เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2568 ผมได้รับเชิญจากองค์กรประชาคมเพื่อนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซีย (Foreign Policy Community of Indonesia) ซึ่งเป็นองค์กรที่มิใช่รัฐ (NGOs) ให้ไปบรรยายเรื่องประชาธิปไตย
ในการบรรยาย ผมมิได้มุ่งเน้นสาระเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยมากนัก เพราะคิดว่าผู้มาเข้าร่วมรับฟังทั้งในห้องประชุมและผ่านทางระบบออนไลน์จากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างก็คงมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยกันพอสมควรอยู่แล้ว โดยผมได้เน้นเรื่องประสบการณ์ชีวิตในสังคมประชาธิปไตย และในสังคมที่มิได้มีความเป็นประชาธิปไตย
ผมเริ่มเล่าให้ผู้ร่วมฟังว่า ผมได้เคยไปเยือนสหภาพโซเวียต 4-5 ครั้งในงานราชการ และเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในสหภาพโซเวียตเป็นเวลา 1 ปี สหภาพโซเวียตเป็นสังคมเผด็จการคอมมิวนิสต์ ผมก็ได้เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่อินโดนีเซียเป็นเวลาถึง 3 ปี ภายใต้รัฐบาลในระบอบเผด็จการทหารนำโดย นายพลซูฮาร์โต นอกจากนั้นผมได้เคยไปเยือนประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน เวียดนาม และคิวบา ทั้งเพื่อหน้าที่การงานและการท่องเที่ยว อีกทั้งผมก็ได้เคยไปเยือนประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในกรอบศาสนาอิสลาม ทั้งที่ประเทศบรูไน และที่ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ
ในขณะเดียวกัน ผมก็ได้เคยใช้ชีวิตเป็นเวลาหลายปีทั้งในฐานะนักศึกษา และในฐานะข้าราชการนักการทูตในประเทศประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นราชอาณาจักร เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น และที่เป็นสาธารณรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้เห็น ได้สัมผัส กับความเป็นไปและความแตกต่างระหว่างสังคมเผด็จการกับสังคมประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
ภายใต้สังคมเผด็จการต่างๆ ทั้งหลาย ผมเห็นหน้าผู้คนที่เต็มไปด้วยความสลด หงอยเหงา ดวงตาที่ดูเศร้าหมอง ไร้ความหวังและท้อแท้ สภาพสังคมโดยทั่วไปเต็มไปด้วยความอึดอัดแฝงไว้ด้วยความหวาดกลัวภายใต้เงามืดของความกดขี่ การเฝ้ามองสอดส่องติดตามพฤติกรรมกันอยู่ตลอดเวลา และในบริบทของสังคมเผด็จการนี้ ก็เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีอำนาจอยู่ในมือเพียงไม่กี่คนกับมวลชนส่วนใหญ่
ขณะเดียวกัน ประเทศประชาธิปไตยก็จะมีบรรยากาศของความเป็นอิสรเสรี ผู้คนโดยทั่วไปดูเบิกบาน ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย ประชาชนพลเมืองสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความต้องการได้ และยังฟ้องร้องได้ เพื่อให้ธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคและความยุติธรรม และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
ผมก็กล่าวต่อที่ประชุมว่า ถ้าจะให้เลือกระหว่างเผด็จการ กับประชาธิปไตย ผมเลือกและยึดมั่นในเรื่องประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ด้วยความแข็งขัน และด้วยความมั่นอกมั่นใจ เพราะในสังคมประชาธิปไตยผมมีความรู้สึกว่า ผมหายใจได้อย่างปลอดโปร่ง และผมมีความเป็นอิสรเสรี มีสิทธิและเสรีภาพ ผมไม่ต้องการอยู่ในสังคมเผด็จการ ที่ความกลัว และการกดขี่ กลายเป็นสภาพชีวิต
นอกจากนั้น ผมได้กล่าวด้วยว่า มีกลุ่มผู้คนในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยกลุ่มหนึ่งที่เหนื่อยหน่ายกับข้อบกพร่อง หรือความไม่สมประกอบของระบอบประชาธิปไตย จึงได้แสดงความประสงค์และออกมาเรียกร้องให้นำเอาระบอบเผด็จการทหารมาใช้ เพื่อบ้านเมืองจะได้มีเสถียรภาพ และมีการตัดสินใจที่รวดเร็ว ทันใจ โดยไม่คำนึงว่า เสถียรภาพนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการมีสติร่วมแรงร่วมใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันและกัน แต่เป็นเสถียรภาพที่เกิดขึ้นจากการกดขี่ ควบคุม ลิดรอน และเป็นการอำนวยให้ผู้คนน้อยนิดกลุ่มหนึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชนแต่ผู้เดียว
ประชาธิปไตยมิใช่ระบอบของการรวบอำนาจ สั่งการ ขู่บังคับ และการกระทำการตามอำเภอใจ ประชาธิปไตยเป็นวิธีการของการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่จะต้องมีการปรึกษาหารือ ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมตัดสินใจด้วยกัน โดยมีกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกา ที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมีการใช้อย่างทัดเทียม การที่จะให้ได้มาซึ่งสังคมประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความเพียร เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาและข้อบกพร่อง ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็ต้องร่วมกันเสริมสร้างให้ประชาธิปไตยมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนพลเมืองที่จะต้องร่วมมือกัน และฉะนั้นสังคมก็จะต้องมีเวทีเพื่อการปรึกษาหารือกัน
ท้ายสุด ผมได้เล่าประสบการณ์ชีวิตในการเป็นพลเมืองไทยที่สังคมประชาธิปไตยยังอยู่ในระหว่างการเสริมสร้าง มีความคืบหน้า และมีความถดถอย มีกลุ่มผู้คนที่ยังเหนี่ยวรั้งประชาธิปไตยเพราะเกรงว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ที่มีอยู่ และมีความเกรงกลัวว่าจะมิได้เป็นผู้นำพา หรือผู้ทรงอิทธิพลอีกต่อไป หรือไม่ก็ยังมีความคิดอ่านว่า ประชาชนพลเมืองตาดำๆ ตาสีตาสา ยังไม่มีความสามารถที่จะมีความนึกคิดและการดูแลตนเอง ก็เป็นเรื่องที่พวกตนเท่านั้นที่จะครอบงำอำนาจและนำพาประเทศ
แต่ราชอาณาจักรไทยจากปี พ.ศ. 2475 ได้ก้าวมาไกลในระดับหนึ่งแล้ว มิควรที่จะต้องถอยกลับสู่ระบอบเผด็จการหรือคงไว้ซึ่งเชื้อของเผด็จการอีกต่อไป แต่จะต้องร่วมกันมุ่งหน้าด้วยความเพียร และความเชื่อถือว่าประชาธิปไตยอันมีความเป็นอิสรเสรีนั้นเหมาะสม เป็นสิ่งที่คู่ควรเป็นอย่างยิ่งของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
ผมไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ว่า ผู้รับฟังแต่ละท่านคิดอ่านอย่างไร? แต่ก็พอสังเกตว่าเขาต่างรับฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ ผ่านทางคำถามต่างๆ ทั้งจากในห้องประชุม และทางออนไลน์ ซึ่งต่างก็เป็นคำถามที่ท้าทาย เต็มไปด้วยสาระเนื้อหาผมจึงมีความหวังกับประชาธิปไตย และจะขอรับใช้ต่อไปอย่างมุ่งมั่น
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี