สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีประชากร 80 กว่าล้านคน และในจำนวนนี้ร้อยละสามสิบกว่า หรือ 1 ใน 3 เป็นสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ (Civil SocietyOrganization หรือ Non-Governmental Organization (CSO / NGO) และมิใช่องค์กรภาคธุรกิจเอกชน (Private Enterprise /Sector) เพราะมิได้ทำกิจเพื่อการมีกำไร(Non-Profit) แต่เป็นองค์กรอาสาสมัครหรือผู้เข้าร่วมต่างมีจิตอาสาทำการต่างๆ แทนองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน หรือทำเองโดยไม่พึ่งพาและไม่คิดพึ่งพาภาครัฐ เป็นการใช้หลักตนพึ่งตนเอง และรับผิดชอบกันเอง(Self-help / reliance / responsibility)
ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเอง มีองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 500,000 องค์กร โดยมีการนิยามความหมายขององค์กรภาคประชาสังคมไว้อย่างกว้างๆ เช่น ทั้งด้านศาสนา สังคมสงเคราะห์ กู้ภัยพิบัติ งานกีฬา อนุรักษ์สัตว์ ประเพณีท้องถิ่น รักษาสิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค ชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงการขับเคลื่อนเพื่อแนวคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมือง แต่มิใช่เพื่อการมีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง หรืออำนาจทางการเมือง แต่อาจจะเป็นแนวร่วมเพื่อขับเคลื่อนเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะได้ เช่น การต่อต้านการค้ามนุษย์ สัตว์และพืชหวงห้าม เป็นต้น
องค์กรภาคประชาสังคมของเยอรมนี จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคมในระดับฐานราก หรือรากหญ้า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมรวมตัวเพื่อกิจการเฉพาะ และเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม มิได้เป็นการแสวงหาประโยชน์ใดๆ เข้าตน
การที่ทางองค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างกว้างขวาง จัดได้ว่าเป็นการลดภาระภาครัฐ และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อชุมชนและต่อสังคมในภาพกว้าง จากตัวอย่างในประเทศเยอรมนีจึงกล่าวได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมหนึ่งใด และเป็นส่วนสำคัญยิ่งอันหนึ่งของการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมและการใช้อำนาจของความเป็นพลเมืองในฐานะเจ้าของประเทศ ซึ่งสอดรับกับหลักประชาธิปไตยของสิทธิและหน้าที่ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และเป็นการพิสูจน์ได้ว่ากิจสำคัญต่างๆ นั้น ประชาชนพลเมืองรวมตัวกันแล้ว ก็พึ่งตนเองได้อย่างสง่างาม และเมื่อประสบความสำเร็จ ภาครัฐก็จะพึงนิ่งเฉยมิได้ จักต้องรองรับและรับรอง ให้เกียรติ ให้การร่วมมือและสนับสนุนเพื่อให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคมยิ่งขึ้น
แต่ไม่ว่าการใดๆ เพื่อบ้านเมืองจักได้เจริญก้าวหน้าและมีสันติสุขนั้น เช่น ในกรณีภาคประชาสังคมนั้น ก็ต้องมีกรอบกฎหมายกำกับดูแลเป็นธรรมดา
ในกรณีของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น ก็มีกฎหมายว่าด้วย องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้กว้างๆ ที่สำคัญคือ จะไม่มีการกำหนดให้ภาครัฐส่งผู้แทนเข้าไปนั่งทั้งในคณะกรรมการบริหาร หรือมีตำแหน่งหน้าที่อื่นใดๆ ทั้งสิ้น โดยองค์กรภาคประชาสังคมจักต้อง
-มีการเลือกตั้งผู้บริหารเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการยึดครองและเปิดโอกาสการหมุนเวียน
-มีการจัดทำรายงานประจำปี
-มีระบบการเงินการบัญชีที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ซึ่งการใช้จ่ายก็ต้องสอดคล้องกับแผนภารกิจเป็นสำคัญ เป็นต้น
มิใช่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเท่านั้นที่องค์กรภาคประชาสังคมเป็นเสาหลักสำคัญหนึ่งของประเทศแล้ว แต่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายก็มักจะเป็นเช่นนั้นซึ่งไทยเราก็มีองค์กรภาคประชาสังคมเป็นหมื่นๆ เพียงแต่ก็ยังขาดกฎหมายและความชำนิชำนาญการในการบริหารจัดการและทำหน้าที่เพื่อสังคมอย่างจริงจัง หรือมีความเป็นมืออาชีพ
ที่สำคัญ ก็คือภาคประชาสังคมนั้นยังยึดติดกับความคิดความเชื่อที่ว่า ยังจะต้องพึ่งภาครัฐเพื่อจัดตั้งและปฏิบัติการ ซึ่งตรงกันข้ามกันกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ที่มีผู้ริเริ่ม และผู้อาสาลงเงินลงแรง ด้วยตนเองเป็นสำคัญ และมุ่งมั่นเดินหน้าปฏิบัติการจนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนพลเมืองตามมาอย่างกว้างขวาง ซึ่งในที่สุดภาครัฐจะอยู่นิ่งเฉยก็ลำบาก ก็จะเข้ามาให้ความร่วมมือสนับสนุนตามสมควร
ดังนั้นการที่องค์กรภาคประชาชน จะเติบโตไปเป็นเสาหลักในสังคมประชาธิปไตยได้ ก็ต้องเริ่มกันจากที่ผู้ปฏิบัติต้องสลัดความคิดที่จะพึ่งพาภาครัฐ แล้วมุ่งมั่นแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนด้วยกันเอง ผ่านทางการปฏิบัติอย่างมุ่งมั่น และการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพแนวร่วม และผู้สนับสนุนต่างๆ ก็จะตามมาเอง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี