ชีวิตคนเราก็แปลก มีบางสิ่งบางอย่าง บางเรื่องบางราว ที่มักจะพัวพันกับชีวิตของเรามาโดยตลอด ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จนอาจเรียกว่าเป็นชะตากรรมก็ว่าได้ ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับชีวิตผมเอง ก็เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะได้เป็นข้อคิด หรือจะเป็นอุทาหรณ์
ย้อนไปสมัยเรียนหนังสือ ก็ได้เล่าเรียนเกี่ยวพันกับเรื่องสงครามการสู้รบ การข่มเหงกดขี่ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่นำไปสู่การล้มหายตายจาก และการพลัดถิ่นฐานแหล่งกำเนิด
ต่อมาในการทำงาน ก็ได้มาร่วมรับผิดชอบในเรื่องผู้อพยพลี้ภัยจากเมืองจีน จากเวียดนาม จากลาว จากกัมพูชา และจากพม่า และยังไปรับทราบการพลัดถิ่นฐานในทวีปต่างๆ ที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะสมาชิกประชาคมโลก โดยเฉพาะในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
มาบัดนี้ เมื่อออกมาจากแวดวงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการการเมืองแล้ว ผมก็ได้มามีบทบาทในกรอบขององค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่มิใช่รัฐ และที่มิแสวงหากำไรในการปกป้องและส่งเสริมหลักนิติรัฐและนิติธรรม หรือการขับเคลื่อนให้การบ้านการเมืองอยู่กันด้วยการเคารพคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และการอยู่ด้วยกันด้วยหลักธรรมาภิบาลด้วยดี บนพื้นฐานของความเสมอภาค ทัดเทียม โอกาส และความปลอดภัย
เรียกได้ว่า ตลอดชีวิตของการเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศร่วม 37 ปี จนมาอยู่ในแวดวงการบ้านการเมืองร่วม 20 ปีเศษๆ (และก็คงจะยาวไปอีกสักพักหนึ่ง) ผมคือผู้หนึ่งที่มักจะได้รับหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นฐานของมวลมนุษย์ในแง่ของผู้อพยพลี้ภัย ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่นฐาน แรงงานพลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว จนไปถึงแรงงานข้ามชาติ
เมื่อได้สัมผัสกับความโหดร้ายของการต้องจากถิ่นฐานบ้านเรือนของผู้อพยพแล้ว ผมพบว่า พวกเราในฐานะชาวไทยนั้นควรมีความภูมิใจต่อบรรพบุรุษ และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่ท่านได้มอบให้ไว้ นั่นคือ มิตรไมตรี ความมีเมตตา และความโอบอ้อมอารีต่อผู้พลัดถิ่นจากต่างแดนทั้งใกล้และไกล ที่ต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่ความร่มเย็นของแผ่นดินสยาม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผมเองมีความตระหนัก ซาบซึ้ง ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการจัดทำนโยบาย และมาตรการในการรองรับและดูแลชาวต่างชาติที่หนีร้อนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
มาวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ อยู่ๆ ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า ผมเองก็เคยเป็นผู้อพยพลี้ภัยอยู่ช่วงหนึ่งในวัยเด็ก และได้มีประสบการณ์เป็นผู้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเช่นกัน นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ชักนำให้ผมมีโอกาสได้มาข้องแวะกับเรื่องผู้อพยพลี้ภัย และผู้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานในวัยทำงาน
ผมเองเกิดในช่วงปลายๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลไทยในขณะนั้นเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่น ประเทศไทยจึงถือเป็นคู่ปรปักษ์กับฝรั่งตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยถูกโจมตีทางอากาศเป็นเนืองนิจ
ผู้ที่เล่าเรียนประวัติศาสตร์ หรือมีครอบครัวที่เคยพำนักอยู่ที่จังหวัดกรุงธนบุรี ก็คงจะจำความเรื่องสามแยกไฟฉาย ซึ่งมีชื่อมาจากการติดตั้งไฟฉายขนาดยักษ์ เพื่อส่องขึ้นสู่ท้องฟ้า ช่วยให้ปืนกลต่อสู้อากาศยานมองเห็นเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรได้ จะได้สามารถยิงสกัด รวมทั้งน่าจะจำกันได้ถึงระเบิดที่ตกลงในวัด ที่เรียกกันว่า วัดเลียบ ตีนสะพานพระพุทธยอดฟ้า
คุณแม่ของผมเล่าให้ฟังว่า ผมเกิดที่ รพ.ศิริราช บ้านอยู่ที่ตำบลบ้านขมิ้น หลังกรมอู่ทหารเรือ ระหว่างวัดระฆังฯ กับวัดอรุณฯ ซึ่งถือเป็นบริเวณที่ไม่ปลอดภัยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด พอผมเกิดได้ไม่กี่อาทิตย์ ครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพลี้ภัยไปอยู่ที่จังหวัดพระตะบอง (ตอนนั้นยังถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอยู่) ชั่วคราว
จนอีกครั้งเมื่อประมาณ 10 ปีต่อมา กรุงเทพฯ ได้เกิดกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นการช่วงชิงอำนาจระหว่างฝ่ายทหารเรือ กับฝ่ายทหารบกและทหารอากาศ โดยเครื่องบินกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิด 3 ลูก บนเรือรบหลวงแมนฮัตตัน และบ้านเรือน
รอบๆ กรมอู่ทหารเรือ ซึ่งทำให้บ้านช่องรอบๆ บริเวณนั้น รวมทั้งของครอบครัวผมสั่นสะเทือนไปหมด ระคนกับเสียงปืนยิงโต้ตอบระหว่างทหารไทยด้วยกัน ทำให้ครอบครัวญาติพี่น้องต้องรีบหนีไปอยู่ในสวนผลไม้ ลึกเข้าไปจากบริเวณสู้รบหลายกิโล ระหว่างทางก็เดินบ้างวิ่งบ้าง รวมทั้งต้องถ่อเรือบ้างได้เห็นฝ่ายทหารเรือสวนทางออกไป โดยหลายคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในชีวิตผม ที่ได้เห็นเลือดจากการสู้รบ ในฐานะผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งที่สองในชีวิต
ครั้งที่สาม ต่อมาเกิดขึ้นอีกเกือบ 10 ปีให้หลังจากกรณีกบฏแมนฮัตตัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ซึ่งผม
ไปเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนประจำของพวกบาทหลวงเยซูอิด นิกายคาทอลิกของพวกคริสตัง ที่เมืองบนภูเขาชื่อว่า ดาร์จีลิ่ง ในเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันออก โดยอยู่ไม่ไกลจากเขตแดนอินเดีย และจีน ที่มีข้อพิพาทในเรื่องการปักปันเขตแดนกันอยู่
เมื่อการสู้รบระหว่างจีนกับอินเดียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ผมเองก็ได้รับประสบการณ์การเป็นผู้อพยพลี้ภัยครั้งที่ 3 โดยโรงเรียนถูกสั่งปิด และพวกเราก็ถูกอพยพโดยทางรถไฟเป็น 2 ช่วง คือ รถไฟเล็กไต่เขาลงสู่ตีนเขา
และจากพื้นราบที่เมืองสิริกุรี สู่นครกัลกัตตา เป็นการเดินทาง 2 วัน 2 คืน จำได้ขึ้นใจว่า เป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความหิวโหย แม้กระทั่งเศษกระดูกไก่ เราก็ยังดูดและขบเคี้ยวจนมันเปื่อยเป็นผุยผง น้ำท่าไม่ได้อาบ เมื่อมาถึงนครกัลกัตตาก็ถูกกระจายให้ไปนอนที่โบสถ์คริสต์ต่างๆ โดยพวกเรานอนเรียงกันเป็นตับบนพื้นโบสถ์ หลับไปด้วยความเหนื่อยล้า แต่ก็อบอุ่น และอุ่นใจ เพราะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศและความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง จำได้ว่าเมื่อเราเคลื่อนลงมาจากเขาสู่นครกัลกัตตา จะมีการหยุดขบวนรถไฟของเราเป็นระยะๆ เพื่ออำนวยให้ขบวนทหารอินเดียพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์สับเปลี่ยนรางขึ้นไป โดยพวกเราก็เปล่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจกันเต็มที่ (เนื่องจากสงครามเขตแดนครั้งแรกนี้ อินเดียมิได้ตระเตรียมการ มิได้ตระเตรียมใจมาก่อน และมิได้คาดคิดว่าจีนจะบุกอย่างเต็มที่ส่งผลให้อินเดียแพ้อย่างหลุดลุ่ย และกลายเป็นแผลบาปคาจิตคาใจ ปวดร้าว อับอายขายหน้าชาวอินเดียมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และนี่คงเป็นเหตุหนึ่งที่ ณวันนี้อินเดียมุ่งมั่นที่จะแข่งขันกับจีนในทุกด้าน)
เมื่อการสู้รบซึ่งไม่ได้ใช้เวลานานยุติลง พวกเราก็เดินทางกลับโรงเรียน โดยครั้งนี้ไม่สะบักสะบอมเหมือนขาหนีมา ซึ่งก็มีวิชาเรียนมาเพิ่มขึ้นอีก คือวิชารักษาดินแดน พวกเรานักเรียนได้รับการฝึกอบรมวิธีการใช้อาวุธปืน (รุ่นโบราณจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1)
ณ วันนี้ เมื่อมานั่งคิดทบทวนดู ก็คิดว่าประเด็นปัญหาในระดับประเทศและในระหว่างประเทศนั้น มักจะมีบ่อเกิดจากอวิชชา และความมืดมนในจิตใจของผู้คนไม่กี่คน ที่เอาอำนาจของปวงชนไปใช้ในทิศทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ปัญหาผู้อพยพล่าสุดของโลกเกิดจากเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารที่ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และด้วยงานในฐานะผู้ส่งเสริมผลักดัน และเคลื่อนไหวในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเรื่องสันติภาพ ผมจึงได้เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางในกรอบของงานภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ก็มิใช่การเข้าไปเกี่ยวข้องโดยภาระหน้าที่เท่านั้น หากแต่เป็นการมีส่วนร่วมในฐานะที่ชีวิตตนเองได้เคยสัมผัสการเป็นผู้อพยพลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นฐาน ถือเป็นภาระรับผิดชอบที่พร้อมจะทำด้วยความยินดี และด้วยใจ
ชาวพม่า หรือเมียนมาในวันนี้ ต้องกลับกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศของตนเอง และเป็นผู้พลัดจากสิทธิเสรีภาพ และต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด เพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้องและส่วนหนึ่งก็จำต้องข้ามฟากมาหาความปลอดภัยที่ประเทศไทย ก็ใคร่ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนให้พวกเราชาวไทย
ร่วมกันบริจาคผ่านทางองค์กร และมูลนิธิต่างๆ ที่ทำงานช่วยเหลือ สถานการณ์ในประเทศพม่า เพื่อดูแลผู้อพยพลี้ภัยกันตามกำลังฐานะแต่ละท่าน
เพราะถึงแม้ว่าเราชาวไทยกำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และภยันตรายจากโรคระบาดโควิด-19 ก็ตาม
แต่เมื่อเทียบกันแล้วกับชาวพม่าในวันนี้ พวกเราชาวไทยยังถือว่าอยู่ในสภาพชีวิตที่ไม่ได้ข้นแค้นสาหัสเหมือนเขา ไม่ได้ถูกตามล่า ตามไล่ด้วยกระสุนปืน ก็น่าที่จะแบ่งปันกันคนละเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเพื่อนมนุษย์ชาวพม่าของเราได้บ้าง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี