เป็นความจริงที่ทุกคนรู้ตรงกันคือ ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ถามต่อไปว่า เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว เวลาคุณป่วย คุณเลือกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลไหน ระหว่างรัฐกับเอกชน เพราะอะไร
คนที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนทุกคนต้องเตรียมใจและเตรียมเงินไว้แล้ว ถ้าหากไม่มีเงินที่คิดว่ามากพอก็จะไม่เข้าไปใช้บริการเป็นอันขาด แต่คำถามคือ แล้วต้องมีเงินจำนวนเท่าไรเล่า จึงจะถือว่าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแต่ละครั้ง
ถ้าหากคุณป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วจำเป็นต้องเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนย่านสีลม สาทร พหลโยธิน และสุขุมวิทซอยต้นๆ คุณต้องมีเงินสำรองไว้เท่าไรจึงจะพอ หนึ่งแสนบาทเพียงพอหรือไม่
ขอยืนยันว่ามีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในกรุงเทพคิดค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 คืน เป็นเงินมากถึง 1 แสนบาทเศษ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าคนไข้ก็เลือกห้องพักที่สุดหรูด้วย
นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน เขียนบทความเรื่องโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง : ปัญหาและทางออก โดยระบุในตอนหนึ่งว่า “...สาเหตุที่ไม่สมควรและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพง หรือแพงมหาโหดเกิดจากระบบบริการที่ฉ้อฉล และระบบการควบคุมตรวจสอบล้มเหลว เหตุดังกล่าวคือการให้บริการตรวจวินิจฉัยรักษา และรับไว้ในโรงพยาบาลที่เกินสมควร ไม่จำเป็น ในลักษณะเพิ่มรายได้และกำไร…”
เราอาจสงสัยว่าทำไมค่ารักษาพยาบาลจึงแพงมากเหลือเกินแต่เราก็ได้แค่เก็บความสงสัยเอาไว้ในใจแล้วเมื่อเราป่วยเราก็ต้องไปอีกแล้วก็ต้องสงสัยอีก หลายคนสงสัยว่าทำไมหมอบางคนจึงจ่ายยาให้มากมายหลายอย่าง จนสงสัยว่าจ่ายยาเกินความจำเป็นหรือไม่
หมอวิชัย เขียนไว้ว่า “แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลที่มุ่งทำรายได้และเพิ่มผลกำไรเป็นสรณะ แพทย์จะสั่งยาให้คนไข้ถุงโตเพื่อให้โรงพยาบาลมีรายได้มากขึ้น คนไข้ส่วนมากก็จะพอใจที่ได้ยามามาก จนอาจยอมรับได้ที่ต้องจ่ายในราคาแพง คนไข้โดยมากมักมีมายาคติว่าถ้ายาแพงแสดงว่าเป็นยาดี มายาคติดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลที่มุ่งรายได้และผลกำไรจะจ่ายยาราคาแพงให้แก่คนไข้ เพราะเมื่อคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้กำไรเป็นเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างเช่น ยาบรรเทาหวัด ลดน้ำมูกดั้งเดิม คือคลอร์เฟนิรามีน (Chorpheniramine) ต้นทุนเม็ดละ 10 สตางค์ ถ้าคิดกำไร 30% จะได้เพียง 3 สตางค์ ถ้าจ่าย 20 เม็ดก็จะได้กำไรเพียง 60 สตางค์ แต่ถ้าจ่ายยาแก้หวัด ชนิดไม่ง่วงราคาเม็ดละ 50 บาท คิดกำไร 30% จ่าย 20 เม็ด ก็จะกำไรถึง 300 บาท….โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยเติบโตและมีอิทธิพลจนกลายเป็นสัตว์ประหลาด (monster) อย่างก็อตซิลลาที่ควบคุมไม่ได้ไปแล้ว จะหวังให้กลายเป็นก็อตซิลลาภาคล่าสุดคือก็อตซิลลาที่มีจิตใจเมตตาต่อมนุษย์ก็คงยาก”
ปัญหาที่น่าสนใจคือ บรรดาคุณหมอทั้งหลายที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนเคยคิดบ้างไหมว่า เจ้าของโรงพยาบาลเอาเปรียบคนไข้ หรือตัวคุณหมอเองนั่นแหละที่เป็นตัวการเอาเปรียบคนไข้ ถามจริงๆ เถอะ เคยทบทวนจรรยาบรรณของแพทย์บ้างหรือไม่ หรือคิดได้เพียงว่า ถ้าคนไข้เข้าโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องมีสตางค์ ถ้าไม่มีสตางค์ก็ไปโรงพยาบาลของรัฐ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี