โศกนาฏกรรมอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถนนกำแพงเพชร พังถล่มลงมาแบบไม่เหลือชิ้นดีเมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 โศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นเครื่องประจานความเหลวแหลกเละเทะในวงการราชการไทยอย่างชัดเจน มันคือสิ่งบ่งชี้ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นยังแพร่กระจายอยู่ภายในหมู่ข้าราชการไทยจำนวนไม่น้อย แล้วยังโยงใยไปถึงรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง (แต่เต็มไปด้วยการซื้อขายเสียง) หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร (แล้วก็ได้แต่ขอเวลาตั้งนานเน แต่ไม่ได้สามารถแก้ปัญหาแผ่นดินได้)
หลังจากอาคารพังถล่มลงมา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี ผู้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ป่าวประกาศสร้างภาพลวงสังคมว่าต้องทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏภายใน 7 วัน แต่แล้วก็เลื่อนเวลาออกไปเป็น 90 วัน ครั้นบัดนี้วันเวลาผ่านเลยไปแล้วกว่า 50 วัน ก็ไม่ปรากฏว่ามีปัญญาจับผู้กระทำผิดคดีนี้ได้แม้แต่รายเดียว
แต่ล่าสุด มีข่าวว่าตำรวจออกหมายจับเอกชนและนิติบุคคล 17 ราย ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การก่อสร้างจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้อื่น จนเป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนรวมกันกว่าร้อยคน
มีข้อน่าสงสัยว่า ทำไมรายชื่อทั้ง 17 คน ที่ถูกออกหมายจับ คือ สุชาติ ชุติปภากร, พิมล เจริญยิ่ง, ธีระ วรรธนะทรัพย์, สุพล อัครอารีสุข,ชัยณรงค์ เสียงไพรพันธ์, อภิชาติ รักษา,
ปฏิวัติ ศิริไทย, กฤตภัฏ ปล่องกระโทก, พลเดช เทิดพิทักษ์วานิช, ปราณีต แสงอลังการ, สมชาย ทรัพย์เย็น, เปรมชัย กรรณสูต, นิจพร จรณะจิตต์,ชวนหลิง จาง, เกรียงศักดิ์ กอวัฒนา, อนุวัฒ คันษร และ ธิปัตย์ รัตนวงษา
คำถามคือ เหตุใดไม่มีชื่อของบุคคลใน สตง. ซึ่งเป็นผู้ที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าต้องมีส่วนร่วมกระทำผิดในคดีนี้ด้วย อย่าลืมว่าผู้เป็นเจ้าของสัญญาก่อสร้างที่ลงนามจ้างผู้ก่อสร้างอาคาร
คือผู้บริหารของ สตง. เมื่ออาคารแห่งนี้ พังพินาศไม่เหลือชิ้นดี แล้วเหตุใดผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้างอาคารแห่งนี้จึงไม่มีความผิด ถามว่า หากผู้จ้างไม่ว่าจ้างผู้ก่อสร้าง แล้วจะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมได้หรือ และถามต่อไปว่าหากผู้ว่าจ้างใช้ความละเอียดรอบคอบติดตามการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์การก่อสร้างที่ได้มาตรฐานสากลแล้ว ก็ต้องไม่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น
แน่นอนว่า ผู้บริหาร สตง. ต้องอ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้าง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือแต่ผู้บริหาร สตง. คือผู้ว่าจ้างให้มีการก่อสร้าง และเป็นผู้เลือกบริษัทเข้าไปทำงานก่อสร้าง แล้วที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ผู้บริหาร สตง. ต้องตรวจรับงานก่อสร้างแต่ละขั้นตอน หลังจากผู้ก่อสร้างส่งมอบงานให้ เพราะฉะนั้น ผู้บริหาร สตง. ไม่มีทางหลบหนีความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นได้
หลายคนอาจบอกว่า ผู้ว่าการ สตง. คนใหม่ล่าสุดเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ ไม่ได้เป็นผู้ลงนามจ้างผู้ก่อสร้างด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น ไม่น่าจะผิดในคดีนี้ ก็ต้องตอบว่า ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ สตง. ผู้ว่าการ สตง. ไม่มีทางปฏิเสธความรับผิดชอบได้ แม้จะอ้างว่าเพิ่งเข้าไปรับตำแหน่ง แต่ก็จำเป็นต้องสืบเสาะค้นหาให้ได้ว่าคน สตง. หน้าไหน หรือผู้บริหารระดับสูงสุดของ สตง. หน้าไหนที่กระทำเหตุทุจริต เพราะการรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ สตง. คือการต้องรับผิดชอบ สตง. ในทุกกรณี จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง
ขอย้ำว่าโศกนาฏกรรมอาคาร สตง. พังพินาศต้องมีผู้รับผิดชอบ และผู้รับผิดชอบที่ว่านั้นต้องไม่ตัดผู้บริหาร สตง. ออกไป เพราะ สตง. คือผู้ว่าจ้างให้มีการก่อสร้าง ส่วนผู้ก่อสร้างนั้นไม่สามารถหนีความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ แต่ก็มิใช่ว่าความผิดทั้งหมดจะตกอยู่กับเอกชน ผู้รับงานก่อสร้าง หรือผู้ควบคุมการก่อสร้าง แต่ย้ำว่า สตง. ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเหตุทั้งหมดเริ่มต้นมาจาก สตง.
เฉลิมชัย ยอดมาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี