มีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่า สถานการณ์ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป หากรัฐบาลไทยไม่สามารถแก้โจทย์การถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36% หลังประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งจดหมายแจ้งคู่ค้ารอบแรก 14 ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย โดยจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 และจะไม่มีการเลื่อนเส้นตายภาษีอีกเด็ดขาด
มาดูตัวเลขอัตราภาษีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แจ้งเรียกเก็บ 14 ประเทศรอบแรก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน ตูนิเซีย 25% แอฟริกาใต้ บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา 30% อินโดนีเซีย 32% เซอร์เบีย บังกลาเทศ 35% ไทยและกัมพูชาเท่ากันคือ 36% ส่วนลาวกับเมียนมา โดนหนักสาหัส 40% เหมือนกัน
ที่เป็นประเด็นก็คือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไทยถูกตั้งกำแพงภาษีอยู่ที่ 36% เวียดนาม 46% ผ่านไปเกือบ 3 เดือน ผลสรุปสุดท้ายเวียดนามเจรจาปิดดีลเหลือ 20% แลกเปิดตลาดอย่างเสรีให้แก่สินค้าจากสหรัฐโดยไม่เสียภาษี ขณะที่ไทยโดนอัตราภาษีเท่าเดิมคือ 36% คำถามจึงดังระงมไปทุกภาคส่วนว่า รัฐบาลไทยเจรจากันยังไง และใครจะรับผิดชอบความล้มเหลวรอบนี้
สำหรับประเทศไทย เรายังมีเวลาเฮือกสุดท้ายไปอีกประมาณ 20 กว่าวัน เพื่อหาทางผ่อนหนักเป็นเบาให้ได้มากที่สุด โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความหวังว่า ทีมไทยแลนด์ยังเจรจาลดภาษีลงมาได้อีกทันก่อนเดดไลน์ภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ที่นายพิชัย และทีมไทยแลนด์ ค่อนข้างมั่นใจว่ายังมีความหวังอยู่นั้นเนื่องจากข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปให้สหรัฐ พิจารณาล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา เป็นข้อเสนอที่พร้อมเทหมดหน้าตักเพื่อหวังจะให้เข้าตาโดนัลด์ ทรัมป์ จนยอมประกาศลดภาษีไทยลงมาต่ำกว่า 36% โดยเล็งตัวเลขไว้ที่ 18-20% เท่าๆ กับเวียดนาม หรือ มาเลเซีย 25%
สำหรับข้อเสนอใหม่ที่ยื่นไปนั้น นายพิชัยยังปิดเป็นความลับ และไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เพียงอธิบายคร่าวๆ ว่า ที่ไทยจัดไปให้สหรัฐก็ไม่น้อย ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว โดยจะลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าสหรัฐกว่า 90% ของสินค้าที่นำเข้ามาที่ไทย และมีบางรายการที่ลดอัตราภาษีเป็น 0% แต่ก็มีอยู่ประมาณ 10% ที่ให้ไม่ได้ เพราะต้องดูแลผู้ประกอบการในประเทศ
ทั้งนี้ แม้ทีมไทยแลนด์ สำทับด้วยความมั่นใจว่า ข้อเสนอแบบเทหมดหน้าตักที่ยื่นไปใหม่นั้นจะเป็นไปในทิศทางบวก และไทยจะไม่โดนเรียกเก็บภาษีสหรัฐ 36% แน่นอนก็ตาม แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า ความหวังริบหรี่เหลือเกินเมื่อวัดจากฝีมือการทำงานภายใต้รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่นายกรัฐมนตรีถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย
ขณะเดียวกันหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ข้อเสนอใหม่ ที่จะลดภาษีเป็น 0% พันกว่ารายการสินค้านั้นยังไม่ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง เอาสินค้าตัวไหนไปแลก จะคุ้มหรือไม่ โดยมีการประเมินแล้วว่า หากภาษีอยู่ที่ 36% จะเสียหาย 8-9 แสนล้านบาท โดยเฉพาะภาคส่งออก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี เหล็ก อะลูมิเนียม นั่นหมายถึงระเบิดลูกใหญ่จากปัญหาคนตกงานจำนวนมากกำลังจะตามมา
แต่เมื่อหันไปสำรวจดูมาตรการรับแรงกระแทกจากสงครามภาษีการค้าโลกครั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณจากทรัมป์จนถึงปัจจุบัน กลับพบว่า ณ วันนี้ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ก็ยังถูกตั้งคำถามเหมือนเดิมว่า เตรียมแผนรองรับสถานการณ์นี้อย่างไร หรือกรณีที่รัฐบาลเตรียม 5 หมื่นล้านบาทเพื่อรับมือนั้นเพียงพอแค่ไหน และจะทันการณ์เยียวยาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขณะที่หลายฝ่ายพยายามส่งเสียงเตือน และเสนอแนะมาตรการต่างๆ ต่อรัฐบาลเพื่อหวังช่วยลดทอนแรงกระแทกจากภาษีทรัมป์ แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นทิศทางใดๆ ที่เป็นรูปธรรมมากนัก ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับสร้างวิกฤตซ้อนวิกฤต เล่นการเมืองจนไร้เสถียรภาพซ้ำเติมสถานการณ์ส่งผลทำให้เศรษฐกิจสุ่มเสี่ยงที่จะเสียหายหนัก และสุดท้ายอาจเป็นราคาแพงแสนแพงที่ประเทศต้องจ่ายเพื่อนายกฯ ฝึกหัดที่ชื่อ แพทองธาร ชินวัตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี