ปิดฉากการแจกเงินหมื่นเฟส 3-4 ที่เหลือไปเรียบร้อย แต่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นออกมาแทน
1.เมื่อวานนี้ (20 พฤษภาคม 2568) นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบาย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่เห็นชอบในการทบทวนค่าใช้จ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2568 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้รับฟังข้อเสนอแนะจากหลายฝ่าย อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เสนอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จึงจำเป็นต้องเร่งปรับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างรากฐานการเติบโตในระยะยาวและการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีการดำเนินการปรับแผนการดำเนินการ การดำเนินการปรับเปลี่ยนเงินเพื่อนำไปลงทุนต่อโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการดำเนินการเพื่อใช้ในการลงทุนต่อด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ซึ่งในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมจะให้ทางด้านกระทรวงการคลังรายงานต่อไป
“..ในอนาคตสถานการณ์ดีขึ้น และการแจกเงิน 10,000 บาท เป็นคำตอบของการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า รัฐบาลก็อาจจะกลับมาดำเนินโครงการต่อ ยืนยันว่าทุกนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ประเมินแล้วว่าสามารถทำได้จริง แต่ไม่ทราบว่าจะมีประเด็นกำแพงภาษีสหรัฐฯ เข้ามาแทรก เพราะเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดการณ์ อีกทั้งการแจกเงินใน 2 เฟสแรก รัฐบาลก็สามารถทำได้จริง พร้อมยอมรับว่า หลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะต้องลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน แต่เงินงบประมาณฯ ไม่ได้หายไปไหน เพราะจะไปอยู่กับโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่รายบุคคล” – นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์กล่าว
เป็นอันว่า งบโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือการแจกเงิน 10,000 บาท ที่เตรียมดำเนินการในระยะที่ 3–4 อยู่ในงบกลาง 1.5 แสนล้านบาท ก็ชะลอไปก่อน
เพื่อเอาเงินก้อนนี้มาทำโครงการอื่น เน้นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เช่น การสนับสนุน SMEs การส่งเสริมการจ้างงาน และการลงทุนในโครงการผลิตภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกท่ามกลางวิกฤตการค้าโลก
2. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ ที่จะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1.57 แสนล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) โครงสร้างพื้นฐาน
ด้านน้ำ ประกอบด้วย (1) ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง (2) กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ และ (3) พัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา
ด้านคมนาคม ประกอบด้วย (1) แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง (Bottleneck/Missing Link) (2) เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง (3) แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและถนนเสมอระดับ (4) ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ (5) ปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่การผลิต
(2) การท่องเที่ยว
ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ป้ายบอกทาง (2) พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว (3) พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และ (4) กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองรอง
(3) ลดผลกระทบภาคการส่งออก/เพิ่มผลิตภาพ
ด้านการเกษตร เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม
ด้านการลดผลกระทบแรงงาน สนับสนุนมาตรการการเงินการคลังสนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ประกอบการส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้กับกองทุนประกันสังคม
ด้านดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและการค้าระหว่างประเทศ
(4) เศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ
กองทุนหมู่บ้าน (SML) สนับสนุนงบประมาณแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ พัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชนที่เป็นความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในพื้นที่ โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ
นี่คือโครงการที่จะมาแทนการแจกเงินหมื่นเฟส 3-4
3. มีข้อสังเกตน่าสนใจว่า รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์หยุดแจกเงินหมื่น อาจเป็นเพราะใช้งบขัด รธน.?? หรือไม่
คุณนิรชน ชัยธรรม เขียนบทความตั้งข้อสังเกตในเว็บสำนักข่าวอิศรา เนื้อหาใจความสำคัญบางตอน อาทิ
“โครงการแจกเงินหมื่น 5 แสนล้านบาท ที่แจกไปแล้ว 2 เฟส ให้กับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท จะเดินต่อหรือพอแค่นี้
เพราะเฟส 3 ที่จะแจกให้กับกลุ่มวัยรุ่นอีก 2.7 หมื่นล้านบาท ได้ถูกชะลอนำเสนอเข้า ครม. ส่อแววว่าอาจหยุดลงแค่ 2 เฟส เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาอย่างมากในการหางบประมาณที่ถูกต้องมาใช้ดำเนินการตั้งแต่เฟส 1
ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูกรอบงบประมาณของ เฟส 1 ที่ตั้งไว้สูงถึง 1.45 แสนล้านบาท เพื่อแจกให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการกว่า 14.5 ล้านคน เป็นการดึงเอางบลงทุนจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 122,000 ล้านบาท มาใช้แจก ซึ่งประชาชนที่รับแจกสามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างอิสระ โดยไม่มีระบบควบคุมให้นำเงินไปใช้ลงทุนหรือซื้อสินค้าทุน ล่อแหลมที่จะถือว่าแปลงเอางบลงทุนใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่ผ่านการเห็นชอบจากทั้ง 2 สภามาแล้ว ไปใช้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งทำให้ ครม.ส่วนหนึ่งที่เป็น สส.หรือสมาชิกของพรรคการเมืองต่างๆ ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนกว่า 10 ล้านคน เป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อันอาจถือว่ามีการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ตนเองมีส่วนได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการใช้งบประมาณจำนวนนี้
....การใช้งบประมาณแจกเงินหมื่นเฟส 1 อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง
ซึ่งเป็นคนละกรณีกับที่คณะบุคคล 4-5 คน ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องการแปรญัตติตัดทอนรายจ่ายเพื่อส่งใช้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ย จำนวน 35,000 ล้านบาท เพื่อนำงบประมาณปี 2568 ไปใช้ในการแจกเงินหมื่นตั้งแต่ เฟส 2 เป็นต้นไป ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง โดยเป็นการกระทำคนละกรณีกัน
การแจกเงินหมื่นของรัฐบาลนายกฯแพทองธารที่ผ่านมา จึงอาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 เฟส
น่าจะเป็นเหตุให้หยุดลงเพียงแค่ 2 เฟส ที่แจกไปแล้ว.....โดยไม่แจกอีกต่อไป”
4. จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การยุติการแจกเงินหมื่นแบบที่ทำมาแล้ว 2 เฟสนั้น เป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง
แต่ประการสำคัญกว่านั้น คือ การบริหารประเทศ จะต้องดำเนินการโดยผู้มีบารมี มีสติปัญญาความรู้ความสามารถ
ไม่ใช่แบบเด็กฝึกงานเล่นขายของอีกต่อไป
ประเทศชาติไม่ใช่ของเล่น
เราเสียเวลา เสียโอกาส เสียทรัพยากรมากเกินไปแล้ว
นี่คือสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ จะปล่อยให้ประเทศชาติอยู่ในกำมือการบริหารแบบไร้บารมี ไร้ทิศทาง แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แบบที่ผ่านมา ไม่ได้อีกแล้ว
เดิมพันคือหายนะของประเทศชาติ อันหมายถึงวิกฤตชีวิตคนไทยทุกคน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี