การเดินทางขึ้นสู่พื้นที่ที่มีความสูงมากกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป อาจจะทำให้เกิดอาการ Altitude Sickness ได้ เนื่องจากบริเวณที่สูงจะมีความดันบรรยากาศและออกซิเจนลดลง หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้ทนกับภาวะออกซิเจนต่ำได้ จึงมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น โดยแต่ละคนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่มีออกซิเจนลดน้อยลงได้ดีและเร็ว-ช้าต่างกัน ดังนั้น ณ ระดับความสูงของพื้นที่ที่เท่ากัน บางคนจึงไม่มีอาการ บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และความฟิตของร่างกาย แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โลหิตจาง โรคหัวใจ โรคปอด อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิด Altitude Sickness มากกว่าคนทั่วไป
กลุ่มอาการของ Altitude sickness
1. Acute Mountain Sickness (AMS) พบได้บ่อยที่สุด มักจะไม่รุนแรง อาการปวดศีรษะเป็นอาการเด่น อาจจะมีอ่อนเพลีย คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย โดยมักเกิดขึ้นในคืนแรกที่ขึ้นไปยังบริเวณที่สูง ซึ่งร่างกายสามารถปรับตัวได้เองภายใน1-2 วัน
2.High Altitude Cerebral Edema (HACE) เป็นภาวะสมองบวมที่เกิดต่อเนื่องจากภาวะ AMS มีอาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เห็นภาพซ้อน มีพฤติกรรมเปลี่ยน อาการคล้ายคนเมาแอลกอฮอล์ และหากรุนแรงจะทำให้ชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
3.High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) คือภาวะปอดบวมน้ำ อาจจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างเดียว หรือเกิดร่วมกับภาวะ HACE ได้ โดยจะมีอาการเหนื่อยมากขึ้นแม้อยู่ในขณะพัก หายใจลำบาก ไอแห้ง เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะไอเป็นฟอง และรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน
ทั้ง HACE และ HAPE สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการโดยเฉพาะ HACE หรือ HAPE ควรได้รับการรักษาและลงจากที่สูงโดยเร็วที่สุด
สิ่งที่ต้องทราบเกี่ยวกับการป้องกัน Altitude Sickness
- ควรวางแผนการเดินทางไปในที่ที่ไม่สูงมาก หรือมีการเปลี่ยนระดับความสูงที่นอนพักค้างแรมอย่างช้าๆ ในแต่ละวัน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ออกซิเจนกระป๋องชนิดพกพา ไม่สามารถช่วยในการป้องกันและรักษาได้
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำบนที่สูง
- การกินยา Acetazolamide (Diamox®) เพียงช่วยเพิ่มความสามารถปรับตัว ดังนั้นแม้กินยาแล้ว ก็ยังสามารถเกิดอาการได้
- แต่ละคนปรับตัวได้ดีต่างกัน ถึงแม้ตนเองหรือนักท่องเที่ยวคนอื่นเคยไปที่ระดับความสูงนั้นมาแล้วโดยไม่เกิดอาการใดๆ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าครั้งต่อไปจะไม่มีอาการเกิดขึ้น
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเดินทางขึ้นสู่พื้นที่สูง
- บริเวณที่สูงจะมีอุณหภูมิลดต่ำลง ดังนั้น ต้องระวังโรคที่มากับความหนาว ควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้เพียงพอ
- ร่างกายมีโอกาสสัมผัสรังสียูวีมากขึ้น ดังนั้นครีมกันแดดและแว่นกันแดดยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
- ระมัดระวังแสงสะท้อนจากหิมะ ซึ่งอาจจะทำให้ตาบอดได้ควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด หลีกเลี่ยงการมองหิมะโดยตรง
- ระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ทั้งจากสภาวะอากาศที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือลักษณะภูมิประเทศที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ควรมีประกันการเดินทางที่ครอบคลุมอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากการเดินทางขึ้นสู่ที่สูง รวมถึงครอบคลุมการเคลื่อนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
ข้อมูลโดย อาจารย์ แพทย์หญิงพิมพ์พรรณ พิสุทธิ์ศาล ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี