นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน โดยเชื่อว่าโอกาสยุบสภาเป็นไปได้ยาก แม้แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาขัดแย้ง เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกัน คือ เป็นรัฐบาล ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยนั้น ตนมองว่าเป็นการต่อรอง ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีปัญหากับขั้วอนุรักษ์นิยม ยังมองว่าเป็นปัญหาเพราะมีคนเกลียดจำนวนมาก แม้จะมีดีลแต่เรื่องยังไม่จบ
“เมื่อดีลไม่จบ ต้องกลับมารับโทษ พูดจริงๆ นายทักษิณไม่ควรที่จะกลัวคุกมากจนเกินไป เพราะคนที่เคยร่วมต่อสู้มาในอดีตเข้าคุกกันมาแล้วทั้งนั้น หากนายทักษิณเข้าคุก ไม่ต้องยากลำบากเหมือนพวกเยาวชน อดีตแกนนำเสื้อแดง หรือคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ ในฐานะที่รู้จักกันมามีคำแนะนำว่าให้เข้าคุกเหมือนกับคนอื่นดีที่สุด จะเป็นทางที่นายทักษิณไม่ต้องไปเสียชีวิตอยู่เมืองนอก และจะทำให้อยู่รอดได้” นางธิดากล่าว
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผม “เห็นด้วย” กับ“นางธิดา”
1.ทักษิณควรเข้าคุก เพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ หยุดเห็นแก่ตัว
2.ทักษิณได้เยอะกว่าที่ควรได้แล้ว โดยเฉพาะการได้รับพระมหากรุณาธิคุณ “อภัยลดโทษ” จากโทษที่ศาลตัดสินจำคุก 8 ปี เหลือแค่ 1 ปี ทำไมไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเคารพในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรง “อภัยลดโทษ” ให้
3.ถึงที่สุด หากกระบวนการพิสูจน์ได้ว่า ทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤต จนเป็นเหตุผลอันชอบที่จะอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจได้ จะไม่ใช่แค่ทักษิณเท่านั้นที่ “ติดคุก”
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ชี้ว่า มีแนวโน้มที่นายทักษิณจะต้องกลับมาติดคุก เพราะชัดเจนว่า หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 8 ปี และทักษิณได้ขอพระราชทานอภัยลดโทษ โดยได้รับพระราชทานลดโทษเหลือติดคุก 1 ปี แต่ที่ผ่านมาทักษิณไม่ได้ถูกจำคุกแม้แต่เพียงวันเดียว ซึ่งหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวนแล้ว เห็นว่าทักษิณยังไม่ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา และมีการสร้างข้อมูลเท็จเรื่องอาการป่วยเพื่อให้ทักษิณได้ย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจแทนการรับโทษจำคุกในเรือนจำ ก็เป็นไปได้ 2 ทาง คือ
แนวทางแรก ศาลอาจจะมีคำสั่งให้ทักษิณติดคุก1 ปี ตามที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ
แนวทางที่ 2 ศาลอาจจะสั่งให้ทักษิณต้องเข้ารับโทษจำคุก 8 ปี ตามคำพิพากษาเดิมก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เนื่องจากเห็นว่าในการขอพระราชทานอภัยโทษของทักษิณนั้น ได้อ้างว่า “เคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา แต่ขณะนี้อายุมากและมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” แต่จากการไต่สวนพบว่าทักษิณไม่ได้เคารพในกระบวนการยุติธรรม และไม่ได้มีอาการป่วยถึงขั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างที่กล่าวอ้าง จึงเท่ากับเป็นการทูลเท็จเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ
และจากกรณีที่มีการทูลเท็จดังกล่าวก็อาจจะมีผู้ไปดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับนายทักษิณอีกคดีหนึ่งด้วย จึงอาจทำให้ทักษิณต้องรับโทษจำคุกจากทั้งสองคดีเป็นเวลามากกว่า 8 ปี
ส่วนบุคคลอื่นๆที่ร่วมช่วยเหลือให้นายทักษิณไม่ต้องรับโทษในคุกก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ที่อ้างว่าทำการรักษานายทักษิณ และอาจรวมถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ด้วย
โดยบุคคลที่ช่วยเหลือให้นายทักษิณไม่ต้องรับโทษในคุกจะมีความผิดในหลายกระทงด้วยกัน อันได้แก่
1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ความผิดฐานทำเอกสารเท็จและใช้เอกสารเท็จ อาทิ หากนายทักษิณไม่ได้ป่วยขั้นวิกฤตแต่มีการทำเอกสารเท็จว่านายทักษิณป่วยหนักต้องย้ายออกจากราชทัณฑ์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ จนเกิดเป็นเอกสารส่งตัวนายทักษิณ, กรณีที่โรงพยาบาลตำรวจไม่ได้มีเวชระเบียนซึ่งบันทึกการรักษานายทักษิณอยู่จริง แล้วไปทำขึ้นมาหรือไปเขียนข้อมูลการรักษาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
นอกจากนั้นยังมีเอกสารที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้ที่เกี่ยวข้องเซ็นเพื่อให้นายทักษิณสามารถอยู่นอกเรือนจำขณะที่ยังต้องโทษคุมขัง เนื่องจากกฎกระทรวงเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษานอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้
- กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ
- กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทราบ
ทั้งนี้ นายทักษิณนอนอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเวลา 143 วัน โดยกรณีที่ทักษิณออกจากเรือนจำไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เกิน 60 วัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องลงนามให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อ โดยระบุว่าเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ และนำเสนอต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบ และเมื่อทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบ ซึ่งการทำและใช้เอกสารเท็จ จะเป็นความผิด
ตาม มาตรา 264 เรื่องการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดสร้างขึ้นหรือบางส่วนของเอกสารอันเป็นเท็จ หรือเพิ่มเติมเอาจาก หรือแก้ไขด้วยวิธีการใดๆ ซึ่งเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราหรือลงลายมือชื่อเท็จในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือประชาชน ถ้าการกระทำดังกล่าวได้กระทำเพื่อทำให้บุคคลใดเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ตามมาตรา 161 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท”
และความผิดตามมาตรา 162 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(2) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
และหากนำเอกสารเท็จดังกล่าวไปแถลงต่อศาลซึ่งได้เรียกไต่สวน ก็จะมีความผิดตาม มาตรา 177 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรกได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
“ถ้าคุณทักษิณไม่ได้ป่วยจริง แต่คุณมาบอกว่าคุณทักษิณป่วย ก็มีความผิดตามมาตรา 157 ถ้าทำเอกสารเท็จเพื่อรับรองว่าคุณทักษิณป่วยหรือเพื่อนำคุณทักษิณออกไปพักนอกเรือนจำ ก็มีความผิดตามมาตรา 161 ,162 และ 264 ซึ่งหากมีการกระทำผิดดังกล่าวซ้ำหลายครั้ง ศาลก็อาจจะพิจารณาลงโทษในทุกมาตรา ซึ่งอาจมีโทษสูงสุด จำคุกถึง 30 ปี งานนี้น่าจะติดคุกกันกราวรูด ตั้งแต่ผู้บัญชาการเรือนจำอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติกรรม ไปยัน รมว.ยุติธรรม รวมถึงแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจและแพทย์ที่ทำการรักษาคุณทักษิณ เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ เซ็น 1 ครั้ง ก็คิดเป็น 1 กรรม และถ้าหากเอาเอกสารเท็จไปแถลงต่อศาลอีกว่าคุณทักษิณป่วยจริงก็จะเข้าข่ายเบิกความเท็จซึ่งมีความผิดอีก มีโทษจำคุก 5 ปี
หรือแค่เบาะๆ ถ้าศาลพิจารณาว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล คือ ศาลเรียกให้มาชี้แจงแต่กลับเอาเอกสารเท็จมาหลอกลวงศาลอีกถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล แค่นี้ก็อ่วมแล้ว” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
13 มิถุนายนนี้ แล้วครับ ที่ศาลนัดกรณีศาลไต่สวนเรื่องการ “บังคับโทษจำคุก” ทักษิณ ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร คนไทยทุกคนควรติดตาม!
จิตกร บุษบา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี