การเลี้ยงสุนัขในปัจจุบันนั้น เปรียบเสมือนการมีสมาชิกคนหนึ่ง (ตัวหนึ่ง) ในครอบครัว หลายคนเลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กเสหมือนว่าเป็นเด็กเล็กๆ คนหนึ่งทีเดียว มีการอุ้มไปไหนมาไหน ไปร่วมกับเกือบทุกกิจกรรม ในบางครั้ง ระหว่างที่เราทำกิจกรรมนั้นๆ อาจมีการพักวางสัตว์เลี้ยงบนโต๊ะ บนเก้าอี้ หรือบนตู้ และบ่อยครั้งที่สุนัขเกิดความซุกซน ไม่อยู่นิ่ง กระโดดหรือเดินไปมา จนทำให้พลัดตกลงมาจากตู้หรือโต๊ะเหล่านั้น บางบ้านที่มีหลายชั้นอาจปล่อยให้วิ่งเล่นทั่วบ้าน อาจพลาดไปเล่นริมระเบียงชั้นสูงๆ (ที่ไม่ได้มีอะไรกั้น) แล้วเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาจากชั้น 2 หรือสูงกว่านั้น ซึ่งหากเป็นตึกหลายชั้น ซึ่งทำให้เกิดอันตราย เช่นกระดูกซี่โครงหัก ขาหัก หัวแตก รวมถึงอาการอื่นๆ ที่น่ากลัว จนถึงเสียชีวิต วันนี้ผมมีข้อมูลจาก สพ.ญ.มนิษิน วานิชวัฒนรำลึก แผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และหออภิบาลสัตว์ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสัตวเ์ล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับภาวะการตกจากที่สูงมาฝากครับ
@ภาวะตกจากที่สูงคืออะไร
ภาวะการตกจากที่สูงนี้ เป็น อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในห้องฉุกเฉินตัวอย่างอุบัติเหตุเหล่านั้นได้แก่การตกตึก การตกบันได การตกจากโต๊ะหรือตู้ ซึ่งเป็นภาวะที่มักทำให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในสภาวะวิกฤตและอาจตกอยู่ในสภาพอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากการตกจากที่สูงถือว่าเป็นการกระทบกระแทกอย่างรุนแรง ที่ส่งผลให้ เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออวัยวะภายในที่สำคัญ ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและทันเวลา มิฉะนั้นสัตว์อาจไม่หายเป็นปกติ และกลายเป็นสภาพเรื้อรัง ทุพลภาพถาวร รวมถึงเสียชีวิตได้
@สาเหตุการตกจากที่สูงมีอะไรบ้าง
การตกจากที่สูง อาจเกิดจากได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ตกตึก ตกจากระเบียงอพาร์ตเมนต์หรือคอนโด ซึ่งสาเหตุนี้มักมีอาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากมีความสูงมาก
- ตกจากบันได หรือช่องตรงราวบันได
- ตกจากโต๊ะ เก้าอี้ และตู้ ซึ่งสัตว์ป่วยมักเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แม้จะเป็นบริเวณที่เจ้าของคิดว่าไม่สูงมากนัก แต่ก็อาจทำให้เกิดการเสียหายของอวัยวะ ในสุนัขพันธุ์เล็กได้
@ภาวะที่พบได้จากการตกจากที่สูง
เมื่อสัตว์เลี้ยงตกจากที่สูงแล้ว ปัญหา อาการ หรือสภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงของเรามีหลายกรณี ได้แก่
- กะโหลกร้าวหรือแตก การมีเลือดออกในสมอง รวมถึงการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน
- อวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ม้าม ไต กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ได้รับการกระทบกระเทือน แตก ฉีกขาด หรือเสียหาย ซึ่งนำมาสู่ภาวะเลือดออกในช่องท้องเฉียบพลันจนทำให้เสียชีวิต
- ระบบทางเดินปัสสาวะแตกหรือฉีกขาด ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะและของเสียออกมาได้
- กระดูกหัก กระดูกสันหลังแตก หัก ทำให้ประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ทำให้ไม่สามารถเดินได้
@การดูแลปฐมพยาบาลสัตว์ที่ตกจากที่สูง
ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงของเราประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง เราสามารถช่วยปฐมพยาบาล เพื่อลดความรุนแรงได้เบื้องต้นดังนี้
- เบื้องต้น หากมีเลือดออก ให้ทำการกดห้ามเลือดด้วยผ้าที่สะอาดกดลงไปที่บาดแผล แต่ต้องระมัดระวังเรื่องกระดูกหักด้วย
- เคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยด้วยความระมัดระวังที่สุด อาจต้องประคองทำเป็นเปล หรือต้องห่อตัวร่วมด้วยในกรณีที่สัตวป่วยดิ้นมาก
- รีบพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อไดัรับยาลดความเจ็บปวดห้ามเลือด ห้ามเลือด และรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เช่น การเอกซเรย์ ตรวจเลือด อัลตร้าซาวด์ หรือต้องใช้การวินิจฉัยเชิงลึกต่อ เช่น การทำ CT scan หรือ MRI
@การรักษาทำได้อย่างไร
หลักของการรักษานั้น จะขึ้นกับอาการเจ็บป่วย และตำหน่งที่ได้รับบาดเจ็บที่เกิดขึ้น รวมถึงการประเมินของสัตวแพทย์ที่ตรวจอย่างละเอียด เช่น
- การใส่เฝือก เพื่อประคองไม่ให้อวัยวะนั้นๆ มีการเคลื่อนไหว หรือลดการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
- การรักษาทางศัลยกรรม โดยการผ่าตัดแก้ไขการฉีกขาดของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ รวมถึงการแตกหรือหักของกระดูก
- รักษาทางอายุรกรรม โดยการให้ยากินเพื่อรักษาและแก้ไขการอักเสบการติดเชื้อ การปวด การห้ามเลือด เป็นต้น
- รักษาแบบประคับประคองอาการ ในบางกรณีไม่สามารถทำให้การกลับเป็นปกติได้ จึงจะต้องมีการรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้อาการกลับรุนแรงมากขึ้น หรือให้และสามารถดำรงชีวิตได้เกือบเป็นปกติมากที่สุด
@การป้องกัน
การป้องกัน ถือเป็นการจัดการที่ดีที่สุด เพราะอาการเจ็บป่วยหลายอย่างอาจะทำให้สัตว์ป่วยมีสภาพไม่เหมือนเดิม หรือมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี หรืออาจกลายเป็นสัตว์พิการไปตลอดชีวิต การป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูงที่อาจจะเกิดขึ้นอาจทำได้โดย
- ติดตั้งตาข่าย หรือที่กั้นบริเวณระเบียงหรือนอกชาน ในกรณีที่อยู่อาศัยเป็นตึกหรืออาคารสูง
- ติดตั้งแนวป้องกันตามราวบันได รวมถึงต้องคอยปิดประตูและทำแนวกั้นเพิ่มเติมกรณีห้องที่เลี้ยงอยู่ชั้นบนหรือใกล้ทางลงไปชั้นล่าง
- หลีกเลี่ยงการวางหรือพักเลี้ยงสัตว์เลี้ยงบนเตียงหรือโต๊ะที่สูงเพราะสัตว์เลี้ยงอาจเดินซนหรือกระโดดออกมาได้
จะเห็นได้ว่าปัญหาการตกจากที่สูงนั้น เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงสามารถป้องกันได้และควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคงไม่คุ้มแน่หากเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้สัตว์เลี้ยงของเราบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือพิการ ดังนั้นอยากให้ทุกท่านลองตรวจเช็คบริเวณบ้านของเราว่า มีจุดที่ล่อแหลมที่อาจทำจะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการตกที่สูงหรือไม่ ถ้าพบความเสี่ยงแล้วละก็ รีบปรับปรุงโดยด่วนเลยนะครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี