การเสด็จเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพระบรมราชินี ของราชอาณาจักรไทยเรา ในฐานะราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 5) ของราชอาณาจักรภูฏาน ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายนศกนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความปิติยินดีอย่างยิ่งของพสกนิกรของทั้งสองราชอาณาจักร เพิ่มพูนความใกล้ชิดสนิทสนม และกระชับความสัมพันธ์ให้เพิ่มขึ้นไปอย่างทวีคูณ
ไทย และภูฏานนั้นมีความคล้ายคลึงกัน คือความเป็นราชอาณาจักร มีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน เป็นดินแดนที่พุทธศาสนาฝังรากลึกอยู่ในสายเลือด และความนึกคิดอย่างแน่วแน่แนบแน่น ราชอาณาจักรทั้งสองมุ่งสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างมุ่งมั่น เพียรพยายามที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นาๆ อย่างไม่ลดละ โดยพระมหากษัตริย์ของทั้งสองประเทศคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดี ที่ 4) ทั้งสองพระองค์ได้ทรงนำของขวัญมาให้แก่ชาวโลก เพื่อทำนุบำรุงจิตใจ และเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสมพอเพียง อันได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักคิดว่าด้วยการวัดการพัฒนาชีวิต ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่ที่ตัวเลขสถิติต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ หากแต่อยู่ที่การสำรวจชี้วัด ความปิติ ความสงบสุขภายในจิตใจ หรือนัยหนึ่งการชี้วัดว่า ผู้คนมีความสุขทางใจมากน้อยเพียงใด มากกว่าที่จะเอาสถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดความสุข
องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงตระหนักถึงซึ่งความท้าทายต่างๆ นาๆ ต่อการดำรงชีวิต และการทำมาหากิน ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรงแนะแนวทางที่จะรับมือกับความท้าทายต่างๆ ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เริ่มต้นด้วยการพินิจพิจารณาตัวเองและวางแผนชีวิต หรือการทำงานทำการให้เหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ ที่มีอยู่ และมีการบริหารจัดการอย่างมีขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อความเจริญก้าวหน้าแบบยั่งยืน
ราชอาณาจักรไทย และภูฏาน จึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยกันนำเอาหลักคิด และแนวทางดังกล่าวของสองพระองค์ท่าน ไปสู่สังคมโลกได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะเป็นเสมือนคู่มือชีวิตที่สำคัญยิ่ง ที่ไร้พรมแดน ไม่หวงแหน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ นอกจากนั้นราชอาณาจักรไทยและภูฏานยังสามารถร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในเรื่องคำสั่งสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องสติ และสมาธิ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทั้งสองราชอาณาจักรจะทำประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติได้
ไทย และภูฏานมีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยมีการพัฒนากว่าภูฏานอยู่อย่างมาก อีกทั้งภูฏานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์มิได้เอื้ออำนวยเท่ากับของไทย ฉะนั้น ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือภูฏานในการพัฒนาประเทศได้อย่างมาก และยังสามารถที่จะขยายอีกต่อไปได้ ที่ผ่านมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือภูฏานในเรื่องการเลี้ยงดูและการศึกษาของเยาวชนภูฏาน การฝึกอบรมการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข การเพาะปลูกผลไม้ และดอกไม้ ไปจนถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรของภูฏาน เพื่อมาทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยของไทย
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้เปิดเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังภูฏาน เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของภูฏานอย่างกว้างขวาง ในแง่การทำมาค้าขายประเทศไทยก็อยู่ในฐานะที่จะเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ของภูฏานเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการพิเศษ คือไม่เรียกเก็บภาษีศุลกากรแต่อย่างใด อีกทั้งฝ่ายไทยโดยภาคเอกชนจึงอยู่ในฐานะที่จะเข้าไปลงทุนในภูฏาน เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กิจการการรักษาพยาบาล อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมแปรรูป พืชผักผลไม้ และไม้ประดับ เป็นต้น
การเสด็จเยือนราชอาณาจักรภูฏานขององค์ประมุขของไทยดังกล่าว จึงเป็นการกระชับความร่วมมือและเกื้อกูลซึ่งกันและกันให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ และผู้บริหารวิชาการ จะได้ดำเนินการรับมือรับช่วงกันต่อไปอย่างเข้มแข็ง
มิตรภาพที่อบอุ่นที่ยั่งยืนของทั้งสองราชอาณาจักร เป็นเรื่องที่ทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมมือกัน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี