เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เผยว่า ปัจจุบันกรมสรรพากร อยู่ในระหว่างการศึกษาปรับปรุงประมวลรัษฎากรในประเด็นต่างๆ ให้ครอบคลุมทันสมัยมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันพร้อมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรการป้องกันการกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศ การมีข้อกฎหมายเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ
โดยกรมสรรพากรจะสรุปข้อเสนอดังกล่าวแล้วจะได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไปซึ่งเมื่อปีที่แล้ว 2561 คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากรของกระทรวงการคลังได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนได้เผยถึงการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของรัฐให้มีความทันสมัยเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยจะเร่งรัดและผลักดันร่างประมวลรัษฎากรฉบับใหม่ให้เสร็จในปีนี้ 2562 ที่เป็นไปตามแผนปฏิรูปของประเทศ
รายงานระบุว่ามีการเสนอแก้ไข 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติ ที่อิสระจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีเพื่อกำหนดนโยบายการเก็บภาษีโดยคำนึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภทรวมถึงการตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ซึ่งเป็นคนนอก ไม่ใช่ข้าราชการกรมสรรพากรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นกลาง รวมทั้งสร้างค่านิยมในการเสียภาษีที่ถูกต้องแก่ประชาชน
กรมสรรพากรจะกำหนดนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้ เข้าสู่ระบบภาษีและมีนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีโดยให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่หรือมีเงินได้ถึงเกณฑ์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ประชาชนเปิดเผยจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องเขาจะต้องชำระก็ตามซึ่งเป็นไปตามแบบต่างประเทศ
ทั้งนี้กรมสรรพากรเสนอปรับเงินได้แบบใหม่เหลือ 3 แบบ คือ การแยกตามวิธีการคำนวณภาษีคือเงินได้จากการทำงาน ได้แก่ เงินได้พึงประเมินมาตรา 40 เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน ได้แก่ เงินได้ประเภทเงินปันผลและดอกเบี้ย และเงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ รวมทั้งเสนอให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นตามประเภทของประเภทเงินได้นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงจากปัจจุบันสูงสุดร้อยละ 35 ให้อยู่ระดับร้อยละ 25
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีและภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 25 จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอัตราร้อยละ 20 และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกร้อยละ 10 ทำให้มีภาระภาษีรวมร้อยละ 28 รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่มได้เสนอให้กำหนดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภทและปรับวงเงินขั้นต่ำที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ข้อเสนออีกข้อคือรัฐต้องกำหนดให้ประชาชนทุกๆ สาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพใดก็ตามต้องมีที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่รัฐบาลเช่นเดียวกับนานาประเทศถ้าเขามีเงินได้พึงประเมินต่อปีมากกว่าปีละ 240,000 บาท ซึ่งอาชีพกลุ่มนี้ได้แก่ เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง ผู้ค้าอิสระต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้แก่รัฐบาลเช่นเดียวกับคนที่มีอาชีพประเภทอื่นๆ เพราะนี่คือความเป็นธรรมที่รัฐจะต้องพิจารณา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี