ข่าวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยสูงถึง 36% ไม่เพียงเป็นแรงสั่นสะเทือนเชิงการค้า หากยังเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า “การทูตเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลไทยกำลังล้มเหลวอย่างน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในจังหวะที่ประเทศยังหาทิศทางฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทีมผู้แทนจากรัฐบาลไทยพยายามประคับประคองความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ท่ามกลางความตึงเครียดที่สะสมมานานจากข้อกล่าวหาเรื่อง
“การบิดเบือนกลไกตลาด” และ “การแทรกแซงค่าเงินบาท” แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือ “การถูกลงโทษ”แทนที่จะ “เจรจาประนีประนอม”
คำถามคือ เราเสียอะไรไปกับความล้มเหลวนี้บ้าง?
การเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 36% ย่อมหมายถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในตลาดสหรัฐฯ จะถูกตัดขาดอย่างฉับพลัน สินค้าไทยจะมีราคาสูงขึ้นทันทีเมื่อถึงมือลูกค้าอเมริกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเล แปรรูป ยางพารา และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นรายได้หลักของเกษตรกร คนงาน และเอสเอ็มอีจำนวนมาก
สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่ “การสูญเสียรายได้ จากการส่งออก” แต่คือ “ลูกโซ่” ที่จะเกิดขึ้นในประเทศ : โรงงานขนาดกลางและเล็กอาจต้องลดจำนวนพนักงาน พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยต้องเผชิญกับยอดขายที่ตกลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น ภาคแรงงานอาจต้องเผชิญกับการเลิกจ้าง และเมื่อรวมเข้ากับปัญหาเศรษฐกิจเดิมที่ยังไม่ถูกเยียวยา เช่น ราคาพืชผลตกต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะงักงัน ไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจฝืดลึก”
ยิ่งไปกว่านั้น การปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุดที่ประชาชนคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู กลับกลายเป็นเพียง “เกมจัดเก้าอี้ทางการเมือง”เพื่อรักษาสมดุลภายในรัฐบาล มากกว่าจะมุ่งเป้าสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ไม่มีชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ไม่มีสัญญาณชัดเจนของนโยบายที่จะแก้ไขวิกฤตเชิงโครงสร้าง รัฐบาลยังคงบริหารประเทศด้วยวิธีคิดแบบเดิม ใช้การสื่อสารเพื่อเอาตัวรอด มากกว่าการลงมือปฏิรูปจริงจัง
ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นนี้ คำถามสำคัญคือ-ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
เมื่อประเทศต้องเผชิญกับผลพวงของการบริหารที่ล้มเหลว ซ้ำยังไม่มีหนทางที่ชัดเจนให้ประชาชนได้เห็นแสงสว่างเบื้องหน้า บรรยากาศทางสังคมจึงเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ความไม่เชื่อมั่นและการรอคอยเพียงว่า วิกฤตรอบถัดไปจะหนักหนาแค่ไหน
ป่วยการที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายการเมืองที่คุมอำนาจในขณะนี้ เพราะจากพฤติกรรมที่ผ่านมาก็คงได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องคิดกันมากกว่านั้นคือ
ความรับผิดชอบของประชาชนที่อนุญาตให้นักการเมืองเหล่านี้เข้ามามีอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตำแหน่งทางการเมืองกลายเป็นมรดกตกทอดจากพ่อสู่ลูก จากพี่สู่น้อง นับวันระบบแบบนี้ยิ่งกลืนกินและทำลายประเทศของเราให้เสื่อมทรุดลงไป คนเก่งๆ คนดีๆ ถูกกีดกันออกจากระบบการเมือง
ถ้ายังมองไม่ทะลุแก่นแท้ของปัญหา ก็ยากที่จะคิดวิธีแก้ไขที่ถูกต้องได้ การหมกมุ่นและเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่สำนึกของพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยังคงมองแต่เรื่องผลประโยชน์เฉพาะหน้า ก็คงไม่สามารถพาประเทศไทยพ้นวงจรอุบาทว์ไปได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี