อ่านบทความนักวิเคราะห์ นักวิจารณ์ตลอดถึงนักการเมืองในบ้านเรากันมากแล้ว วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศนำเสนอบทวิเคราะห์ของ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีซึ่งเป็นสำนักข่าวที่เสนอข่าวการเมืองเป็นหลักแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกามาให้อ่านกันบ้าง ซีเอ็นบีซีทำรายงานพิเศษเรื่อง..
“ฝ่ายอนุรักษ์นิยมผู้ชื่นชมศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์ทำลายความปรารถนาของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้กระสันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย..”
ซีเอ็นบีซี ยกประเด็นสำคัญให้เข้าใจในเบื้องต้นว่า
1.นายพิธาขาดเสียงสนับสนุน 51 เสียงที่ให้เขาได้เสียงข้างมากจากการประชุมร่วม 750 คนสองสภาเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี
2.การประชุมนัดต่อไปเป็นวันพุธหน้าที่พิธาอาจได้โอกาสครั้งที่สอง
3.พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม มาอันดับสองอาจเสนอแคนดิเดตนายกฯเอง เพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯสามคน อาจเสนอคนใดคนหนึ่งเป็นนายกฯเพื่อให้ที่ประชุมร่วมสองสภาพิจารณาวันที่ 19 กรกฎาคม
4.พรรคก้าวไกลเสี่ยงต่อการถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญหลังจากถูกร้องว่าระหว่างหาเสียงเลือกตั้งได้เสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีแผนการแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หลังจากสรุปสี่ประเด็นสำคัญเพื่อให้ผู้อ่านในสหรัฐที่ไม่ค่อยเข้าใจการเมืองประเทศไทยได้เข้าใจแล้ว ซีเอ็นบีซี ก็ได้สาธยายต่อไปว่า นายพิธาอาจได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯอีกครั้งอาทิตย์หน้า ทว่าเส้นทางก้าวขึ้นสู่อำนาจ นายพิธา ดูริบหรี่เต็มที หรืออาจไม่มีโอกาสเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพรรคก้าวไกลยังไม่ยอมถอยจากคำมั่นในการหาเสียงว่าจะแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายปกป้องราชวงศ์ พรรคก้าวไกลและนายพิธาพยายามชึ้แจงว่า การแก้ไขมาตรา 112 เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเนื่องจากว่าในห้วงเวลาสามปีที่ผ่านมามีคนหนุ่มสาว นักศึกษาและประชาชนคนรุ่นใหม่ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ไปแล้วกว่า 250 คน จากจำนวนผู้ถูกกล่าว 1,900 กว่าคน
คำแก้ต่างของพรรคก้าวไกลถูกหักล้างด้วย สส.และสว.ผู้รักเคารพศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าผู้ถูกดำเนินคดี เพราะมีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตัดสินแล้วว่าจำเลยที่โจมตีใส่ร้ายมุ่งทำลายสถาบันพระกษัตริย์ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายพิธาจึงได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 324 คนจากการประชุมร่วมสองสภา 750 คนขาดเสียงเกินครึ่งหนึ่งไป 50 เสียง ทั้งๆ ที่แปดพรรคพันธมิตรแนวร่วมของเขามีคะแนนรวมกัน 311 เสียง แต่วุฒิสภา 250 คนลงคะแนนให้นายพิธา เพียง 13 คน
ในขณะเดียวกันมีความคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า สว.ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยังคงไม่ไว้วางใจพรรคก้าวไกลที่มีวาระต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงการจัดตั้งรัฐบาลจะยุ่งเหยิงยืดเยื้อทางการเมืองในประเทศไทยที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน (ฝรั่งถือว่าอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรกว่า 250 ล้านคน มีฐานเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของอาเซียน)
“หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยืดเยื้อออกไป หรือถ้าสุดท้ายได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้รับฉันทามติจากประชาชนอาจนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่” แกรซ ลิม นักวิเคราะห์ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เขียนบทวิเคราะห์วันศุกร์ที่ผ่านมา...
“การยกระดับความตึงเครียดทางการเมืองยือเยื้อต่อเนื่องอาจทำลายความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพในกรอบการทำงานของสถาบันทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความตึงเครียดทางการเมืองนำไปสู่การบั่นทอนความสามารถของเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งคุณภาพของแรงงานมีฝีมือ..” แกรซ ลิม เขียนในบทวิเคราะห์
การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป คาดว่าเป็นวันพุธหน้า พิธาอาจได้รับเสนอชื่อหากแปดพรรคเสนอเขาหรือไม่ ก็พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนอันดับสอง อาจเสนอชื่อหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกฯที่อยู่ในบัญชีเสียเอง เนื่องจากว่า สว.ส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจพรรคก้าวไกลพิสูจน์ได้จากการลงคะแนนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า สว.จำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในประเด็น มาตรา 112 สว.บางท่านถึงกับกล่าวว่าร่างกฎหมายที่ส่งเข้าสภาเป็นเสมือนการยกเลิกคุ้มครองพระมหากษัตริย์โดยปริยาย พรรคก้าวไกลตอบโต้ว่า เพียงแต่ต้องการทบทวนบางส่วนเพื่อป้องกัน ไม่ให้ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แก้ตัวอย่างไรพรรคอนุรักษ์นิยมและคนรุ่นเก่าไม่อาจรับได้
“และฉันไม่คิดว่าพวกเขา(สว.)จะเปลี่ยนสถานะนี้”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรรณชดา สิริวรรณบุศย์อาจารย์รัฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
พรรคก้าวไกลเสนอแก้กฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ลดบทลงโทษลงมาเท่ากับสามัญชนทั่วไปจากโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี เหลือหนึ่งปีแก่จำเลยดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ส่วนจำเลยดูหมิ่นพระราชินีและรัชทายาท บทลงโทษแค่จำคุกหกเดือน
คนรุ่นใหม่ไทยถูกล้างสมองให้หลงผิดรณรงค์ประท้วงทหาร โจมตีสถาบันถึงขั้นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่ปี 2563 ทำให้คนหนุ่มสาว และนักศึกษา ประมาณ 250 คน ถูกดำเนินคดี จากผู้ถูกกล่าวหา 1,914 คน ประเด็นนี้ซีเอ็นบีซี อ้างรายงานของไอลอว์
นายพิธา บอกกับรอยเตอร์สว่า สว.ไม่ได้โหวตโดยอิสระ และ เขาจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่โน้มน้าวให้ สว.ทำตามฉันทามติประชาชน
“หลายท่านไม่ได้ลงคะแนนดังที่ตั้งใจไว้ ผมเข้าใจว่ามีแรงกดดันมาก และมีสิ่งดลใจบางอย่าง...ผมคิดว่ายังมีเวลาที่จะหาคะแนนเพิ่ม”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ พรรคก้าวไกลแสวงหาแนวทางตัดสิทธิ์ไม่ให้สว.ลงคะแนนเลือกนายกฯโดยเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เข้าสู่วาระประชุมสภา ซึ่งคาดหมายกันว่าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272ได้ในวาระการประชุมสมัยนี้ แต่ก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญ เข้าสภาเป็นการแก้เก้อเพราะรู้ว่าการประชุมร่วมรัฐสภาเขาไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก สว.เพิ่มขึ้นได้
ความทะเยอทะยานอันมีเป้าหมายจะปฏิรูปสถาบัน ยกเลิกระบบทุนผูกขาด และการปฏิรูปกองทัพ ทำให้พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งชัยชนะที่ได้จากการผลักดันผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ ทำให้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยกวาดนักการเมืองอนุรักษ์นิยม และนักการเมืองบ้านใหญ่นายทุนภูมิภาคตกเวทีไปจำนวนมาก หลังจากพรรคนิยมทหารครองอำนาจมานานเก้าปี
พรรคก้าวไกลที่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่นๆเสนอวาระที่อ่อนไหวต่อกลไกปกป้องสถาบัน ซึ่งมันเป็นต้นทางปฏิรูปสถาบัน แต่ไม่สัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ค้ำชู ที่ยังคงดำรงอยู่ ถึงแม้ว่านักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองหลายตระกูลสอบตกการเลือกตั้งได้ถูกกีดกันออกไปจากเวทีการเมืองชั่วคราวก็ตาม
และความเสี่ยงสำคัญยังคงอยู่ที่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่านายพิธาขาดคุณสมบัติเลือกตั้งหรือไม่ และ นโยบายหาเสียงแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพรรคก้าวไกลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นักวิเคราะห์ของมูดี้ส์อินเวสเตอร์ฯ กล่าว นอกจากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่านายพิธาขาดคุณสมบัติสมัครสส.ในกรณีถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อ
“ทั้งสองเรื่องนี้ เหมือนเป็นเส้นขนานที่น่าประหลาดใจเคยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในความผิดถือหุ้นสื่อในบัญชีทรัพย์สิน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรรณชดา กล่าว และสรุปว่า“ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับนายธนาธรและปิยบุตรเมื่อสามปีก่อนกำลังจะเกิดขึ้นกับนายพิธาอีกครั้ง”
บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี จะตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ วันพุธนี้จะได้รู้กัน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี