เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้คุยกันถึงสาเหตุ อาการ และการติดต่อของโรคไข้หัดแมวไปแล้ว ซึ่งเราก็ได้ทราบกันว่า ผลการตอบสนองต่อการรักษานั้นค่อนข้างต่ำ วันนี้เราจะมาคุยกันถึงวิธีป้องกันกันครับ
@การป้องกันโรคไข้หัดแมว
เนื่องจาก ที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ผลลัพธ์ของการรักษานั้นค่อนข้างต่ำ ดังนั้น หนทางการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การไม่สัมผัสเชื้อโรคเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทำได้ยากมาก แม้ว่าจะถูกเลี้ยงในระบบปิด ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อได้ก็ตาม แต่ในชีวิตจริงแล้ว ตัวเจ้าของเองอาจจะเป็นผู้นำพาเอาเชื้อโรคจากภายนอกเข้าบ้านมาสู่แมว หรือน้องแมวอาจหลุดออกไปเที่ยวนอกบ้านและรับเชื้อโรคโดยบังเอิญก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้น้องแมว นั่นคือ การฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคให้กับเจ้าเหมียวนั่นเอง
@เราจะเริ่มทำวัคซีนให้ได้เมื่อไหร่?
เราสามารถเริ่มทำวัคซีนป้องกันไข้หัดแมว (พร้อมวัคซีนรวมอื่น เช่น ไข้หัดหลอดลมอักเสบติดต่อ) ได้ตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์และต้องกระตุ้นซ้ำใน 3-4 สัปดาห์ถัดไป (เมื่อแมวมีอายุประมาณ4 เดือน) หลังจากนั้นก็จะกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุก 1-3 ปี
บางครั้ง เราอาจพบและสงสัยว่า เพราะเหตุใด แม้แมวจะได้รับวัคซีนแล้ว จึงยังสามารถติดเชื้อได้อีก นั่นอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การทำวัคซีน ทำในขณะที่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่ยังสูงอยู่ทำให้ไวรัสวัคซีนที่เข้าไปถูกขัดขวาง (ทำในช่วงอายุน้อยเกินไป)
2. ได้รับวัคซีน ตอนที่สุขภาพแมวยังไม่พร้อม หรือเป็นโรคเรื้อรัง หรือเป็นช่วงมีภาวะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
3. ปัญหาจากวิธีการฉีด หรือเกิดปัญหาที่ตัววัคซีน เช่น วัคซีนเสื่อมสภาพจากการเก็บรักษา หรือวัคซีนสัมผัสแสงแดดและความร้อน
4. แมวได้รับเชื้อมาก่อนที่จะฉีดวัคซีน กรณีนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เมื่อได้รับลูกแมวมาใหม่ๆ สัตวแพทย์ จะยังไม่ฉีดวัคซีนให้ทันที แต่แนะนำให้สังเกตอาการก่อนสัก 1-2 สัปดาห์ จึงค่อยทำวัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่า น้องแมวไม่ได้รับเชื้อมาก่อนแล้วหรืออยู่ในระยะฟักตัวนั่นเอง
5. ตัวไวรัสเองที่อาจจะได้รับเข้าไปเป็นจำนวนมากและรุนแรง จนทำให้เกิดโรค
@หากที่บ้านมีแมวที่ติดโรคไข้หัดแมวนี้ไปแล้ว ควรทำอย่างไร?
สำหรับบ้านใดที่พบการติดโรคแล้ว ให้รีบแยกแมวที่ยังไม่มีอาการออกโดยด่วน แมวตัวที่มีอายุมากกว่า 4 สัปดาห์ ก็ควรได้รับวัคซีนโดยทันที และแยกกักโรคอย่างน้อย 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ต้องทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและของใช้ภายในบ้านที่ปนเปื้อนน้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งจากการอาเจียนหรือการขับถ่ายเช่น Sodium hypochlorite เช่น นำยาซักผ้าขาว (5%-6% householdbleach diluted 1:30) Accelerated hydrogen peroxide, Potassium peroxymonosulfate หรืออาจใช้น้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ90 องศาขึ้นไป ฆ่าเชื้อนานอย่างน้อย 10 นาที โดยต้องระวังการพาเชื้อปนเปื้อนจากการสัมผัสตัวที่ป่วยไปสู่ตัวอื่นด้วย
ทั้งนี้ แมวที่รับมาใหม่นั้น ควรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็มก่อนนำเข้าสู่พื้นที่
เรียนว่า แมวที่ป่วย โดยโรคไข้หัดแมวนั้น จะมีการแพร่เชื้อออกมาทางอุจจาระได้เป็นเวลา 3-6 สัปดาห์ ดังนั้น เราจึงควรแยกเลี้ยงแมวที่เพิ่งหายป่วยออกจากแมวตัวอื่นๆ ในบ้านอีกสัก 1 เดือนก่อนปล่อยไปรวมกัน
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
1. แม้ไวรัสไข้หัดแมวจะเป็นคนละตัวกับลำไส้อักเสบในสุนัข แต่ก็สามารถใช้ชุดตรวจ (rapid antigen test) ลำไส้อักเสบของสุนัข
มาตรวจใน FPV ในแมวได้ โดยหากพบผลเป็นบวก มักจะให้ผลบวกจริง(แต่ความไวอาจจะต่ำกว่า ขึ้นกับยี่ห้อชุดทดสอบ) นั่นหมายความว่าถ้าให้ผลบวกก็มั่นใจค่อนข้างแน่นอนว่าแมวเราป่วยแน่ๆ
แต่หากผลเป็นลบ ก็ยังอาจบอกไม่ได้เต็มที่ ว่าแมวเราไม่ป่วยเป็นไข้หัดแมว (หมายความว่า แม้ผลเป็นลบ แต่ก็สามารถป่วยเป็นไข้หัดแมวได้)
2. หลังฉีดวัคซีนเชื้อเป็นไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ อาจให้ผลบวกได้เมื่อตรวจอุจจาระด้วยชุดตรวจ rapid antigen test FPV บางชนิด
ดังนั้นจึงขอเรียนย้ำว่า เพื่อให้ความคุ้มครองแมวที่คุณรักจากไข้หัดแมว จงสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาโดยการฉีดวัคซีนหัดแมวให้เจ้าเหมียวกันเถิด เพราะเสียเงิน (ค่าวัคซีน) เพียงหลักร้อย ดีกว่าปล่อยให้ป่วย แล้วมาเสียเงินหลายพันถึงหลายหมื่นบาท ซึ่งก็อาจยังไม่สามารถรักษาชีวิตน้องแมวไว้ได้อีกด้วย
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี