เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้า เมื่อระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย เกิดปัญหาใบส่งตัวล่าช้าทำผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอส่งต่อ
เป็นเรื่องจริงที่น่าอับอาย เมื่อระบบประกันสุขภาพของไทยเราอีกเหมือนกัน ปล่อยให้มีการติดค้างเงินโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมรับส่งต่อ จนเอกชนต้องทวงถามซ้ำแล้วซ้ำอีก
ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร?
1. ใบส่งตัวล่าช้า ทำผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอส่งต่อ
“สายด่วน สปสช. 1330” ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568
กรณีใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการรักษาพยาบาล และต่อมาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากปัญหาการใช้สิทธิในการขอใบส่งต่อ จนทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้ารับการรักษา
โดยผู้ร้องเรียนเป็นญาติของผู้เสียชีวิตรายนี้
หลังจากนั้น นายประเทือง เผ่าดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช. เขต 13 กทม.) ได้ลงพื้นที่ที่คลินิกและโรงพยาบาลดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการตามขั้นตอนว่าเป็นเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือไม่
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวด้วยว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองโซนธนบุรีเหนือ เขตบางกอกน้อย และศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองโซนธนบุรีใต้ เขตธนบุรี ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาชน ได้เข้าไปพูดคุยกับญาติ และชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยจะเป็นไปตามแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
จากข้อมูลที่ได้รับจากญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่า ผู้ป่วยปัจจุบันอายุ 28 ปี มีสิทธิบัตรทองขึ้นทะเบียนหน่วยบริการประจำที่คลินิกเวชกรรมแห่งหนึ่ง เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
โดยมีโรงพยาบาลในเขตบางคอแหลม เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ ซึ่งแพทย์ให้นอนดูอาการเป็นเวลา 1 คืนก่อน ในวันถัดมา
(22 เม.ย.) แพทย์ได้อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ และได้ออกใบนัดให้มาติดตามอาการอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย. 2568
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2568 ผู้ป่วยได้ไปติดต่อที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้กลับไปขอใบส่งตัวจากคลินิกที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิตามสิทธิก่อน เพื่อใช้สิทธิบัตรทอง
ซึ่งเมื่อไปถึงที่คลินิกฯ ผู้ป่วยได้ขอใบส่งตัวจากเจ้าหน้าที่คลินิกฯ แต่ได้รับแจ้งว่ายังไม่สามารถออกเอกสารให้ได้ เนื่องจากต้องทำการเจาะเลือดและให้แพทย์คลินิกฯ ทำการตรวจประเมินก่อน และให้รอฟังผลในเวลา 17.00 น.
ในช่วงเวลาที่รอผลตรวจ ผู้ป่วยจึงเดินทางกลับบ้านก่อน
แต่ปรากฏว่า อาการได้แย่ลง จนกระทั่งในเวลา 15.00–16.00 น. ได้เสียชีวิตลง
นพ.วีระพันธ์ กล่าวต่อว่า จะเร่งนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิจารณาในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการต่อไป แต่ทั้งนี้เบื้องต้นจะต้องเร่งช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อครอบครัวจากเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เป็นไปตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 การช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ดังนี้ ประเภทที่ 1 เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000-400,000 บาท, ประเภทที่ 2 พิการหรือสูญเสียอวัยวะ ช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000-240,000 บาท และประเภทที่ 3 บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่ง สปสช. จะดำเนินการเร่งรัดโดยเร็ว
นี่คือเรื่องจริง ชีวิตจริงที่ประชาชนต้องพบเจอ
2. เครือข่ายภาค ปชช. ยื่นหนังสือจี้ให้รัฐมนตรีแก้ปัญหา ใบส่งตัวใน กทม.
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาใบส่งตัวในพื้นที่กทม.
เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมยื่นหนังสือฯ ประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาชน เขต 13 กรุงเทพมหานคร, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน, เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง เขต 13 กรุงเทพมหานคร, เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง, เครือข่ายแรงงานอกระบบบ, เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายผู้สูงอายุ, เครือข่ายผู้พิการ, เครือข่ายคนไร้บ้าน, เครือข่ายกลุ่มเปราะบาง,เครือข่ายเยาวชนและเด็ก, เครือข่ายสตรี, เครือข่ายเกษตร
นายสมศักดิ์ กล่าวภายหลังจากรับยื่นหนังสือฯ ระบุว่า มีความเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยในประเด็นข้อเรียกร้อง กรณีใบส่งตัวและที่ผ่านมาไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม
คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อหารือกรณีใบส่งตัวผู้ป่วยจากคลินิกชุมชนอบอุ่น พร้อมยืนยันว่า ในกรณีที่เจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยนวัตกรรมตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ประชาชนสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์ (โลโก้) “30 บาทรักษาทุกที่” ก็สามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่ต้องขอใบส่งตัว
3. จะเห็นว่า ท่าทีการรับรู้ต่อปัญหาจริงที่เกิดขึ้นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับนโยบาย ยังพยายามเน้นไปในเรื่องเชิงนโยบายที่ฝ่ายการเมืองนำมาหาเสียง ทั้งๆ ที่ ต้องยอมรับเสียก่อนว่าจุดที่มันมีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ แล้วจะแก้อย่างไร เพราะไม่ใช่ประชาชนทุกจุด ทุกคน จะเข้าถึงแนวทางตามที่นโยบายหาเสียงของฝ่ายการเมือง
เป็นท่วงทำนองการรับรู้ต่อปัญหา ที่ดูเหมือนไม่อยากจะยอมรับว่ามันมีปัญหาซึ่งเสี่ยงที่จะไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง โดยซุกปัญหาไว้ต่อไป โดยอ้างว่า ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาแบบนี้
นั่นจะเป็นความเลวร้ายที่สุดของการบริหารระบบประกันสุขภาพของประชาชน
โศกนาฏกรรมของระบบจะเกิดขึ้น หากผู้บริหารทิ้งประชาชนที่เจอปัญหาจริงๆ โดยฝ่ายนโยบายเลือกจะไปโฟกัสเฉพาะส่วนที่เป็นภาพบวก เพื่อหวังผลทางการเมือง
4. “เบี้ยวหนี้-เหนียวหนี้” รพ.รับส่งต่อ หรือ OP refer
ปัญหาข้างต้น ยิ่งตอกย้ำสภาพปัญหาที่ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เคยสะท้อนเอาไว้ทั้งหมด
จนกระทั่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ ตัดสินใจทำโครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ป่วยที่เจ็บปวดกับปัญหาการส่งต่อนั่นเอง
4.1 ความเดือดร้อนจากการขอใบส่งตัวจากคลินิก
โครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” รพ.มงกุฎวัฒนะ ทำเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่เดือดร้อนจากการขอใบส่งตัวจากคลินิก หรือไม่ต้องการรักษากับคลินิก จากคลินิกต่างๆ จากเขตต่างๆ หรือจังหวัดต่างๆ
สามารถตรงมาใช้บริการโครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” รพ.มงกุฎวัฒนะ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากคลินิก ไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิก
นพ.เหรียญทองยืนยันว่า ขอเพียงแค่ท่านเป็นสุภาพชน ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย กัดฟันพึ่งตนเอง จ่ายค่ารักษาเองในราคาถูกเท่า รพ.รัฐ มีมารยาทสังคม ไม่เอาแต่ใจ ไม่อวดเบ่ง ไม่อันธพาล
เกเร ไม่สูบบุหรี่ใน รพ. ทิ้งสิ่งของเลอะเทอะใน รพ. ... เพียงแค่นี้ท่านก็ตรงมาใช้บริการโครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” รพ.มงกุฎวัฒนะได้แล้ว
หากท่านต้องแอดมิทเข้านอนรักษาตัวใน รพ. ไม่ต้องจ่ายเงิน สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้สปสช. จ่ายค่ารักษาให้
ผลปรากฏว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเดิมจาก 35 คลินิกที่ รพ.มงกุฎวัฒนะเคยเป็นแม่ข่าย หันมาใช้บริการโครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” รพ.มงกุฎวัฒนะกันเป็นจำนวนมาก
เพราะไม่ต้องการเริ่มต้นการรักษากับ รพ.ใหม่ที่ต้องเดินทางไกล ค่าเสียเวลาขอใบส่งตัวค่าเสียเวลาเดินทาง ค่ารถ รวมแล้วแพงกว่าค่ารักษา ราคา รพ.รัฐที่พอๆ กับค่ารถไป-กลับ
ทั้งยังมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่เดือดร้อนจากการขอใบส่งตัวจากคลินิก หรือไม่ต้องการรักษากับคลินิกอื่นๆ จากเขตต่างๆ หรือจังหวัดต่างๆ ก็ตรงมาใช้บริการโครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” รพ.มงกุฎวัฒนะกันเพิ่มมากขึ้นทุกวันด้วย
ถึงขนาดมีผู้ป่วยจาก จ.นราธิวาส เดินทางมาใช้บริการโครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม” รพ.มงกุฎวัฒนะ
“3,000 บาท ผ่าตัดทุกโรค ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ไม่ต้องรอผ่าตัดนานข้ามปี”
ทั้งหมดนี้ ตอกย้ำปัญหาของระบบหลักนั่นเอง
4.2 “เบี้ยวหนี้-เหนียวหนี้” รพ.รับส่งต่อ หรือ OP refer
ล่าสุด นพ.เหรียญทอง โพสต์ให้ข้อมูลน่าสนใจ ระบุว่า
“เรียน ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เดือดร้อนจากคลินิกต่างๆ ทั่ว กทม.ว่า
สาเหตุความเดือดร้อนของท่านทั้งหลาย เกิดจากระบบส่งต่อจากคลินิกไปยัง รพ.รับส่งต่อ หรือ OP refer ที่ สปสช. ร่วมกับคลินิกมีการปรับปรุงระบบใหม่ เมื่อ 1 มี.ค. 2567
โดย สปสช. โอนเงินเหมาจ่ายรายหัวให้แก่คลินิก
แต่ สปสช. มีการกันสำรองเงินส่วนหนึ่งสำรองไว้เพื่อหักจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ รพ.ที่รับส่งต่อจากคลินิก ตามรายการตรวจที่ต่ำกว่าทุน
จนทำให้ รพ.รับส่งต่อใน กทม. ทุกแห่งขาดทุน
ที่สำคัญ คือ การที่ สปสช. จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่ รพ.ที่รับส่งต่อได้นั้น คลินิกต่างๆ ที่ส่งต่อผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติเสียก่อน
แต่ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 - 30 ก.ย. 2567 ระยะเวลา 7 เดือนเต็ม ที่คลินิกทั่ว กทม. ส่วนใหญ่ “เบี้ยวหนี้-เหนียวหนี้” ด้วยการไม่ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลที่ตนเองออกใบส่งตัวไปยัง รพ.
อีกทั้งหากตรวจสอบแล้วก็มักจะปฏิเสธการจ่ายหนี้ ทั้งๆ ที่ คลินิกเป็นผู้ออกใบส่งตัวผู้ป่วยมายัง รพ.เองแท้ๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ สปสช. ก็ไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาให้แก่ รพ.ที่รับส่งต่อจากคลินิก รพ.ทุก รพ.ใน กทม. จนเกิดปัญหาหนี้สะสมเสมือน “ดินพอกหางหมู”
สำหรับ รพ.มงกุฎวัฒนะที่รับส่งต่อผู้ป่วยจาก 35 คลินิก ต้องประสบปัญหาขาดกระแสเงินสด-ขาดทุน จนจำเป็นต้องยกเลิกการรับส่งต่อจาก 35 คลินิก
เพราะ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ได้รับเงินค่ารักษาจากการที่คลินิกส่งต่อผู้ป่วย จนไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแพทย์-ค่ายา-ต้นทุนในการรักษาผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากคลินิกได้
ณ ปัจจุบัน วันที่ 13 พ.ค.2568 นานกว่า 14 เดือนเศษแล้ว ยอดหนี้ค่ารักษาพยาบาลข้ามปีจากการส่งต่อผู้ป่วย สปสช. ก็ยังไม่เคลียร์ให้ตามที่ สปสช. ตกลงโดย พญ. ล....ผู้แทน เลขาธิการ สปสช (นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี) ได้เดินทางมาพบผมและยืนยันการชำระหนี้ค่ารักษาเมื่อต้น มี.ค.2567
ตราบจนปัจจุบัน สปสช. ยังไม่จ่ายหนี้ค่ารักษาจากการที่คลินิกส่งต่อผู้ป่วยแม้แต่บาทเดียว ...
อีกทั้ง สปสช. ยังเบี้ยวหนี้ค่าแพทย์-ค่าบริการของ รพ.ที่กำหนดไว้ในรายการค่าบริการ หรือ Fee schedule มากกว่า 23 ล้านบาทอีกด้วย
หนี้จากกรณี OP refer ที่ สปสช. และคลินิก เบี้ยวหนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะ โดยสรุปดังนี้
1. หนี้จากกรณี OP refer จากการส่งต่อผู้ป่วยนอกมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ระหว่าง ก.ค.2563-ก.ย.2563 จำนวน 13.2 ล้านบาทเศษ (ฟ้องศาลปกครองไปตั้งแต่ เม.ย.2564
ตราบจนปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าจากศาลปกครอง)
2. หนี้จากกรณี OP refer จากการส่งต่อผู้ป่วยนอกมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ระหว่าง1 มี.ค.2567- 30 ก.ย.2567 จำนวน 25 ล้านบาทเศษ (อยู่ในระหว่างการดำเนินการของ สปสช.
แต่นานกว่า 14 เดือนแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าจาก สปสช.)
3. หนี้จากกรณี OP refer เฉพาะค่าแพทย์-ค่าบริการ รพ. จากการส่งต่อผู้ป่วยนอกมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ระหว่าง 1 มี.ค.2567- 31 ม.ค.2568 จำนวน 23 ล้านบาทเศษ (คณะอนุกรรมการ
หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต กทม. มีมติไม่จ่ายค่าแพทย์ ...พูดง่ายๆ ว่า ชักดาบ ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะควักเนื้อ จ้างแพทย์เอาเองครับ)” - ...” – พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าว
คำถาม คือ ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น และดำรงอยู่ สะสมปัญหาพอกหางหมูต่อไปอยู่ทุกวัน ได้อย่างไร?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี