ด้วยอภินิหารราชทัณฑ์ หรืออันใดไม่ทราบได้ ตอนนี้นักโทษดังคดีจำนำข้าวที่ติดคุกกันคนลหลายสิบปี คือ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ จำคุก 36 ปี, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ จำคุก 42 ปี และ นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำคุก 48 ปี ก็ได้พักโทษออกมาจากคุกกันหมดแล้ว
ส่วนที่ให้ชดใช้เกือบ 17,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 หลังจากทำประเทศเสียหายไปร่วม 9 แสนล้านนั้น ไม่รู้ได้ชดใช้กันไปมั่งหรือยัง
นอกจาก 3 คนที่กล่าวแล้ว ยังมีคนที่ถูกพิพากษาให้ติดคุกอีก ได้แก่ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีต รองอธ.กรมการค้าต่างประเทศ, นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศและอดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ
นายสมคิด เอื้อนสุภา, นายรัฐนิธ โสจิระกุล, นายลิตร พอใจ, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์, น.ส.สุทธิดาหรือสุธิดา ผลดี หรือ จันทะเอ, นายนิมล หรือ โจ รักดี, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร, นายกฤษณะ สุระมนต์, นายสมยศ คุณจักร และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร
จำเลยหนีไป 3 ราย คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการและอดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และ นายสุธี เชื่อมไธสง
นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องติดคุกในยุคสมัยของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลภายใต้บัญชาการของ ทักษิณ ชินวัตร
วันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ว่า นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำเลย 3 กับพวกจำเลยที่ 2, 4 และ 12 มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้คนละ 18 ปี ส่วนจำเลยที่ 5,8-11,13-17 คนละ 12 ปี และจำเลยที่ 23-27 คนละ 12 ปี
ส่วนกรณีทุจริตอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ชนะการประมูลซื้อข้าวในสต๊อก ปี 2546 รอดไป เพราะสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานมากพอ
บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง นักธุรกิจชื่อดังผู้เป็นคนสำคัญในคดีทุจริตประมูลข้าวของรัฐ และโครงการบ้านเอื้ออาทร สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
คดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษให้จำคุก 6 ปี นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,000 กว่าล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) โดยมิชอบ
วันที่ 26 ธันวาคม 2562 ศาลฏีกาเห็นว่า การกระทำของนางเบญจา หลุยเจริญ และพวก แอบแฝงเจตนาที่จะช่วยให้ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้นไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากรเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา เห็นว่าควรลดโทษให้ 1 ใน 3 พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 2 ปี
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลย (นายยุงยุทธ วิชัยดิษฐ) ฎีกาในคดีเกี่ยวกับที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กรณีเป็นรักษาการปลัดกระทรวงแล้วลงนามรับรองการซื้อขายที่ดินจำนวน 732 ไร่ ระหว่างวัดธรรมิการามวรวิหาร กับบริษัท อัลไพน์กอล์ฟ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟสปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาลงโทษจำคุก นายยงยุทธ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ก็คือรับโทษตามคำพิพากษานั่นเอง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก 50 ปี นายวัฒนา เมืองสุข ชดใช้เพิ่ม 89 ล้านบาท ในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร
ศาลชี้ว่า นายวัฒนา ให้ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง อีกแล้วครับท่าน) แสดงออกว่าเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ และมีการเรียกเงินจำนวนมากจากผู้ประกอบการหลายรายที่เกี่ยวกันกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของ นายวัฒนา แล้ว จึงถือว่ามีส่วนในการร่วมกระทำรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ
คดีนี้ยาวนานกว่า 15 ปี จนกระทั่ง นายวัฒนา อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินเข้าสู่เรือนจำในที่สุด เมื่อเดือนกันยายน 2563
ส่วนตัว ทักษิณ เองก็มีคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้ว 4 คดี คือ คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำคุกนายทักษิณ 2 ปี (คดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว), คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ “คดีหวยบนดิน” ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบ๊งค์) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
คดีให้บุคคลอื่น(นอมินี)ถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 รวมโทษ จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่รอดเพราะศาลยกฟ้องและข้อมูลไม่เพียงพอจะสั่งฟ้องอีก 4 คดี ได้แก่ อนุมัติให้กระทรวงการคลัง เข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน), คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต, คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม และคดีอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
แต่ยังเหลืออีกคดีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ทักษิณ ชินวัตร ผิดมาตรา.112 จากการเดินทางไปเกาหลีใต้ และให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ โดยมีเนื้อหาบางช่วงเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ อัยการสูงสุดห็นควรสั่งฟ้องเมื่อปี 2559
บันทึกเอาไว้ให้ชมกัน นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่คนคนหนึ่ง และคนเครือข่ายที่ร่วมงานกันมา สามารถ ‘ถูกกลั่นแกล้งด้วยความอิจฉาริษยา’ ให้เจอคดีได้มากถึงขนาดนี้
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี