ในปี พ.ศ. 2568 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินโดนีเซียก็ครบรอบ 75 ปีแล้ว จัดได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ของสองประเทศในบริบทของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย แต่คนไทย (ชาวสยาม) และคนอินโดนีเซีย (ชาวชวา) ต่างรู้จัก และข้องแวะกันมาร่วม 1,000 ปีแล้วก็ว่าได้ โดยทั้งสองชาติพันธุ์ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมศรีวิชัย ที่ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณี กล่าวได้ว่าชนทั้งสองมาจากรากเหง้าเดียวกัน หรือมีลักษณะ หรืออัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากดังจะเห็นได้จากโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาชวา สถาปัตยกรรมและกฎเกณฑ์กติกาและระเบียบว่าด้วยชีวิตในวัง เครื่องดนตรี และการจัดแสดง เช่น โขนรามเกียรติ์ เป็นต้น
ขณะที่ฝ่ายไทยเองมีสมัยยุคสุโขทัย และอยุธยา ที่เกาะชวาก็มีอาณาจักรมัชปาหิต เดมัก ซิเรบอน บันเติน มะตะรัม ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความสัมพันธ์ทั้งทางด้านการทูต และการทำมาค้าขายกันมาโดยตลอด ก่อนจะขาดตอนไปเป็นเวลากว่า 300 ปี เมื่อฝ่ายเนเธอร์แลนด์ (ดัทช์) ได้เข้ามาครอบครองเกาะชวา และเกาะอื่นๆ ซึ่งระหว่างนั้น ไทยก็ต้องติดต่อผ่านฝ่ายเนเธอร์แลนด์แทน จนกระทั่งเมื่อหมู่เกาะทั้งหมด (นำโดยเกาะชวา) ได้รับเอกราชภายใต้ชื่ออินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ไทยก็เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ให้การรับรอง และเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินโดนีเซีย ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) โดยในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกาที่เพิ่งพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมมาเป็นประเทศเอกราชที่นครบันดุง ไปทางเหนือของกรุงจาการ์ตา ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร โดยจุดประสงค์ของการประชุมก็เพื่อแสดงความยินดีต่อกันและกัน ในการที่ได้รับกลับมาซึ่งความเป็นอิสรเสรี และเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาประเทศและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะรอดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคม แต่ระหว่างนั้นไทยก็ถูกกลั่นแกล้งจากบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมยุโรปในทุกๆ ด้าน จึงไม่แปลกที่จะมีใจ และมีความรู้สึกร่วมให้กับประเทศเกิดใหม่ต่างๆ เหล่านั้น
จากการประชุมที่เมืองบันดุง ก็ได้นำไปสู่การจัดตั้งกระบวนการกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-align movement) ซึ่งยังมีชีวิตชีวาอยู่จนกระทั่งบัดนี้ แต่ทว่าที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ได้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร และรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ตัดสินใจไปร่วมกับฝ่ายโลกเสรีต่อต้านการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วย การป้องกันความมั่นคงร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.หรือว่า SEATO) โดยสำนักงาน สปอ. ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่บัดนี้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถนนศรีอยุธยา ซึ่งเท่ากับว่าไทยและอินโดนีเซียต่างเดินทางไปกันคนละทิศละทางในเวทีการเมืองโลก
แต่ทว่าภยันตรายจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ได้เริ่มแพร่ขยายเข้ามายังทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย อีกทั้งบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่งได้รับเอกราชกันใหม่ๆ ต่างก็เกิดระหองระแหงกันในเรื่องเขตแดนทั้งทางบกและทะเล และความคิดอ่านเกี่ยวกับความมั่นคงและการคุกคามต่อกันและกัน
เพื่อลดความตึงเครียดกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการต่อกรกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ฝ่ายไทย และอินโดนีเซียได้ร่วมกันเป็นหัวแรงสำคัญในการลด บรรเทาความตึงเครียดและการเผชิญหน้า อีกทั้งก็ได้เชิญชวนให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่การจัดตั้งสมาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) ความสัมพันธ์ทวิภาคีและการร่วมกันในกรอบสมาคมอาเซียนก็เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและมุ่งมั่น
จัดได้ว่า 75 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ต่างได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันมาโดยตลอด เช่นในเรื่องประเด็นปัญหาของเขตอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย เรื่องการแยกตัวออกไปของติมอร์ตะวันออก และการจัดกองกำลังรักษาสันติภาพ ในขณะที่ฝ่ายอินโดนีเซียก็พร้อมที่จะมีบทบาทในเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ของไทย และได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอันสำคัญในการทะนุถนอมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ในเรื่องปราสาทพระวิหาร เป็นต้น
มาบัดนี้ทั้งสองประเทศก็ยังจะต้องพัฒนาประเทศของตนอีกต่อไปอย่างไม่ลดละ ในขณะที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ จากภายนอก รวมทั้ง
ประเด็นปัญหาจากสภาพแวดล้อมภายนอกและโรคระบาดต่างๆ ในรูปการณ์นี้ การคิดอ่านที่จะพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้วและโดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก ดูจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะประเทศเหล่านี้เป็นตัวปัญหาเสียเอง และฉะนั้นประเทศขนาดกลางและประเทศเล็กๆ ก็ต้องคิดอ่านที่จะพึ่งตัวเองเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกันก็จะต้องร่วมด้วยช่วยกันประคับประคองซึ่งกันและกันให้ได้มากที่สุด
ไทย และอินโดนีเซียนั้นอยู่ในวิสัยที่จะพึ่งพาและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกันได้อย่างมากมายเป็นทวีคูณ และในขณะเดียวกันก็อยู่ในวิสัยที่จะจับมือกันในการนำพาประชาคมอาเซียนและเสริมสร้างอาเซียนให้มีบทบาทในเรื่องการเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างมากด้วย ซึ่งจะกระทำได้นั้นผู้นำของทั้งสองประเทศจะต้องมีทัศนคติที่เล็งเห็นผลประโยชน์ของความร่วมมือกัน และจะต้องมีความรู้จักมักคุ้นและเป็นกันเองกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้พูดจากันอย่างเปิดอกเปิดใจและด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ในวันนี้ ไทย และอินโดนีเซียมิสามารถที่จะไปกันคนละทิศละทางได้เพราะความร่วมมือกันที่มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วนั้น มีศักยภาพมากมาย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี