ในภาวะที่ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจได้รับผลกะทบจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดีตามเป้าหมาย ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละประเภท ควรจ่ายโบนัสพนักงาน หรือไม่ ?
1. รายงานข่าวระบุว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้เสนอรายงานงบการเงิน โดยระบุถึงการจ่ายโบนัสประจำปีด้วย จึงได้ให้กลับไปทบทวนแล้ว เพราะขณะนี้เป็นภาวะที่ทุกคนเดือดร้อน การที่หน่วยงานกำหนดที่จะจ่ายโบนัสพนักงาน จึงไม่น่าเป็นหลักการที่ดี
รายงานข่าวระบุด้วยว่า นายศักดิ์สยามได้พูดถึงเรื่องโบนัสของรัฐวิสาหกิจในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม โดยสั่งห้ามเสนอเรื่องจ่ายโบนัสเด็ดขาด หากหน่วยงานใดเสนอมานั้นจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตำแหน่งผู้บริหารหน่วยงานนั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ปัญหา โควิด-19 หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จะจ่ายโบนัส 7 เดือน 8 เดือน ก็ได้ ดังนั้น ขอความร่วมมือและให้ชี้แจงพนักงานให้เข้าใจสถานการณ์ นอกจากนี้ การที่รัฐบาลต้องกู้เงิน แต่รัฐวิสาหกิจมีกำไรจ่ายโบนัส ต้องถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน
2. ประเด็นโบนัสและผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจ มีรายละเอียดที่น่าคิด น่าพิจารณา
ผลประกอบการปีนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 ปรากฏดังนี้
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 29,198 ล้านบาท
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 28,619 ล้านบาท
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 26,055 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน 18,000 ล้านบาท
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 10,500 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 5,922 ล้านบาท
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5,733 ล้านบาท
การท่าเรือแห่งประเทศไทย 4,020 ล้านบาท
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 3,891 ล้านบาท
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3,839 ล้านบาท
อื่นๆ 9,145 ล้านบาท
รวม 144,922 ล้านบาท
เบื้องต้น พึงเข้าใจว่า รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง มิใช่วัดความสามารถกันที่ผลประกอบการกำไร-ขาดทุนอย่างเดียว ไม่ใช่ว่ารายไหนกำไรเยอะแสดงว่าเก่ง หรือควรได้รับการยกย่องเชิดชูให้รางวัลมากกว่ารายที่ผลประกอบการขาดทุนเสมอไป
เพราะรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง มีวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ มีข้อจำกัด ตลอดจนบริบทในการดำเนินกิจการแตกต่างกันไป
บางราย ต้องขาดทุน เพื่อให้ประชาชนและสังคมได้ใช้บริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ก็มี
3. ปีที่ผ่านมา (ปี 2562) รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง มีการจ่ายโบนัส อาทิ
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จ่ายโบนัส 7.25 เท่า ของเงินเดือน (จากผลดำเนินงานที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท)
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) มีโบนัสในระดับ 4-5 เท่า
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จ่ายไม่ถึงเดือน
ปีนี้ (ปี 2563) ถ้าถือเอาตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ทุกรัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคม ห้ามจ่ายโบนัส และส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น
4. นับเป็นเรื่องที่ดี หากจะพิจารณาประเมินผลการทำงานของแต่ละรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณาว่าจะจ่ายโบนัสหรือไม่ ตามผลการทำงานที่แท้จริงตามวัตถุประสงค์ มิใช่แค่ผลกำไรขาดทุน และควรดูที่ปริมาณงานที่ช่วยเหลือประชาชนที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วย
รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ที่มีงานมากขึ้นจริงๆ ในช่วงโควิด-19 และเป็นงานที่เพิ่มกว่าปกติอันช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามทุกข์ยาก เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ฯลฯ หลายแห่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการที่ให้ประชาชนไปติดต่อรับความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น
จริงอยู่ มองในมุมประชาชนทั่วไป ย่อมพึงพอใจ หากรัฐไม่จ่ายโบนัสให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเลย แล้วเอาเงินตรงนั้นส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อการช่วยเหลือประชาชน
แต่เรื่องนี้ ควรมองในมุม “คนทำงาน” ด้วยเช่นกัน
ผลประกอบการที่ออกมานั้น ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงินหากผลงานบรรลุวัตถุประสงค์ ก็ย่อมจะเกิดจากน้ำพักน้ำแรงและความเหนื่อยยากของพนักงานด้วย
5. ในความเป็นจริง รัฐวิสาหกิจประเภทใดจะจ่ายโบนัส หรือไม่อย่างไรนั้น เดิมมีแนวทางพิจารณาไว้อยู่แล้ว ซึ่งคำนึงความแตกต่างของกิจการแต่ละกลุ่มด้วย อาทิ
รัฐวิสาหกิจประเภทที่มีการควบคุมราคาจนประสบผลขาดทุน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฯลฯ ก็จะมีหลักเกณฑ์แบบหนึ่ง
รัฐวิสาหกิจที่จัดสรรโบนัสให้พนักงานได้เมื่อมีกำไร ก็อีกแบบหนึ่ง อาทิ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ องค์การจัดการน้ำเสีย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ โรงงานไพ่ องค์การสุรา องค์การเภสัชกรรม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด การท่าเรือแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การสะพานปลา องค์การสวนยาง องค์การคลังสินค้า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ฯลฯ
รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหุ้น ก็อีกแบบหนึ่ง อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
รัฐวิสาหกิจประเภทที่มีวัตถุประสงค์ในการให้การส่งเสริมกิจกรรมด้านต่างๆ โดยไม่มุ่งผลกำไรเลยก็มี (ซึ่งถ้าถือว่ามีกำไรจึงจะจ่าย ก็คงไม่มีวันได้โบนัสตลอดชาติ แม้จะมีผลงานมากแค่ไหนก็ตาม)
เห็นว่า การพิจารณาว่าจะจ่ายโบนัสแก่รัฐวิสาหกิจใด หรือไม่นั้น ไม่ควรห้ามตายตัวไปเสียเลยทั้งหมด ซึ่งแม้จะง่ายในการจัดการ และใช้หาเสียงกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่พนักงานรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่จะเกิดความไม่เป็นธรรมในทางการปฏิบัติงานจริง
ควรกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ชัดเจนออกมา โดยคำนึงถึงงานที่ทำในช่วงโควิด-19 ด้วย ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อกิจการ หากรัฐวิสาหกิจใดเข้าเกณฑ์ งานดี งานเพิ่มบานเบอะ ทำงานหามรุ่งหามค่ำผลงานบรรลุวัตถุประสงค์ ก็สมควรจะได้โบนัสบ้าง แม้จะไม่อู้ฟู่ก็ตาม
แต่สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการแย่ลง กำไรน้อยลง เหมือนธุรกิจที่ผลประกอบการลดลงในช่วงโควิด-19 โดยที่ไม่ได้เข้าไปสนับสนุนนโยบายช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยตรง ไม่ได้มีภาระงานเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะ ก็ควรต้องทำใจยอมรับ หากจะได้โบนัสน้อยลง หรือไม่ได้โบนัสในปีนี้
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี