ISIL กลุ่มผู้ก่อการร้าย ที่ได้สถาปนา เคาะลีฟะห์ (Caliphate) การปกครองแบบรัฐอิสลามโบราณขึ้นบนพื้นที่ยึดครองได้ในประเทศอิรัก-ซีเรีย กำลังถึงการล่มสลาย ใกล้อวสาน และได้มีการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อการร้าย แพร่อิทธิพลมาสร้างรัฐเคาะลีฟะห์แห่งใหม่ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หน่วยงานความมั่นคงของกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างแสดงความกังวลและวางมาตรการป้องกัน ป้องปราม ยับยั้งตั้งแต่วันที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิมผู้สวามิภักดิ์ต่อ ISIL บุกเข้ายึดเมืองมาราวี ของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนผ่านไป ยังไม่สามารถขับไล่ผู้ก่อการร้ายออกจากเมืองได้
เป็นที่ประหลาดใจและเคลือบแคลงสงสัยว่าทำไมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ยิ่งถูกปราบปรามก็ยิ่งแข็งแกร่งยิ่งเติบใหญ่ รัฐบาลฟิลิปปินส์แถลงในเบื้องแรกว่า ผู้ก่อการร้าย100 กว่าคน ขัดขวางการจับกุมนายฮิสนิลอน ปานิลอนหัวหน้ากลุ่มขบถมุสลิม ผู้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มไอเอสได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ กลุ่มคนร้ายที่ว่าฉวยโอกาสจับพลเรือนเป็นตัวประกัน ก่อจลาจลเผาเมือง ปล่อยนักโทษออกจากคุก จนเหตุการณ์วุ่นวายทั่วทั้งเมืองที่มีประชากรกว่า 200,000 คน
ประธานาธิบดีโรดรีโก ดูเตอร์เต ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนรัสเซีย ต้องประกาศกฎอัยการศึกกลางอากาศ ส่งทหารเข้าจัดการผู้ก่อการร้ายอย่างเฉียบขาด แต่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า ทำไมผู้ก่อการร้าย ยิ่งปราบยิ่งเติบใหญ่จาก 100 กว่าคน เป็นกว่า 700 คน และมีนักรบต่างชาติ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย เยเมน สิงคโปร์ อินโดนีเซียมาเลเซีย เข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบแล้วกว่า 500 ราย ในจำนวนคนตายเป็นผู้ก่อการร้าย380 ราย รัฐบาลฟิลิปปินส์แถลงว่า ผลจากการสู้รบทำให้มีผู้พลัดถิ่นแล้วกว่า 400,000 ราย
ทั้งตัวเลขผู้พลัดถิ่นและผู้ก่อการร้าย ทำไมถึงโป่งพองขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ คล้ายๆ กับสงครามกลางเมืองในอิรัก-ซีเรีย ก่อนหน้ากลุ่ม ISIL สถาปนาการปกครองแบบ “เคาะลีฟะห์” สงครามกลางเมืองในอิรัก-ซีเรีย ซึ่งพัฒนามาจากการส่งออกประชาธิปไตยแบบอเมริกาและตะวันตก ที่ใช้วิธีแทรกแซงแบบใหม่ เรียกว่า “อาหรับสปริง” ปลุกระดมให้ชุมนุมประท้วงรุนแรงขับไล่รัฐบาลใน ตูนีเซีย ลีเบีย อียิปต์ อิรัก ซีเรีย ฯลฯ เมื่อปี 2553
หลังชุมนุมประท้วงบางประเทศ ได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย บางประเทศเกิดเหตุการณ์รุนแรงวุ่นวาย ดังในอิรัก-ซีเรีย ที่มีมหาอำนาจจากหลายชาติเข้ามาแทรกแซงหมายแย่งชิงผลประโยชน์จากแก๊สและน้ำมันที่มีมากมายมหาศาล เมื่อขับไล่รัฐบาลด้วยการชุมนุมประท้วงไม่ได้ ตะวันตกจึงจัดตั้งกลุ่มขบถ กลุ่มผู้ก่อการร้ายขึ้นมาโค่นล้มรัฐบาลที่ขัดขวางผลประโยชน์ตะวันตกในประเทศซีเรีย เบื้องต้นกลุ่มขบถได้จัดตั้งขึ้นมาชื่อว่า กองทัพกู้ชาติซีเรีย (Free Syria Army =เอฟเอสเอ)
เอฟเอสเอ ที่มีท่อน้ำเลี้ยงดี ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ ทรัพย์สินเงินทองที่ตะวันตกและเศรษฐีน้ำมันในภูมิภาคประเคนให้ ทำให้นักรบหิวเงินน้ำลายไหล กลุ่มก่อการร้ายน้อยใหญ่หลั่งไหลเข้ามาร่วมรบกับกองทัพกู้ชาติซีเรียด้วยการสนับสนุนทางอาวุธ ทางการเงินและโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นจากตะวันตก ในระยะหนึ่งปี เอฟเอสเอแข็งแกร่งเติบใหญ่ทันใจตะวันตก
สามปีผ่านไปกลุ่มขบถ กลุ่มก่อการร้ายที่ตะวันตกสร้างขึ้นแข็งแกร่งเติบใหญ่แบบก้าวกระโดด สามารถยึดครองดินแดนในอิรัก ซีเรีย กว่า 60% ของพื้นที่ในประเทศยึดครองบ่อน้ำมัน โรงกลั่นสำคัญๆ ได้เกือบทั้งหมด เมื่อถึงจุดแข็งแกร่งเติบใหญ่ มีทรัพย์สินมากมาย อุดมการณ์ก็เปลี่ยนไปจากเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาล เป็นการจัดตั้งประเทศใหม่ในนามรัฐเคาะลีฟะห์ หรือ Islamic State = IS
ในปี 2557 ด้วยความทะเยอทะยานอยากได้ใคร่ใหญ่นายอบู บาคาร์อัล บักดาดี ได้สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าผู้ครองรัฐเคาะลีฟะห์ ในเมืองโมซุล ว่ากันว่าตั้งแต่จัดตั้งการปกครองแบบเคาะลีฟะห์ ไอเอสได้ชื่อว่า เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่แข็งแกร่งและร่ำรายที่สุดในโลก นิตยสาร Forbes ของอเมริกาประเมินว่า ไอเอส มีรายได้จากการขายน้ำมัน เรียกค่าคุ้มครอง เรียกค่าไถ่ปีละกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 68,000 ล้านบาท)
ความแข็งแกร่งของกองกำลังติดอาวุธ ไอเอส ประมาณกันว่า มีตั้งแต่ 50,000 ถึง 100,000 คน แล้วแต่ความพอใจของผู้ของบประมาณรัฐบาลมาแสดงละครปราบปรามไอเอส CIA ประเมินว่าในปี 2560 ไอเอสเหลือนักรบ 20,000 ถึง 30,000 คน เสนาธิการทหารรัสเซียประมาณว่า ไอเอสมีนักรบราว 70,000 คน พลเอก Fuad Hussein เสนาธิการกองกำลังเคิร์ด บอกหนังสือพิมพ์ เดอะ อินดิเพนเดนส์ ว่าไอเอส มีนักรบถึง 100,000 นาย ในจำนวนนี้ 15,000 นายเป็นนักรบรับจ้างจากประเทศตะวันตก
และแล้ว การเล่นละครหลอกลวงชาวโลกก็ถูกกระชากหน้ากากออกมา เมื่อประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินแฉในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 71 ว่าความจริงคือ ไอเอส ไม่ใช่เคาะลีฟะห์มีอุดมการณ์ แต่เป็นผู้ก่อการร้ายอันธพาล ที่สหรัฐฯกับพันธมิตรสร้างขึ้นมาเพื่อปล้นฆ่า ชาวอิรัก-ซีเรีย
กระชากหน้ากากเสร็จนายปูติน บินกลับบ้าน ส่งทหารไปกวาดล้างผู้ก่อการร้าย ไม่ถึงขวบปีที่กองกำลังผสมรัสเซียซีเรีย อิหร่าน ถล่มผู้ก่อการร้ายจัดตั้งอย่างจริงจัง เคาะลีฟะห์ก็วอดวายจนมีผู้ทำนายว่า ไม่เกินปลายปีนี้ ไม่มีก่อการร้ายเหลือไว้ทำพันธุ์
IHS MARKIT สำนักงานวิเคราะห์ข่าวกรองความมั่นคงในกรุงลอนดอน เสนอรายงานชื่อว่า “อวสาน รัฐเคาะลีฟะห์ ใกล้เข้ามา” ว่า “เคาะลีฟะห์ ในซีเรีย-อิรัก ถึงจุดจบล่มสลายใกล้อวสาน...เคาะลีฟะห์ที่สถาปนาขึ้นบนพื้นที่ยึดครองได้ในซีเรีย-อิรัก เมื่อสามปีก่อน ใกล้ถึงจุดล่มสลายไม่น่าจะอยู่รอดได้ถึงปีที่ 4 บทอวสาน ไม่ใช่เพราะสูญเสียดินแดนเพียงอย่างเดียว แต่ที่ เคาะลีฟะห์ ล่มสลายเพราะ ไอเอส สูญเสียรายได้มหาศาลกลายเป็นองค์กรถังแตก
IHSMAKRIT รายงานว่า ไอเอสเคยยึดครองพื้นที่ในอิรัก-ซีเรีย ได้กว่า 90,800 ตารางกิโลเมตร สองปีกว่าผ่านไป ถึงวันนี้เหลือพื้นที่เพียง 36,200 ตารางกิโลเมตรการสูญเสียพื้นที่ยึดครองเกิดขึ้นพร้อมกับการลดฮวบของรายได้ ที่เคยมีเดือนละประมาณ 81 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 2,754 ล้านบาท) ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2558รายได้ของไอเอส ลดลงเหลือเพียง 16 ล้านดอลลาร์/เดือน(ประมาณ 544 ล้านบาท) ประกอบกับรัฐบาลอิรักยึดเมืองโมซุลและมัสยิดนูรีได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้เคาะลีฟะห์ไม่มีสัญลักษณ์ในอิรัก อีกต่อไป
ในซีเรีย นักรบเคิร์ด กับกองกำลังพันธมิตรอาหรับยึดพื้นที่ภาคตะวันออกได้ทั้งหมด เมืองรักกะ ที่มั่นสำคัญถูกทหารรัฐบาลปิดล้อมทุกด้าน ไอเอส แทบหมดทางหนีนักรบไอเอส เกือบไม่หลงเหลือในเขตเมือง เคลื่อนไหวอยู่ได้บ้างแค่ชนบทกันดาร จึงประเมินว่า ไอเอสกับรัฐเคาะลีฟะห์ จะต้องล่มสลายในปลายปีนี้”
นั้นคือการวิเคราะห์ การเติบโตและการล่มสลายของรัฐเคาะลีฟะห์ ในอิรัก-ซีเรีย เมื่อพูดถึงการคาดคะเนที่ว่า ไอเอส สถาปนา เคาะลีฟะห์แห่งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอาเซียน ควรพิจารณาว่ามีความเหมือน และต่างกันอย่างไร ความเหมือนคือผู้ก่อการร้ายไอเอส ก่อตัวขึ้นในเมืองมาราวี ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ในเวลาที่ตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ไม่พอใจประธานาธิบดีดูเตอร์เตที่ทำตัวเป็นศัตรูสหรัฐและหันไปคบค้าจีน รัสเซีย อดีตทูตสหรัฐประจำกรุงมะนิลา ถึงกับเขียนแผนพิฆาตดูเตอร์เต ไว้ใน Blueprint to ousted Duterte ว่า ต้องล้มดูเตอร์เต ให้ได้ภายในปีครึ่ง
ข้อต่างคือ เมืองมาราวี ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นถิ่นที่ค่อนข้างยากจนไม่มีบ่อน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันสร้างไว้รอท่า สมมุติว่า ไอเอส ยึดได้สถาปนารัฐเคาะลีฟะห์ขึ้นมา นอกจากอาวุธและเงินสนับสนุนบางส่วนที่อาจรับจากตะวันตกและเศรษฐีน้ำมันบางประเทศบริจาคให้ ที่เหลือไอเอสจะเอาอะไรกิน อะไรใช้ จะหารายได้จากไหนไปจ้างนักรบต่างชาติที่ว่ากันว่า เคยได้รับจากรัฐเคาะลีฟะห์ในซีเรีย เดือนละกว่า 2,000 ดอลลาร์
สหรัฐอเมริกา ประเทศอียู และพันธมิตรอาหรับเคยส่งอาวุธ ส่งเงินไปช่วยผู้ก่อการร้ายจนสถาปนาเคาะลีฟะห์ ขึ้นได้ใน อิรัก-ซีเรีย แต่โชคร้ายที่รัสเซีย ซีเรียอิหร่าน ก็ร่วมมือปราบปรามจนใกล้ล่มสลาย คิดดูว่าไอเอส จะสถาปนาเคาะลีฟะห์ ในอาเซียนได้ไหม ถ้าไม่มีประเทศเหล่านั้นเกี่ยวข้อง และไม่มีบ่อทอง บ่อน้ำมันเป็นแหล่งรายได้เหมือนในอิรัก-ซีเรีย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี