ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาต โดยมีอาการยักคิ้วไม่ขึ้น หลับตาไม่สนิท ยิ้มแล้วมุมปากตก อมน้ำแล้วมีน้ำไหลออกจากปาก
ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 เกิดจากโรค Bell’s Palsy ที่มีการอักเสบของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส (ในแต่ละปี พบผู้ป่วยโรค Bell’s palsy ประมาณ 12-53 คนต่อประชากร 100,000 คน)
นอกจากนี้อาจเกิดจากอุบัติเหตุ เนื้องอก การติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น เชื้อเริม (Herpes simplex virus) งูสวัด (Herpes zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองบางชนิด
โรค Bell’s palsy คืออัมพฤกษ์อัมพาตหรือไม่
ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ตัวโรคเกิดที่เส้นประสาท ไม่ใช่เนื้อสมองหรือหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้โรคหลอดเลือดสมอง มักจะมีอาการอื่นร่วม เช่น แขนขาอ่อนแรงหรือชา พูดไม่ชัด ปวดศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ และมักจะยักคิ้วและหลับตาได้ปกติ
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Bell’s palsy ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- มีโรคประจำตัว : โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง
- การติดเชื้อในทางเดินหายใจหรือเป็นหวัดนำมาก่อน
อาการของโรค Bell’s palsy
ผู้ป่วยจะยักคิ้วไม่ขึ้น หลับตาไม่สนิท ยิ้มแล้วมุมปากตก อมน้ำแล้วมีน้ำไหลออกจากปาก ภายใน 3 วัน การอ่อนแรงจะมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละราย อาจมีอาการปวดหลังหู เคืองตา หรือ มีความผิดปกติของการรับรสของลิ้นส่วนหน้าซีกที่เป็น
การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยที่มาด้วยอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เช่น การติดเชื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า อุบัติเหตุ เนื้องอก โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคประจำตัวบางอย่าง
ถ้ามีอาการน่าสงสัย อาจจะมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตรวจเลือด การตรวจกราฟไฟฟ้าของเส้นประสาท การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจเอกซเรย์สมอง เป็นต้น ทั้งนี้หากมีอาการหน้าเบี้ยวควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาตามสาเหตุได้อย่างทันท่วงที
แนวทางการรักษาโรค Bell’s palsy ได้แก่
- ยาสเตียรอยด์ ซึ่งควรเริ่มยาภายใน 3 วันนับจากมีอาการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายเป็นปกติ และเพิ่มความเร็วในการหาย
- อาจมีการให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย
- ยาขี้ผึ้งป้ายตา ยาหยอดตา หรือน้ำตาเทียม และการใช้อุปกรณ์ปิดตาข้างที่เป็นขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันเยื่อบุตาอักเสบ
อาจารย์แพทย์หญิงฐาณิญา โต๊ะประดู่
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี