การเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อองค์กรและต่อสังคมเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลง จนถึงขั้นลบล้างในสิ่งที่เป็นพื้นฐาน รากเหง้า ประวัติศาสตร์ และความเป็นมา เป็นเสมือนการลบล้างรากเหง้าความเป็นมาของตนเอง ทั้งๆ ที่รากเหง้าและความเป็นมานั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย เสียหายประการใดแม้แต่น้อย จึงเป็นเรื่องไม่บังควรเข้าไปเปลี่ยนแปลงด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นผู้ที่มีความเป็นมนุษย์โดยแท้ จึงไม่บังควรเปลี่ยนแปลงรากเหง้าของตนเอง
ประเด็นอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยแปลงรากเหง้า ความเป็นมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยจากพระเกี้ยวที่จำลองมาจากของจริง จนผิดเพี้ยนกลางเป็นโลโก้ของเล่นที่ดูเสมือนว่าเป็นพระเกี้ยว แต่ทว่าโดยเนื้อแท้แล้วมิใช่พระเกี้ยว จึงเป็นคำถามที่สาธารณชนพุ่งประเด็นไปยังผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยุคปัจจุบันว่า ใช้ตรรกะ หรือเหตุผลใดในการสั่งเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์จากพระเกี้ยวเดิมเป็นสิ่งที่ดูเสมือนพระเกี้ยว แต่ในความจริงมิใช้พระเกี้ยว
พระเกี้ยว หรือพระเกี้ยวยอด คือเครื่องประดับครอบพระเกศาจุก ที่ใช้เฉพาะพระราชโอรสและพระราชธิดาเท่านั้น รูปทรงเหมือนมงกุฎขนาดเล็กหรือจุลมงกุฎ ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่าจุลจอมเกล้า พระเกี้ยวคือตราประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้รูปพระเกี้ยวเป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็ก มาตั้งแต่ พ.ศ. 2445 จนกระทั่งได้สถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 67 มีความว่า ..ตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์..
ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนทั่วไปที่ศรัทธาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่างตระหนักดีโดยทั่วกันว่า ตราพระเกี้ยวคือสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตระหนักว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ถือกำเนิดมาจากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
แต่ทว่าในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ที่ใส่ใจในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสังเกตและพบว่าตราพระเกี้ยวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผิดแผกแตกต่างไปจากตราสัญลักษณ์เดิม แต่ทว่าเมื่อพินิจพิเคราะห์แล้วจะพบว่าสัญลักษณ์นั้นมิใช่พระเกี้ยวแต่เป็นการจงใจทำขึ้นมาให้ดูเสมือนว่าเป็นพระเกี้ยว
คำถามคือทำไมจึงต้องเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำไมจึงไม่คงตราสัญลักษณ์เดิมไว้ตราสัญลักษณ์เดิมทำให้ภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียอย่างไรหรือ จึงต้องเปลี่ยนแปลง แต่ที่สำคัญคือเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว เหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงเสียจนไม่เหลือความเป็นพระเกี้ยวที่แท้จริงอีกต่อไป
ย้อนเมื่อสาม-สี่ปีก่อน ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำโครงการ Re-Branding Chula (ปรับภาพลักษณ์องค์กร) ดำเนินการโดยศูนย์สื่อสารองค์กร ซึ่งขึ้นตรงต่ออธิการบดีคนปัจจุบัน (บัณฑิต เอื้ออาภรณ์) โดยมีผู้สอนวิชาด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชื่อ เอกก์ ภทรธนกุล เป็นตัวการคนสำคัญ
เอกก์ ภทรธนกุล สอนด้าน Brand (ตราสัญลักษณ์สินค้า) มีตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าภาควิชาการตลาด แล้วยังมีตำแหน่ง Chief Brand Officer หรือ CBO คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการสืบค้นพบว่าเอกก์เป็นผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลงแบบทั้งรูป Logo & Logotype ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเสนอให้สร้างตราพระเกี้ยวแบบใหม่ขึ้นมา และเปลี่ยนตัวอักษร CU เป็น Chula ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในเขตมหาวิทยาลัย โดยประกาศเป็น Official Logo Brand Signature ซึ่งเรียกว่า Brand Chula
มีคำถามว่า คำว่า Chula หมายถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจริงหรือ เพราะมีสินค้าอื่นๆ มากมายใช้ชื่อว่าจุฬา ดังนั้นสิ่งที่ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถามกันอย่างมากคือ Chula คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระนั้นหรือ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตสัญลักษณ์ที่อ้างว่าเป็นพระเกี้ยวที่ถูกสร้างขึ้นใหม่หลายประการ เช่น ตราสัญลักษณ์ใหม่ไม่ใช่พระเกี้ยว เพราะไม่มีความเป็นลายไทยเหมือนตราพระเกี้ยวดั้งเดิม โดยเฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระเกี้ยว (ไม่นับรัศมี 31 เส้น และหมอนรอง ที่ทำให้ดูเสมือนตราพระเกี้ยวแบบเดิม) คือลายกราฟิก ที่ปราศจากลักษณะเส้นสายลายไทย อันเป็นรูปแบบศิลปะไทยของพระเกี้ยวมาตั้งแต่ถูกใช้เป็นตราประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ส่วนรูปทรงของตราใหม่มิใช่พระเกี้ยวยอด แต่คือรูปทรงสามเหลี่ยมเสมือนหมวก (pointed hat) ทรงกรวยปลายแหลม ในขณะเดียวกัน มีผู้มองว่าเป็นเสมือนรูปทรงสถูปเจดีย์มากกว่าพระเกี้ยว ส่วนอักษรคำว่า Chula ก็ดัดแปลงมาจาก Font Eboracum ที่แจกฟรีทั่วไปอันหาได้แสดงถึงเอกลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่ประการใด แต่ที่สำคัญคือมีการยกเลิกการใช้ Font Chulalongkorn ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยแท้ นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์ว่าการออกแบบไร้ความประณีต ไม่ได้มาตรฐานงานออกแบบตัวอักษร (Typography) ขณะเดียวกัน มีเสียงวิพากษ์ด้วยว่าคำว่า Chula ที่ทำขึ้นใหม่ผิดหลักฮวงจุ้ยซึ่งไม่เป็นมงคล ไม่เหมาะกับการใช้เป็นตราประกอบชื่อของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่า อักษร h ที่ต่อจาก c ถูกตัดขาดออกจากกัน ส่วนอักษร u มีลักษณะเหมือนหันหลังกลับหรือถอยหลังขนาดความกว้างของขาตัวอักษรและแนวเส้นโค้งผิดสัดส่วนไม่ลงตัว ซึ่งประเด็นนี้อาจารย์อาวุโส ผู้เคยสอนวิชา Identity & Typographic Design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ ได้วิจารณ์ความผิดเพี้ยนของงานชิ้นนี้ผ่านสื่อมวลชนไปแล้วเมื่อปลายปี 2563 แต่ทว่าผู้บริหารจุฬาฯ กลับเพิกเฉยไม่ให้ความสนใจ ไม่ทบทวนการใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ โดยอ้างว่าเป็นการ Re-Branding Chula เพื่อให้เป็นสากล และทันสมัยยิ่งขึ้น จนนำไปสู่คำถามว่า ตกลงแล้ว Chula ที่ว่านั้นคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่ และมีคำถามตามมาอีกว่า การRe-Branding Chula ด้วยการเปลี่ยนตราพระเกี้ยวจากแบบที่มีความเป็นไทยให้กลายหมดความเป็นไทย คือการรักษารากเหง้าแห่งความเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระนั้นหรือ
สามารถประมวลคำถามจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตราพระเกี้ยว ได้โดยสรุปดังนี้ เช่น
- เหตุใดผู้บริหารจุฬาฯ ยุคปัจจุบัน ตัดสินใจ Re-Branding ทำไปเพราะ Brand ดั้งเดิมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีปัญหาใดกระนั้นหรือ
- ผู้บริหารจุฬาฯ ชุดปัจจุบันมีอำนาจเปลี่ยน หรือสร้างตราสัญลักษณ์ใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หรือ
- ตราพระเกี้ยว แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปตามจินตนาการของปัจเจกได้กระนั้นหรือ
- ตราพระเกี้ยว ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการได้หรือ
การปรับแก้ เปลี่ยนแปลง หรือการสร้าง Brand ใหม่ เพื่อให้ผู้คนจดจำความสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนตราพระเกี้ยว แล้วตัดชื่อเต็มของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออก จนชื่อนั้นกลายเป็นชื่อสินค้าที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป
อันที่จริงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องสำเหนียกไว้เสมอว่า พระนามจุฬาลงกรณ์คือพระนามที่มีความสำคัญต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากที่สุด และตราพระเกี้ยวก็คือตราประจำพระองค์ในพระเจ้าแผ่นดิน ผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นปฐมบทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ อันนำไปสู่การลบล้างเรื่องราวและรากเหง้าอันดีงามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือสิ่งที่ผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องไม่กระทำเป็นอันขาด เพราะนอกจากจะได้ชื่อว่าไม่รักษารากเหง้าความเป็นมาแล้ว ยังถูกมองได้ว่าไม่มีความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ
ขอย้ำเช่นเดิมว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำเป็นอย่างยิ่ง แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนา มิหนำซ้ำยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อลบล้างรากเหง้าความเป็นมาที่ดีงามของตนเอง คือสิ่งที่ผู้มีปัญญาต้องไม่กระทำเป็นอันขาด
ข้ออ้างเรื่อง Re-Branding Chula ถูกตั้งคำถามโดยประชาคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด แต่ทว่าผู้บริหารจุฬาฯ ไม่สนใจรับฟัง และไม่เคยสำเหนียกถึงรากเหง้าความเป็นมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแม้แต่น้อย
คุณค่าและความสำคัญของตราสัญลักษณ์แห่งสถาบันการศึกษา (Academic Brand) ต้องมีความเฉพาะซึ่งแตกต่างจากตราสินค้าหรือตราขององค์กรธุรกิจทั่วไป (Corporate Brand) ซึ่งเพราะองค์กรธุรกิจทั่วไปเน้นการใช้หลักการตลาดเป็นตัวกำหนดความนิยมทางการตลาดเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงสามารถปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ให้ไหลไปตามกระแสนิยมของตลาดได้โดยไม่มีข้อจำกัดมากนัก ซึ่งผิดกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพทางวิชาการในระดับมาตรฐานโลกคือสถานที่สร้างภูมิปัญญา และการตระหนักในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมอันดีงาม มากกว่าการเน้นสร้างรายได้เชิงการตลาดตามกระแสนิยมที่ไหลไปไหลมา หาความคงที่ไม่ได้
หัวใจของมหาวิทยาลัยคือแก่นของความจริงแท้ (Truth) อันนำไปสู่การเสริมสร้างและบ่มเพาะสติปัญญาให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครปฏิเสธว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องอยู่รอดให้ได้ในเชิงธุรกิจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามหาวิทยาลัยคือแหล่งสร้างสติปัญญา ไม่ใช่แหล่งการสร้างรายได้โดยละเลยสติปัญญาหรือความมีคุณธรรม
ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยุคนี้เคยตั้งคำถามกับตนเองบ้างไหมว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เก่าแก่มีอายุหลายร้อยปีที่นานาชาติให้การยอมรับ (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับไว้สูงกว่า ทันสมัยกว่า และเก่าแก่กว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มากมาย) จึงยังคงเก็บรักษาตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ เช่น Oxford, Cambridge, Imperial College, King College,Harvard, Peking, Tokyo หรืออีกหลายสิบมหาวิทยาลัยในสเปน อิตาลี เยอรมนี จึงไม่เปลี่ยนแปลงตราประจำมหาวิทยาลัย
แล้วหากจะสำเหนียกอีกสักนิด ก็คงจะเห็นว่า แม้แต่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ในประเทศไทย เช่น ธรรมศาสตร์ ศิลปากร เกษตรศาสตร์ มหิดล เชียงใหม่ ต่างก็ยังคงเก็บรักษาตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยเอาไว้ แล้วเหตุใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและแนบแน่นกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก แต่กลับจงใจเปลี่ยนแปลงตราพระเกี้ยว
ระยะเวลา 105 ปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยังไม่นับรวมไปถึงรากเหง้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อครั้งก่อนที่จะใช้ชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีความสำคัญใด ๆ เลยในสายตาของผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยุคปัจจุบันหรือ
ขอย้ำอีกครั้งว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสิ่งมีชีวิต แต่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อนำความเจริญมาสู่องค์กร ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงโดยลบล้างรากเหง้าอันดีงามทิ้งไป ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงโดยอ้างว่าเพื่อให้องค์กรทันสมัยโดยวิ่งตามกระแสความต้องการของตลาด แต่หลงลืมเอกลักษณ์อันดีงามของตนเอง
การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้องค์กรดีขึ้นมาได้ หากเนื้อในยังคงไม่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น การเปลี่ยนเสื้อผ้า การแต่งหน้าตาให้ดูผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม แต่จิตใจยังไม่ได้พัฒนาให้สูงขึ้น ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้คนผู้นั้นเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของชีวิต แต่เพียงแค่เปลี่ยนเปลือกนอกเท่านั้น หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ให้ความสำคัญกับสาระของความจริงและเอกลักษณ์ของตนเอง มั่วแต่วิ่งตามความทันสมัยของโลกโดยที่ไม่ดูเนื้อแท้ของตนเอง ก็เป็นได้แค่เพียงนักลองเลียนแบบเท่านั้น คนชนิดนี้หาได้มีความน่าเคารพศรัทธาเลื่อมใสไม่
คำถามทิ้งท้ายคือ เหตุใดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนตราสัญลักษณ์เดิมของมหาวิทยาลัย หรือคิดว่าการเปลี่ยนเพียงเท่านี้จะทำให้มหาวิทยาลัยมีภูมิปัญญาสูงขึ้น และเป็นที่ยอมรับของนานาสากลหรือ ทำไมจึงไมรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่ดีงามและทรงคุณค่าของตัวเองไว้ หรือว่ารังเกียจรากเหง้าความเป็นมาของตนเองจนทนรับไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อหลอกตัวเอง
น้องใหม่ จุฬาฯ 2520
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี