อีก 20 กว่าวันก็จะถึงวันเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว เป็นการเลือกตั้งที่เห็นภาพชัดเจนขึ้นทุกทีว่าการเมืองไทยกำลังออกแบ่งเป็นสามก๊กหรือสามขั้ว คือขั้วเพื่อไทย ขั้วพลังประชารัฐ และขั้วประชาธิปัตย์
โดยมีพรรคการเมืองอีกหลายพรรคที่มีท่าทีชัดเจนว่าจะสนับสนุนก๊กใดหรือขั้วใดซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยซึ่งกำลังผงาดขึ้นและความนิยมกำลังพุ่งแรง โดยอาศัยกระแสรณรงค์เปิดเสรีกัญชา และอีกพรรคหนึ่งคือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพุ่งแรงเพราะกำหนดเป้าหมายในการรณรงค์ถูกเป้าเข้าจุด คือวางจุดหนักไว้ที่เยาวชนอายุ 18-25 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่า 7 ล้านคน
พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติพัฒนาและพรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำเสนอหัวหน้าพรรคของตนหรือบุคคลสำคัญระดับแกนนำพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ดังนั้นการหาเสียงจึงมุ่งเป้าเข้าจุดทั้งระดับนายกรัฐมนตรีและระดับพรรค
คงมีบางพรรคที่ไม่ได้เสนอชื่อหัวหน้าพรรคของตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี คือบางพรรคก็ไม่ได้เสนอผู้ใด บางพรรคก็ไปเสนอคนภายนอก ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ ที่ไปเสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้นในยามสถานการณ์ใกล้เลือกตั้งเต็มทีนี้ ก็พอจะคาดหมายได้ว่าอนาคตทางการเมืองของประเทศจะมีก๊กหลักที่ชิงกันจัดตั้งรัฐบาลก็คงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ โดยขณะนี้สุ้มเสียงเริ่มถูกสังคมกดดันให้พูดคล้ายกันแล้วว่าพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล
ดังนั้นระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ใครจะรวบรวมพันธมิตรให้เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ย่อมมีโอกาสที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล
สำหรับพรรคพันธมิตรของแต่ละก๊กแต่ละก๊วนนั้นจำเป็นจะต้องเปรียบมวยให้ถูกคู่ ซึ่งเห็นว่ามีอยู่สองคู่ใหญ่ ซึ่งผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อก๊กหลักด้วย ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเปรียบมวยจากกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เห็นภาพการเมืองไทยชัดเจนขึ้นในอีกภาพหนึ่ง
มวยคู่แรก คือพรรครวมพลังประชาชาติไทยกับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้นสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ชัดเจนว่ายังคงเป็นพรรคพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยอย่างแนบแน่นด้วย
ระหว่างสองพรรคนี้พรรคไหนจะได้ สส. มากกว่ากัน มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบดังนี้
ประการแรก พรรครวมพลังประชาชาติไทยสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นผู้ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงย่อมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐโดยตรงมากกว่าที่จะไปสนับสนุนทางอ้อม และที่สำคัญ พรรครวมพลังประชาชาติไทยไม่ได้นำเสนอนโยบายใดๆ ที่เห็นว่าหลักแหลมหรือพอที่จะบริหารบ้านเมืองได้ คงหาเสียงอยู่ประการเดียวคือจะได้ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
ประการที่สอง พรรคอนาคตใหม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี มีเป้าทางการเมืองชัดเจน มุ่งที่คนรุ่นใหม่ 7 ล้านคน ทำให้กระแสพรรคขยายวงกว้างเป็นกระแสสูง และความนิยมของพรรคติดลำดับหนึ่งในโซเชียลมีเดียในหลายๆ เรื่อง
ดังนั้นถ้าเปรียบคู่มวยระหว่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับพรรคอนาคตใหม่แล้วก็ส่อว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะได้ สส. มากกว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยในระดับน่าจะเกิน 10 คนขึ้นไป
มวยคู่ที่สอง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย กับพรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งความจริงทั้งสี่พรรคนี้มีข่าวคราวหลายกระแสว่าล้วนสนับสนุนและเป็นพันธมิตรของพรรคพลังประชารัฐด้วยกันทั้งสิ้น แต่ระยะหลังนี้ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย
มีความชัดเจนมากขึ้นโดยลำดับว่า มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นและกำลังจะเป็นอีกขั้วหนึ่งที่ไล่ตามติดๆ กับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ
นายเนวิน ชิดชอบ เคยกล่าวด้วยความมั่นใจว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้ สส. ไม่น้อยกว่า 70 คน และมั่นใจถึงขนาดกล่าวกับคณะทำงานรณรงค์เสรีกัญชาว่าถ้าได้ต่ำกว่า 70 คน ก็ให้เอาตีนมาเหยียบหน้าได้เลย และถ้าหากพรรคภูมิใจไทยได้ สส. 70 คน ก็จะมีฐานะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล อาจถึงขนาดที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองพลิกผัน แล้วผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรีชนิดเหนือความคาดหมายก็เป็นได้
หากจะเปรียบเชิงมวยระหว่างกลุ่มพรรคดังกล่าวก็พอจะประมาณสถานการณ์ได้ดังนี้
ประการแรก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ค่อนข้างชัดเจนว่าสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ต้องการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมไปเทคะแนนเสียงให้พรรคพลังประชารัฐโดยตรงมากกว่าที่จะลงคะแนนเสียงกระจัดกระจายให้เป็นเบี้ยหัวแตก
ดังนั้นธงการเมืองของกลุ่มพรรคนี้จึงทำลายตัวเองอยู่ในที เพราะยิ่งรณรงค์มากเท่าใด ผู้คนก็จะไปลงคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขณะนี้ก็เห็นชัดแล้วว่ากระแสเป็นประการใด
ประการที่สอง สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้นได้ชูธงเสรีกัญชาและได้รับการขานรับอย่างเอิกเกริกกึกก้องพลิกความคาดหมายทั้งปวง เพราะภาคเกษตรหลายสิบล้านคนก็ดี ภาคผู้ป่วยมะเร็งและเครือญาติ และภาคประชาสังคมที่รณรงค์เรื่องเสรีกัญชาก็ดี รวมกันแล้วเกือบ 30 ล้านคน ที่สนับสนุนนโยบายเสรีกัญชา จึงทำให้คะแนนนิยมและกระแสนิยมของพรรคภูมิใจไทยพุ่งกระฉูด
ดีไม่ดีพรรคภูมิใจไทยอาจจะได้ สส. มากกว่า 3-4 พรรคดังกล่าวรวมกัน และนั่นหมายถึงการพลิกผันครั้งสำคัญของการเมืองไทยที่น่าจับตายิ่ง!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี