ในประเทศไทย เมื่อพูดถึง “คอร์รัปชัน”หลายคนมักนึกถึงการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การให้และรับสินบน หรือการทุจริตในแวดวงราชการ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อมั่นในระบบรัฐมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติหนึ่งของคอร์รัปชันที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก นั่นก็คือปัญหาคอร์รัปชันและเพศสภาพ โดยเฉพาะในกรณีของผู้หญิง ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในรูปแบบที่ซับซ้อนและยากจะมองเห็นผ่านตัวเลขหรือดัชนีทั่วไป โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้การพูดถึงคอร์รัปชันในไทยจะมีความตื่นตัวมากขึ้น แต่การขับเคลื่อนในมิติทางเพศยังคงถือว่าอยู่ในวงจำกัด
จากรายงาน The Impacts of Corruption on Women and Their Role in Preventing Corruption โดย Matthew Jenkins (2024) จาก Transparency International เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องกลางๆ ที่ส่งผลเท่าเทียมต่อทุกคน หากแต่ผู้หญิงต้องแบกรับผลกระทบมากกว่าไม่ว่าจะเป็นการจ่ายสินบนเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณะ การถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ(เช่น sextortion) หรือการถูกกันออกจากกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในสังคมที่มีระบบอุปถัมภ์แบบชายเป็นใหญ่
ต้นทุนที่ซ่อนอยู่ : เมื่อคอร์รัปชันเจาะลึกถึงชีวิตประจำวันของผู้หญิง
ในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงมีแนวโน้มที่ต้องพึ่งพาการเข้าถึงบริการสาธารณะเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองมากกว่าผู้ชาย เพราะนอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายในยามเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ผู้หญิงยังต้องการการดูแลด้านสุขภาพเฉพาะทางด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ บริการฝากครรภ์ การคลอดบุตร ฯลฯ ทำให้การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิง
ดังนั้น การเข้าถึงบริการสาธารณะจึงเป็นเสาหลักที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องพึ่งพา โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข แต่การคอร์รัปชันกลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการได้รับบริการสุขภาพ เนื่องจากผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะต้องจ่าย “ใต้โต๊ะ” เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณะมากกว่าผู้ชาย โดยเจ้าหน้าที่อาจเรียกรับสินบนหรือขอแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งกระทบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้หญิงอย่างมาก
ซ้ำร้าย! ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างเพศยิ่งทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบในสถานการณ์เช่นนี้ อ้างอิงตามรายงานของธนาคารโลก ที่ระบุว่าผู้หญิงมักมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือ
สินทรัพย์อื่นๆ ต่ำกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าในการเข้าถึงทรัพย์สิน สินเชื่อ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และเนื่องด้วยผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีศักยภาพทางทรัพย์สินน้อยกว่าผู้ชายนี่เอง จึงทำให้การจ่ายสินบนเป็นตัวเงินนับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสตรีโดยถ้วนหน้าทั้งที่โดยหลักการแล้ว บริการสาธารณะเหล่านี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิง ควรได้รับอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ
Sextortion : เมื่อร่างกายกลายเป็นเครื่องต่อรอง
ปรากฏการณ์ Sextortion หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเพศเพื่อเข้าถึงสิทธิหรือบริการที่ควรได้รับโดยชอบธรรม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในบริบทที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จและไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งผู้หญิงต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศจากเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่บางรายบังคับให้ “มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง” เพื่อแลกกับการอนุมัติเอกสารหรือเร่งรัดขั้นตอนทางราชการ และสิ่งที่ทำให้ปัญหานี้ดำรงอยู่ภายใต้ความเงียบงัน นั่นก็คือ ความละอายความกลัวการถูกตราหน้า และการขาดระบบรายงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง
เมื่อผู้หญิงถูกกันออกจากกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ ในสังคมที่ระบบยุติธรรมยังมีปัญหาคอร์รัปชัน การเข้าถึงความยุติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่มักต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับผลประโยชน์ใต้โต๊ะเพื่อเร่งรัดคดี ระบบตำรวจและศาลที่ยังมีอคติทางเพศ และในบางกรณีก็มีการเรียกรับสินบนเพื่อ “จบเรื่องเงียบๆ” แทนการส่งฟ้องผู้กระทำผิด
อีกทั้ง เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากมีทรัพยากรทางการเงินจำกัดดังที่กล่าวไปในตอนต้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการจ้างทนายหรือเดินเรื่องทางกฎหมาย ทำให้ผู้หญิงต้องหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมแบบไม่เป็นทางการ เช่น การไกล่เกลี่ยโดยผู้นำชุมชน ที่แม้จะเข้าถึงง่ายแต่ก็ไม่สามารถรับประกันความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
จากเหยื่อสู่พลังต้านคอร์รัปชัน : บทบาทของผู้หญิงที่ต้องได้รับการสนับสนุน
แม้ผู้หญิงจะเผชิญกับต้นทุนจากคอร์รัปชันมากกว่าผู้ชาย แต่รายงานของ Jenkins (2024) ยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้หญิงมีส่วนร่วมในระบบการเมืองหรือการตัดสินใจ พวกเธอมักเป็น
พลังสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน!
เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของ Dollar et al. (2001) และ Swamy et al. (2001) ที่พบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภาสูงกว่ามักมีระดับคอร์รัปชันต่ำกว่า และผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติมักส่งเสริมความโปร่งใสและการให้บริการสาธารณะที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะความหลากหลายทางความคิดในกระบวนการตัดสินใจ และเนื่องจากผู้หญิงมีแนวคิดแตกต่างจากชาย ซึ่งช่วยให้เกิดมุมมองที่หลากหลายและตรวจสอบถ่วงดุลได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในบริบทของประเทศไทย การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงยังค่อนข้างต่ำ จากการเลือกตั้งปี 2566 มีผู้หญิงเพียงประมาณร้อยละ 19 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด และผู้หญิงในฝ่ายบริหารระดับท้องถิ่นยังเผชิญกับอุปสรรคจากเครือข่ายอุปถัมภ์แบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในระบบราชการไทย
หากสังคมไทยต้องการลดปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในการตัดสินใจทางการเมือง การปฏิรูประบบราชการให้ปลอดจากอคติทางเพศ และการออกแบบกลไกการรายงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะคอร์รัปชันไม่ใช่เพียงเรื่องของการเงิน หรือความโปร่งใสทางนโยบาย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีมิติทางเพศแฝงอยู่ลึกซึ้ง เราจึงจำเป็นต้องหันมาสนใจผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมต่อผู้หญิง และสนับสนุนบทบาทของพวกเธอในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
การพูดถึงผู้หญิงในฐานะเหยื่อของคอร์รัปชันอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่เราต้องไปให้ถึง คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกมใหม่ที่ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเพศสภาพ
อ้างอิง
Bergen: U4 Anti-Corruption Resource Centre, Chr. Michelsen Institute (U4 Helpdesk Answer 2024:35)
Dollar, D., Fisman, R., & Gatti, R. (2001). “Are Women Really the ‘Fairer’ Sex? Corruption and Women in Government.” Journal of Economic Behavior & Organization, 46(4), 423–429.
Jenkins, M. (2024). The impacts of corruption on women and their role in preventing corruption. Bergen: U4 Anti-Corruption Resource Centre, Chr. Michelsen Institute (U4 Helpdesk Answer 2024:35)
World Bank. (n.d.). Assets - Home | Gender Data Portal. Retrieved from https://genderdata.worldbank.org/en/topics/assetsํ
ธนากาญจน์ กันทอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี