แนวคิดเรื่อง “ตำรวจศาล” มีมาก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุด กล่าวได้ว่า “ปฏิสนธิ” เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว
การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
1. สาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ ระบุว่า
ให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลในจำนวนที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ในศาลทุกศาล
มีอำนาจหน้าที่ติดตามสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหลบหนี หรือผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล และศาลได้ออกหมายจับแล้ว
มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้นหรือจับกุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวหลบซ่อนอยู่ และมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้าไป บุคคลดังกล่าวจะหลบหนี ทั้งนี้ หากเจ้าของหรือผู้รักษาสถานที่นั้นไม่ยอมให้เข้าไปเจ้าพนักงานตำรวจศาลมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปได้
มีอำนาจค้นหายานพาหนะที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก หรือคำสั่งของศาลได้เข้าไปหลบซ่อนอยู่ และหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะไม่สามารถตามยานพาหนะ หรือบุคคลดังกล่าวได้
ให้รักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ในบริเวณศาล
ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลยุติธรรมอาจขอให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม
ในกรณีจำเป็น ให้เลขาธิการ ศย. มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้าง ที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจศาล โดยมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตำรวจศาล
ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เช่นเดียวกับราชการทหารและตำรวจตามกฎหมายดังกล่าว
ฯลฯ
2. พูดง่ายๆ คือ เป็นตำรวจสำหรับพวกผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหลบหนี หรือผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล และศาลได้ออกหมายจับแล้ว
เรียกว่า เป็นตำรวจที่มีหน้าที่เฉพาะเลยก็ว่าได้
คนที่จะต้องตาลีตาเหลือกมากหน่อย ก็คือพวกที่หนีหมายจับนั่นเอง
ขอเสนอว่า ปัจจุบัน มีผู้หลบหนีหมายจับหรือคำสั่งของศาลอยู่จำนวนมากแค่ไหน สนง.ศาลยุติธรรมสมควรจะได้เปิดเผยสู่สาธารณะวงกว้าง พร้อมกับมูลค่าความเสียหายที่บุคคลเหล่านี้กระทำไว้เพื่อจะได้พิจารณาว่ามีความสำคัญเพียงใดที่ต้องมีตำรวจศาล
3. อย่างไรก็ตาม ครม.ยังให้ไปรับความเห็นของฝ่ายต่างๆ นำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายด้วย ซึ่งน่าจะทำให้มีความรัดกุมรอบคอบมากขึ้น
เพราะยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง เช่น
หากตำรวจศาลมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองโดยมิชอบ มีโทษหนักกว่ากรณีทั่วไปถึงสี่เท่า ข้อกำหนดนี้เหมาะสมหรือไม่ เพียงพอหรือยัง?
คุณสมบัติของตำรวจศาล จะต้องจบปริญญาตรีทางกฎหมาย รัฐประศาสนศาสตร์ จำเป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากภารกิจอำนาจหน้าที่?
จะเป็นการสร้างกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาอีกหนึ่งกองทัพย่อมๆ หรือไม่? ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ ควรจะได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในรายละเอียด ในขั้นตอนต่อไป
4. ไม่ว่าจะอย่างไร ใช่หรือไม่ว่านี่คือสิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของระบบตำรวจไทย?
เพราะหน้าที่ติดตามผู้ร้ายหลบหนีหมายจับ เป็นหน้าที่ของตำรวจ
แต่ปัจจุบัน มีผู้ร้ายหนีหมายจับของศาลมากมาย
แต่ตำรวจก็ไม่สามารถไปติดตามจับกุมได้
บางกรณี ตำรวจนั่นเองที่พาคนร้ายหนี
จนถึงวันนี้ ยังทำอะไรไม่ได้
ถ้าตำรวจไทยทำงานมีประสิทธิภาพ ก็คงไม่ต้องมีตำรวจศาล
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี