ่วอี้ โดยเหตุผลในการพลัดพรากของคนรักคู่นี้มีเรื่องเล่าแตกต่างกันหลายกระแส แต่บทสรุปตรงกันคือ ฉางเอ๋อผู้เป็นภรรยาเลือกที่จะเสียสละตนเองเพื่อสามี แต่การเสียสละนั้นทำให้นางและโฮ่วอี้ต้องจากกันชั่วนิรันดร์ โดยร่างของฉางเอ๋อล่องลอยไปสู่ดวงจันทร์และมีชีวิตเป็นอมตะในฐานะเทพองค์หนึ่งอยู่บนนั้น ส่วนโฮ่วอี้ผู้สูญเสียภรรยาและผู้คนทั้งหลายจะได้เห็นเงาของฉางเอ๋อบนดวงจันทร์แค่ในคืนพระจันทร์วันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งมีการทำพิธีกราบไหว้ดวงจันทร์ในค่ำคืน 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี โฮ่วอี้ผู้เสียใจกับการสูญเสียภรรยา จึงนำอาหารและเค้กที่ฉางเอ๋อชมชอบมาวางให้เธอด้วยความถวิลหา ผู้คนที่ซาบซึ้งกับเรื่องราวนี้ก็เริ่มถวายเครื่องบูชาแก่ฉางเอ๋อตามไปด้วยในคืนวันเพ็ญนั้น จึงมีความหมายมากกว่าการแสดงความเคารพต่อเทพธิดาฉางเอ๋อบนดวงจันทร์ แต่เป็นสัญลักษณ์ถึงการได้กลับมาพบเจออยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนามาเป็นประเพณีเทศกาลไหว้พระจันทร์
ขนมไหว้พระจันทร์เป็นองค์ประกอบสำคัญของเทศกาลนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของพระจันทร์หรือตำนาน มีการแบ่งปันเค้กเหล่านี้กับครอบครัวและระหว่างเพื่อนฝูงภายใต้พระจันทร์เต็มดวง เป็นวิธีการเฉลิมฉลองเชื่อมความสามัคคีและสายสัมพันธ์แห่งความรักต่อๆมา
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา เทศกาลไหว้พระจันทร์จึงมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเรื่องราวความรักนี้ รวมถึงตำนานอื่นๆ และสะท้อนถึงคติของความรัก ความปรารถนา และการกลับมาพบกันอีกครั้ง ขนมไหว้พระจันทร์กลายเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลและวัฒนธรรมจีนที่เป็นมากกว่าอาหาร อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของความรักสามัคคีในครอบครัว จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งเพื่อเฉลิมฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยว
“ขนมไหว้พระจันทร์” ถือเป็นขนมหนึ่งเดียวที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เนื่องจากใช้เซ่นไหว้ดวงจันทร์โดยเฉพาะ ลักษณะของขนมมีทรงกลม คล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่างๆ ก่อนนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม ภายในบรรจุไส้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธัญพืชและผลไม้ อาทิ ทุเรียนกวน เม็ดบัว แมคคาเดเมีย พุทราจีน อัลมอนด์ แม้กระทั่งทรัฟเฟิล เป็นต้น ดังนั้นในปัจจุบันจึงเห็นรูปแบบและไส้ขนมไหว้พระจันทร์ได้มีการดัดแปลงรูปลักษณ์ตามจินตนาการอันหลากหลายของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น
ไอศกรีมขนมไหว้พระจันทร์
เป็นการสะท้อนถึงความหลากหลายของภูมิภาคและวัฒนธรรมของจีน โดยทั่วไปแล้วขนมไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมจะมีไส้แน่นที่ทำจากส่วนผสม เช่น เม็ดบัว ถั่วแดง หรือไข่แดงเค็ม ห่อด้วยแป้งบางนุ่ม ขนมไหว้พระจันทร์รูปแบบใหม่ๆ แห่งยุคสมัย เช่น ขนมไส้ไอศกรีม ช็อกโกแลต บ้างก็มีส่วนผสมที่มีรสเค็ม ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น
ขนมไหว้พระจันทร์อันหลากหลาย
ตำนานเทศกาลไหว้พระจันทร์ และขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งการมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้แก่ผู้ที่เคารพรัก ญาติสนิทมิตรสหาย เป็นการแสดงออกถึงความปรารถนาดีที่มีต่อกันในช่วงเทศกาล
ขนมโก๋
การเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟแดง
เทศกาลไหว้พระจันทร์ปี 2567 นี้ ตรงกับ วันอังคารที่ 17 กันยายน หรือชาวจีนเรียกว่า “เทศกาลเดือนแปด”
ภาพถ่ายจาก INTERNET
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี