เมื่อวานนี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ“ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ มุมมองและความท้าทายต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” ที่สำนักงาน ป.ป.ส.
นายทักษิณทักทายสื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า “ยังอยู่ดี กินดี ไม่ได้ไปไหน”
เหตุเพราะสื่อสงสัยว่า ทักษิณจะไปศาลฎีกาฯ ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ หรือไม่? จะหลบหนีออกนอกประเทศไปอีก หรือไม่?
เนื่องจากทักษิณไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเลย หลังแพทยสภามีมติลงโทษหมอที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวที่ชั้น 14 ฝ่าฝืนจรรยาบรรณ
ได้ยินว่า ทักษิณยังกินดีอยู่ดี ก็ดีใจ หวังว่าจะไปศาลในวันที่ 13 มิ.ย.
ได้ฟังว่า ทักษิณพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามยาเสพติด ก็ชื่นใจหวังว่าจะสำนึกถึงการบังคับตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ตามหมายจำคุกของศาลฎีกาฯ ต้องเคารพในการไต่สวนของศาลฎีกาฯด้วย
น่าสนใจว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ สมัยมีอำนาจรัฐเต็มมือ ตอนนั้น ดำเนินการอย่างไรในการประกาศสงครามยาเสพติด?
ทำไม คู่แฝดอย่างดูเตอร์เต ถูกหิ้วไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว แต่ทักษิณยังลอยนวลได้ ?
1. สงครามยาเสพติดยุครัฐบาลทักษิณ ในช่วงเวลา 3 เดือน ก.พ.-เม.ย. 2546
ทำให้เกิดการฆาตกรรมผู้คนไปกว่า 2,500 โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่พ่อค้ายาเสพติดแต่อย่างใด
เพราะหลังจากนั้น พ่อค้ายารายใหญ่ก็ยังอยู่
ที่สำคัญ นโยบายยุคนั้น ทำให้เกิดการฆาตกรรมอย่างเป็นระบบ คนถูกฆ่าตายเป็นใบไม้ร่วงรายวัน
จนฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นพยายามชี้แจงว่า พวกพ่อค้ายา “ฆ่าตัดตอน” กันเอง
2. นโยบายรัฐบาลทักษิณให้ถือเอายอดการเสียชีวิตของบุคคลในบัญชีดำ ไม่ว่าจะตายด้วยวิธีการใดๆ เป็นหนึ่งในผลงานได้ด้วย
บังคับ กดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ต้องทำยอด ด้วยการลดรายชื่อบุคคลในบัญชีดำของทางการให้ได้
ในความเป็นจริง การขึ้นบัญชีดำของทางการในขณะนั้น มีความบกพร่องร้ายแรง
พ่อค้ายาบางรายไม่ได้มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ
แต่คนมีชื่ออยู่ในบัญชีดำจำนวนมากกลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าขายยาเสพติด
รัฐบาลทักษิณบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องปราบปรามผู้มีรายชื่อในบัญชีดำให้ได้อย่างน้อยถึงร้อยละ 25
พูดง่ายๆ ว่า ต้องตัดยอดบัญชีดำ ทำให้ลดลงอย่างน้อย 25% ภายในเวลา 3 เดือน
กำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดผลในการตัดยอดคนในบัญชีดำ 3 อย่าง คือ
(1) การจับกุมดำเนินคดีจนถึงขั้นอัยการส่งฟ้องศาล
(2) การวิสามัญฆาตกรรม
และ (3) การที่ผู้มีรายชื่อในบัญชีดำเสียชีวิต ไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม
โดยนายกฯ ทักษิณใช้อำนาจมอบหมายสั่งการนโยบาย กำชับและข่มขู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ยิ่งกว่านั้น มีการส่งสัญญาณใช้ความรุนแรงนอกระบบ
นายกฯ ทักษิณประกาศว่า “ถ้าล้มเหลว ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดก็คงต้องไปด้วยกัน”
“ท่านต้องใช้ Iron fist หรือกำปั้นเหล็ก ใช้ความเด็ดขาดอย่างชนิดไม่ต้องปรานี พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เคยกล่าวไว้ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องยาเสพติดผมมั่นใจว่าตำรวจไทยจัดการได้”
“การทำงานหนักของท่าน 3 เดือนถ้าจะมีผู้ค้ายาตายไปบ้างก็เป็นเรื่องปกติ”
“บางทีถูกยิงตายแล้วต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ผมคิดว่าเราต้องเหี้ยมพอกัน”
“ที่อยู่ของขบวนการค้ายาเสพติดมี 2 ที่ คือถ้าไม่ไปคุกก็ไปวัด”
“ผมจัดการแน่นอน ไม่เก็บไว้ทำพ่อหรอก ขอให้บอกเบาะแสมา ใครขายยาผมจะหิ้วให้หมด จะส่งไปเยี่ยมยมบาลให้หมด” ฯลฯ
ปรากฏว่า ภายในช่วงเวลา 3 เดือน มีการ“ทำยอด”ยิงทิ้งคนที่มีชื่อในบัญชีดำ จำนวนมาก!
แม้จะสะใจคนจำนวนไม่น้อยในสังคมขณะนั้น แต่พิสูจน์ชัดแล้วว่า ไม่ได้แก้ปัญหายาเสพติดที่ต้นตอจริงๆ
เหมือนเป็นการฆ่าที่ทำให้รัฐบาลได้คะแนนนิยมทางการเมือง
3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสงครามปราบปรามยาเสพติด กว่า 300 ราย
บางราย มีชื่อในบัญชีหรือถูกกล่าวหาหรือถูกเรียกไปรายงานตัวว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งๆ ที่ไม่มีพฤติกรรม
บางราย ญาติถูกฆาตกรรม ญาติเชื่อว่าเกิดจากนโยบายปราบยาเสพติด
บางราย ถูกตำรวจยัดยาบ้าแล้วดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ
บางกรณี ญาติร้องเรียนว่าคนในครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่ฆาตกรรม มีหลักฐานว่าหลายกรณีพวกเขาไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่ประการใด
กสม. ตั้งขอสังเกตว่า บุคคลซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อของรัฐนั้น ส่วนใหญ่มาจากการประชุมประชาคมหมู่บ้าน จึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันมาก่อน ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการเมืองท้องถิ่น กลั่นแกล้งกันได้ ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อยังประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (โดยเฉพาะชาวเขา) บุคคลที่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บุคคลที่มีฐานะไม่ค่อยดีแต่กลับมีเงินทุนในการประกอบกิจการ บุคคลที่เคยร้องเรียนหรือมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลที่เป็นฐานเสียงหรือหัวคะแนนพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น หรืออาจมีญาติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แล้วถูกเหมารวมว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย
4. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระ คตน. (ชุดที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน) ชี้ชัดเจนว่า การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ และการนำนโยบายไปปฏิบัติ จนเป็นผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนพลเรือนเป็นจำนวนมากนั้น วางแผนโดยการทำบัญชีข้อมูลบุคคลและสั่งลดจำนวนบุคคลในบัญชีข้อมูลบุคคล เป็นการกระทำตามนโยบายที่รัฐวางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเกิดการฆาตกรรมอย่างเป็นระบบในวงกว้าง นับเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างชัดเจน
ผู้กำหนดนโยบายดังกล่าว น่าจะเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดฐาน “ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” หรือ “Crimes against humanity”
อันเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ ตามธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
รายงานของ คตน. ระบุว่า มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,604 คดี มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2,873 คน
แยกออกเป็นคดีฆาตกรรม 2,559 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 คน
ในจำนวนนี้ เป็นคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 1,370 คน
เป็นคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 834 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 878 คน
และเป็นคดีฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย 538 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 571 คน
คตน.ระบุว่า คดีวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นทั้งสิ้น 45 คดี มีผู้เสียชีวิต 54 คน
โดยในจำนวนนี้ เป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 35 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 41 คน และเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ผู้ตายไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 2 คน และเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตายจำนวน 8 คดี มีผู้เสียชีวิต 11 คน
รายงานของ คตน. ระบุด้วยว่า ในกรณีคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดีนั้น สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 29 คดี ทราบตัวแต่จับกุมไม่ได้ 47 คดี อยู่ระหว่างสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด 1,111 คดี
5. น่าคิดว่า เมื่อเร็วๆ นี้ อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ถูกจับกุมไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากกรณีสงครามกับยาเสพติดที่ฟิลิปปินส์
แต่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นโพเดียม คุยอวดประสบการณ์เรื่องปราบปรามยาเสพติดในประเทศไทย
ประเทศไทยไม่ได้ลงนามเข้าร่วม ICC ด้วยเหตุนี้ ทักษิณ ชินวัตร จึงยังลอยนวล ไม่ต้องถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
วาสนา สทร. ช่างแตกต่างจาก ดูเตอร์เต
แต่จะรอดไปถึงเมื่อไหร่ ยังเป็นคำถามที่บีบหัวใจ สทร.มากขึ้นทุกวัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี