วันก่อนได้ทำบทความเรื่องอานาปานสติวิหาร ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในการเจริญสติ สมาธิและปัญญา ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธโดยทั่วไปขาดความรู้ ความเข้าใจ และมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสอน ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสรรเสริญไว้เป็นอันมาก
ดังนั้นในสัปดาห์นี้จึงขอขยายความอานาปานสติวิหารนั้นต่อไป เพื่อเชิญชวนพี่น้องชาวพุทธทั้งหลายได้ทำความศึกษา ได้ทดลองปฏิบัติเพื่อสัมผัสกับรสชาติแห่งพระธรรมให้สมกับที่เป็นชาวพุทธ
ซึ่งต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการศึกษาและปฏิบัติอานาปานสตินั้นแม้พระสูตรเดียวนี้ก็จะมีความสมบูรณ์ทั้งในเชิงปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ มีผลเสมอเท่ากับได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระไตรปิฎกทั้งหมด ดังนั้นก่อนถึงวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ตรัสแสดงอานาปานสติเมื่อครั้งโพธิกาล คือในวันเพ็ญเดือน 12 จึงเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายจะได้น้อมใจลองลิ้มชิมรสพระธรรมกัน
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่าการเข้าถึงซึ่งความบริสุทธิ์ ความหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย แม้การเข้าถึงซึ่งพระนิพพานนั้นไม่สามารถนั่งนึกเอาเองได้ หรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการอ่านหนังสือ หรือด้วยการสอบบาลี หรือด้วยการศึกษาด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะระดับชั้นปริญญาเอกหรือชั้นไหนก็ตาม
เพราะการศึกษาเหล่านั้นไม่สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เสมอด้วยอานาปานสติเลย
แต่ก็ควรทำความเข้าใจร่วมกันด้วยว่า แบบแผนในการศึกษาและปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนนั้นทรงตั้งแบบแผนการศึกษาและปฏิบัติไว้สำหรับชาวโลกทุกหมู่ทุกคณะทุกเพศทุกวัย ยกเว้นก็แต่พวกปทปรมะบุคคล ซึ่งเป็นบัวเหล่าที่สี่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่สามารถตรัสสอนได้เท่านั้น
แบบแผนวิธีปฏิบัติเพื่อเจริญสติ สมาธิ ปัญญา และเพื่อถึงความเป็นอิสระสูงสุดนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้รวมทั้งสิ้น 36 วิธี
ได้แก่ กสิณ 10 วิธี อสุภกรรมฐาน 10 วิธี อนุสติ 10 วิธี ซึ่งรวมถึงอานาปานสติอยู่ด้วย และวิธีพิเศษอีก 6 วิธี คือ อัปปมัญญา 4 วิธี และ
จตุธาตุววัฏฐาน และอาหาเรปฏิกูลสัญญา สิริรวมแล้วเป็น 36 วิธี โดยในบทความชุดนี้จะมุ่งเน้นอนุสติวิธีเฉพาะอานาปานสติเป็นการเฉพาะ
ซึ่งต้องขอป้องกันความสับสนและความเข้าใจผิดของพี่น้องชาวพุทธในเบื้องต้นนี้ว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น บรรดาตำราทั้งหลายที่ใช้อยู่ได้ระบุกรรมฐานวิธีรวมทั้งสิ้น 40 วิธี ในขณะที่บางประเทศในอุษาคเนย์ได้ระบุกรรมฐานวิธีรวม 38 วิธี ทำไมถึงต่างกันเช่นนั้น?
ก็ขอทำความเข้าใจว่าแต่ดั้งเดิมมาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสจากพระโอษฐ์ กรรมฐานวิธีมีแค่ 36 วิธี หรือ 36 แบบเท่านั้น ครั้นเวลาเนิ่นนานไปก็มีปราชญ์บางท่านในพระพุทธศาสนาที่ต้องการสำแดงความวิเศษของสำนักตัวเองว่าเหนือกว่าชาวพุทธหมู่อื่น จึงตั้งแบบวิธีเพิ่มขึ้นอีก 2 รวมเป็น 38 โดยมีคัมภีร์หลักคือคัมภีร์วิมุตติมรรคที่ตกทอดมาตั้งแต่อินเดียเข้าสู่ลังกาและมาจำเริญขึ้นในสำนักอภัยคีรีซึ่งเป็นฝ่ายอรัญวาสีในศรีลังกา
สองวิธีที่เพิ่มขึ้นก็คือได้นำเอาปฐมฌานและตติยฌานซึ่งเป็นรูปฌานสองขั้นในรูปฌานสี่มาตั้งเป็นแบบแผนวิธีเพิ่มขึ้น แล้วอวดอ้างว่าเป็นสำนักที่วิเศษวิโสกว่าชาวพุทธเหล่าอื่น
ต่อมาพระมหาเถระในศรีลังกาในสำนักมหาวิหารซึ่งเป็นพระอารามหลวง ฝ่ายคามวาสี เมื่อเห็นว่าสำนักอภัยคีรีมีแบบแผนถึง 38 แบบ จะโดดเด่นกว่าที่เคยนับถือกันมาแต่ก่อนตั้งแต่โพธิกาลจึงคิดอ่านเกทับบลัฟแหลกตั้งแบบแผนวิธีของสำนักนี้ขึ้นมาเป็น 40 วิธี โดยใช้วิธีคิดอ่านเดียวกันกับสำนักอภัยคีรี และตั้งคัมภีร์หลักคือคัมภีร์วิสุทธิมรรค
แบบแผนที่เพิ่มขึ้นอีกสองแบบจากที่สำนักอภัยคีรีได้ตั้งไว้เป็น 38 แบบ ก็คือการนำเอาทุติยฌานและจตุตถฌานซึ่งเป็นรูปฌานอีกสองขั้นเข้ามาเป็นแบบแผนวิธีของตน แล้วเกทับบลัฟแหลกกันว่าสำนักมหาวิหารมีความวิเศษกว่าสำนักอื่น จนในที่สุดก็ทะเลาะเบาะแว้งทำศึกแก่กันหาได้สมกับการเป็นชาวพุทธแต่ประการใดไม่
โดยเนื้อแท้แห่งพระธรรม องค์แห่งรูปฌานทั้งสี่ไม่ใช่แบบแผนปฏิบัติหรือเป็นกรรมฐานวิธีแต่อย่างใด หากเป็นภูมิธรรมหรือกระบวนการพัฒนาทางจิตหรือขั้นตอนการพัฒนาจากการปฏิบัติที่เมื่อเจริญรูปฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สามและที่สี่ไปโดยลำดับแล้วก็จะสัมผัสรสชาติเหล่านั้นได้เอง จึงจัดเป็นส่วนผล ไม่ใช่ส่วนเหตุ นั่นคือไม่ใช่แบบแผนวิธีปฏิบัติ แต่เป็นผลของการปฏิบัติ
จะเปรียบเทียบให้ดูโดยง่ายก็คือถ้าหากถือเอามรรคผลดังกล่าวเป็นแบบแผนวิธีปฏิบัติกรรมฐานวิธีแล้วไซร้ ผู้เขียนก็สามารถประกาศได้ด้วยว่าแบบแผนวิธีอาจมีถึง 44 วิธี เพราะยังมีอรูปฌานสี่อีกสี่ขั้นที่เป็นผลจากการปฏิบัติ แล้วไฉนเล่าจึงไม่นำมาเป็นแบบแผนวิธีด้วย
ครั้นพระพุทธศาสนาเสื่อมถอยจากประเทศไทยจนต้องไปเชิญพระศาสนามาจากลังกา ดังที่เรียกว่าพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์นั้น คณะทูตสยามก็ไปจำเริญกับราชสำนักศรีลังกา ซึ่งแน่นอนว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็คือความร่วมมือกับสำนักมหาวิหารซึ่งถือคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหลักนั่นเอง
ดังนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่รับสืบทอดมาจากลังกาหรือเรียกว่าลังกาวงศ์นั้นจึงมีคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหลัก และทำให้แบบแผนวิธีที่ร่ำเรียนกันในประเทศไทยกลายเป็นว่ากรรมฐานวิธีมี 40 วิธี ทั้งที่ความจริงแล้วพระบรมศาสดาทรงตรัสไว้เพียง 36 วิธีเท่านั้น และอานาปานสติก็เป็นแบบแผนวิธีที่สำคัญที่สุดที่กำลังแสดงกันอยู่นี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี