นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณามาตรการเร่งด่วนรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญความผันผวนรุนแรงในปัจจุบัน
ในการประชุมครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ได้ส่งหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานรัฐเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นและระยะยาว
โดยเฉพาะการทบทวนแผนการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับรายได้ของรัฐที่ลดลง และปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ เช่น การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายใหม่ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง
ประเด็นที่น่าสนใจในการประชุม คือ การพิจารณาทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้งบกลาง ปี 2568
โดยเฉพาะโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือการแจกเงิน 10,000 บาท ที่เตรียมดำเนินการในระยะที่ 3–4
หากถูกยกเลิก ก็เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การลงทุนในโครงการที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแทน
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้นำงบประมาณวงเงิน 157,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมจัดสรรไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2568 มาปรับใช้ในโครงการใหม่ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เช่น การสนับสนุน SMEs การส่งเสริมการจ้างงาน และการลงทุนในโครงการผลิตภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกท่ามกลางวิกฤตการค้าโลก
รัฐบาลยังเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มิใช่การชะลอความช่วยเหลือประชาชน แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยใช้กลไกการลงทุนแทนการอัดฉีดเงินสด พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน
1. เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่าง Moody’s เพิ่งประกาศปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก “มีเสถียรภาพ” (Stable) เป็น “เชิงลบ” (Negative Outlook)
สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการคลังและการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย
2. สภาพัฒน์รายงานตัวเลข GDP ไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2568 ปรากฏว่า ขยายตัว 0.7% QoQ และ 3.1% YoY
แม้ผลออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.5% QoQ และ 2.9% YoY แต่ก็ยังง่อนแง่นเต็มที
การลงทุนภาคเอกชนยังติดลบ (-0.9%)
ด้านภาคส่งออกโตแรง (จาก +8.9% เป็น +13.8%) จากการเร่งส่งออกก่อนมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขส่งออกบริการหรือท่องเที่ยวขยายตัวแบบชะลอตัวลง (จาก +22.9% เหลือ +7.0%)
สภาพัฒน์ปรับลดคาด GDP ปี68 จาก 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) เป็น 1.3-2.3% (ค่ากลาง 1.8%)
มองภาคการลงทุนหดตัว (จากเดิม +3.2% เป็น -0.7%)
และภาคการส่งออกปรับลดคาดการณ์ลง แต่ยังเชื่อเป็นบวกได้ (จากเดิม +3.5% เป็น +1.8%)
มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ โดยภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงจากมาตรการภาษีนำเข้าแบบทั่วไป (Universal tariffs) และแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) รวมถึงผลกระทบทางอ้อมจากปริมาณการค้าโลกที่ลดลง ซึ่งมักจะทำให้ภาคการส่งออกไทยลดลงด้วย
หลักทรัพย์กสิกรไทย KSecurities มองว่า ตัวเลข GDP ไทย Q1/25 ที่ออกมาดี ไม่เป็นเรื่องบวก เพราะการขยายตัวมาจากการเร่งซื้อสินค้าส่งออกไทยก่อนมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ดังนั้น ในระยะข้างหน้าเมื่อมีการซื้อล่วงหน้าไปมากแล้วคำสั่งซื้อมีจะแนวโน้มลดลง อีกทั้ง เครื่องยนต์จากอุปสงค์ภายในประเทศดูอ่อนแอ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลามมาที่การใช้จ่ายทั่วไป จากเดิมที่ไม่ดีแค่การซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ที่มีราคาเช่นรถและบ้าน และภาคการท่องเที่ยวที่เห็นภาพการชะลอตัวจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย
3. สภาพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) มีการเบิกจ่ายสะสม 594,000 ล้านบาท
เทียบกับเป้าหมายการเบิกจ่ายประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.1 ของเป้าหมายการเบิกจ่าย
ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของเป้าหมาย และมีอัตราการเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ร้อยละ 30.7 ของงบประมาณรวม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณ 2568 เพื่อให้ การลงทุนภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2568
4. ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
สภาพัฒน์ได้ชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยง และข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้
1) ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่ยังคงเข้มงวดต่อเนื่อง
โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 88.4
คุณภาพสินเชื่อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลซึ่งสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (Special Mention Loans : SMLs) ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 7.8 เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 2.9 และร้อยละ 6.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
คาดว่าในระยะต่อไป ธุรกิจ SMEs อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่สามารถส่งออกได้เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ SMEs ด้อยลงสอดคล้องกับแนวโน้มมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง
2) แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
3) การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าโดยการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หรือภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่เรียกเก็บต่อประเทศไทย รวมทั้งภาษีนำเข้าสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะภาษีนำเข้ายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 25 ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
5. การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2568
สภาพัฒน์ เสนอแนะว่า ควรให้ความสำคัญกับ
1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อรักษาแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 70 และร้อยละ 90 ของกรอบงบลงทุนรวม โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญโดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามแผนงาน ขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal consolidation) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายใต้
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะต่อไป
2) การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ
ประกอบด้วย (1) การเจรจาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ และหาแนวทางในการลดการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่ไทยยังต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และไทยไม่สามารถผลิตได้เพียงพอเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ รวมทั้งการพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีโดยคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และการหาแนวทางการเพิ่มการลงทุนโดยตรงของไทยในสหรัฐฯ ให้มากขึ้น (2) การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตและสอดคล้องไปกับความต้องการของโลก ควบคู่ไปกับการขยายตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน ควบคู่ไปกับการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ (3) การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลกโดยการทบทวนสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนผ่านรูปแบบการร่วมลงทุน (Joint Venture) และส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องในไทยเพื่อทำให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย และลดความเสี่ยงจากการใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้า (Rerouting) และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ พร้อมทั้งการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบและการจ้างแรงงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (4) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และ (5) การเตรียมมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก
3) การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
โดยมุ่งเน้น (1) การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นโดยเฉพาะตามแนวชายแดน และเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้า รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน (2) การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ รวมทั้งการเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพในการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าตามแนวชายแดน และ (3) การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ และการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยการยกระดับการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเข้มข้น และเร่งปรับปรุงบัญชีสินค้าที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าส่งออกจากไทยว่าเป็นไปตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับประเทศคู่ค้า
4) การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่องเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง
โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ SMEs และการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
5) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2568/2569 ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกพื้นที่ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงระบบชลประทาน การฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำต้นทุน รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนโดยการปรับแผนระบายน้ำและเตรียมพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของอุทกภัย และเพื่อจัดสรรน้ำให้เกษตรกรและประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับผลิตภาพทางการผลิต
6) การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจังรวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม
6. โครงการแจกเงินหมื่นถ้าจะเดินต่อ ขะต้องใช้เงินอีกสองเฟส รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท ในขณะที่แจกไปแล้วก็ยังไม่มีวี่แววพายุหมุน
จำเป็นต้องปรับแผน เพื่อนำเงินมาใช้ให้ตรงจุด
อย่างน้อยตามข้อเสนอของสภาพัฒน์ แต่ละข้อ ล้วนจะต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็น เอสเอ็มอี เกษตรกร การท่องเที่ยว ฯลฯ
การปรับแผนเลิกแจกเงินหมื่น ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด
มิฉะนั้น ประวัติศาสตร์ชาติต้องจารึกว่าประเทศชาติพังทลายย่อยยับคามือนายกฯจากตระกูลชินวัตร
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี