ขอย้ำว่าไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่บังคับใช้ฝ่ายเดียวโดยรัฐบาลอเมริกัน โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้
แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลไทยจะพยายามอ้างแบบยกเมฆมาโดยตลอดว่าไม่มีปัญหา แต่ความจริงที่ต้องยอมรับคือจนถึงบัดนี้ไทยกับสหรัฐฯ ยังหาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องนี้ไม่ได้
เรื่องสำคัญนี้ถูกปล่อยปละละเลยมาตั้งแต่ สมัยพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และถูกละเลยมาตั้งแต่สมัยที่แพทองธาร ชินวัตร ยังมีอำนาจเต็มในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันนี้ แพทองธารได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการทำหน้าที่ชั่วคราว เพราะข้อหาเรื่องมีความบกพร่องทางจริยธรรมแต่สำหรับคอการเมืองไทยที่ตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่างฟันธงตรงกันว่าแพทองธารไม่มีวันได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกอย่างแน่นอน เพราะทำความผิดอย่างมหันต์
บัดนี้ จตุพร บุรุษพัฒน์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือ ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ ซึ่งเป็นเด็กใหม่ไร้ประสบการณ์การบริหารกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกสาธารณชนวิพากษ์ว่าละอ่อนมากในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ที่หนักยิ่งกว่าคือถูกวิจารณ์ว่าละอ่อนมากเสียจนไม่สามารถหาคำบรรยายได้ แต่ทว่ากลับอาจหาญเข้ารับตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองได้อย่างพิสดาร แต่ถึงแม้จะมีรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้ารับตำแหน่งแล้ว ก็ยังคงไม่ปรากฏว่าจะแก้ปัญหา reciprocal tariffs ของอเมริกันได้แต่ประการใด
ส่วนพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ยังประสบความสำเร็จในการเดินทางไปเจรจาเพื่อขอลดอัตรา reciprocal tariffs ในขณะที่เหล่าบรรดา
ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ที่เข้าไปใช้บ้านพิษณุโลกเป็นที่ทำงาน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหา reciprocal tariffs ได้เช่นกัน
อย่าลืมว่าทรัมป์ประกาศว่าเส้นตายของเรื่อง tariffs คือ 9 กรกฎาคม 2568 โดยย้ำว่าจะเก็บ tariffs จากประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯ ตามอำเภอใจของสหรัฐฯ ตามที่ได้ประกาศไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2568 ดังนั้น หากประเทศคู่ค้าใดยังไม่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก็ต้องจ่ายtariffs ตามที่สหรัฐฯ กำหนดโดยไม่มีเหตุผล ส่วนประเทศคู่ค้าใดที่เจรจากันลงตัวแล้ว ก็จ่าย tariffs ตามที่ตกลงกันได้
สำหรับ reciprocal tariffs ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าไทยคือ 36 เปอร์เซ็นต์ และจะเก็บหลังจากวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าหากไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับ
สหรัฐฯ ในเรื่องนี้ได้ ก็ต้องจ่าย tariffs เมื่อส่งสินค้าไทยเข้าไปขายในสหรัฐฯ ในอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือเมื่อสินค้าไทยต้องเสีย tariffs สูงถึงเพียงนั้น แล้วจะตั้งราคาขายเท่าไร เมื่อราคาสินค้าไทยมีราคาแพงมากเกินไป ก็หมายความว่าผู้ซื้อก็จะไม่ซื้อ เมื่อไม่ซื้อก็หมายถึงขายไม่ได้ เมื่อขายไม่ได้ก็หมายถึงผู้ผลิตสินค้าไทยก็จะไม่มีตลาดรับซื้อสินค้า เมื่อไม่มีตลาดรับซื้อผู้ผลิตก็ไม่ผลิต เมื่อผู้ผลิตไม่ผลิต ก็หมายถึงคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นต้องยุติการผลิต ซึ่งก็หมายถึงคนงานต้องตกงาน แล้วหมายถึงการต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจ เพราะไร้งานทำหากคนไทยจำนวนมากไร้งานทำ ก็หมายถึงเศรษฐกิจไทยต้องประสบวิกฤต เมื่อเศรษฐกิจไทยวิกฤต ก็หมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจจะบังเกิดกับประเทศไทย คำถามสุดท้ายคือ รัฐบาลจะมีปัญญาแก้วิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ หากไม่มีปัญญาแก้ปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ไร้ปัญญาอีกต่อไป เพราะสิ้นไร้ประโยชน์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี