นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อสภาจับความได้ว่ารัฐบาลนายเศรษฐาเข้าใจว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเติมเงิน 10,000 บาทต่อคนผ่าน Digital Wallet ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นรายจ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น เพื่อดึงดูดนักการลงทุน คอลัมน์นี้ไม่ค่อยได้เขียนเรื่องเศรษฐกิจเนื่องจากไม่มีความชำนาญ ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง มาจากเมืองนอกเมืองนา ทว่าวันนี้ขอทวนกระแสนโยบายเรือธงของรัฐบาลในโครงการเติมเงินใส่ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ให้ประชาชนประมาณ 50 ล้านคน
เมื่อได้ฟังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใส่เงินดิจิทัล เข้าบัญชีให้ชาวบ้านแล้ว อดไม่ได้ที่ต้องใช้สามัญสำนึกแบบชาวบ้านธรรมดา ที่มีลางสังหรณ์ว่า โครงการเงินดิจิทัลจะนำเศรษฐกิจประเทศไทยไปสู่ความหายนะเหมือนกับนโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่เปิดช่องทางให้ทุจริตทางนโยบายซึ่งทำให้ประเทศชาติเสียหายหลายแสนล้านบาท จนถึงวันนี้กว่าเก้าปีผ่านไปยังใช้หนี้ไม่หมด
เงินดิจิทัล 10,000 บาท กับ โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมีความเหมือนและต่างกันอย่างไร? ความเหมือนคือ รัฐบาลไม่มีเงินสนองนโยบายหาเสียงต้องกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ก่อนล่วงหน้า กรณีจำนำข้าวเอาเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์มาใช้ก่อน โครงการเติมเงินดิจิทัลก็เช่นกัน
มีรายงานในเบื้องต้นว่า จะกู้เงินรัฐวิสาหกิจต่างๆ มาประมาณ 500,000 ล้านบาท ใช้สนองนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย นี้คือจุดเริ่มต้นความหายนะ ที่เหมือนกันอีกอย่างคือรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาเดียวกันหมดเท่ากับข้าวทุกเกรด เปิดช่องทางให้มีคนนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาปะปนขายรวมกับข้าวเกรดเอของไทย และจ่ายค่าจำนำข้าวเป็นใบประทวนล่วงหน้า เมื่อถึงเวลากำหนดจ่ายชาวนานำใบประทวนไปขึ้นเงินไม่ได้เป็นเหตุให้ชาวนาที่กู้หนี้ยืมสินมาล่วงหน้าเครียดจนฆ่าตัวตายอย่างน้อยสิบเอ็ดคน
ส่วนข้อจำกัดและเงื่อนไขเงินดิจิทัล ก็มีส่วนคล้ายกันคือ เงินดิจิทัลใช้ได้ในร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนเสียภาษีการค้า และมีกำหนดให้ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่พักอาศัยในทะเบียนบ้าน คนที่ออกข้อกำหนดนี้ คงไม่รู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ที่ซื้อผักปลา อาหารจากร้านค้าหรือหาบเร่แผงลอย รถพุ่มพวงที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าเพื่อเสียภาษีถูกต้อง เช่น ร้านส้มตำข้างทาง ร้านไก่ย่าง ร้านข้าวแกง ร้านขายของชำในชนบทไทย 99% ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเสียภาษี นอกจากนั้นแรงงานชนบทที่ออกจากบ้านไปทำมากินในเมืองใหญ่เกือบ 100% ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านไปตามที่ทำงาน
แต่เงินดิจิทัลโอนเข้าบัญชีตามรายชื่อในทะเบียนบ้านซึ่งต้องใช้เงินดิจิทัลในรัศมี 4 กิโลเมตร หมายความว่า คนที่อยู่ร้อยเอ็ดมาขับแท็กซี่ในกทม.อยากกินส้มตำ ปลาร้า ไก่ย่าง ต้องเดินทางกลับไปกินที่ร้อยเอ็ด หรือ คนภาคใต้ที่ไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือ กทม.อยากกินน้ำบูดู กินข้าวยำ แกงไตปลา อยากกินสะตอก็ต้องกลับไปจ่ายเงินดิจิทัลที่บ้านเกิดและน้ำบูดู ข้าวยำ ไตปลา ปลาร้า สะตอที่ว่านี้มันมีกี่ร้านที่ขึ้นทะเบียนการค้าให้ใช้เงินดิจิทัลได้
ที่สำคัญเงินดิจิทัลไม่เหมือนเงิน electronic money หรือ เงินที่เปิดบัญชี easy banking ไว้กับธนาคารซึ่งเบิกใช้ตอนไหนก็ได้ หรือ เงินที่ รัฐบาลลุงตู่ จ่ายให้ในโครงการคนละครึ่งซึ่งร้านค้าที่ร่วมโครงการสามารถขึ้นเงินได้วันต่อวัน แต่เงินดิจิทัล มันเหมือนคูปอง หรือ คอยน์ (Coin) ที่มีเวลากำหนดว่าขึ้นเงินได้สามเดือนหกเดือนแล้วแต่กำหนด ในระหว่างสามเดือนหกเดือนที่ว่า เจ้าของร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลมาดองไว้จะเอาเงินที่ไหนมาหมุนเวียนซื้อของเข้าร้านวันต่อวัน หรือ เอาเงินที่ไหนมาจ่ายลูกจ้างคนงาน เจ้าของกิจการเอสเอ็มอีอาจต้องฆ่าตัวตายเหมือนชาวนากอดใบประทวนอยู่หลายเดือนแต่เบิกเงินไม่ได้
ในเวลาเดียวกันเงินดิจิทัลตามโครงการของรัฐบาลเข้าบัญชีตามทะเบียนบ้านประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งประมาณการว่าต้องใช้เงินประมาณ 500,000 ล้านบาท หากชาวบ้านที่มีเงินดิจิทัลเข้าบัญชีแล้วไม่ได้จ่ายตามกำหนด จะเรียกเงินอย่างไร? ตรงนี้มีช่องว่างมากมายที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุจริตคอร์รัปชั่น จากการทำบัญชีผีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลทิพย์ได้ เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ในโกดังเก็บข้าวของรัฐบาลบางแห่งฉากหน้ามีกระสอบข้าวกองทับซ้อนกันตั้งแต่พื้นถึงหลังคา แต่เมื่อรื้อกระสอบข้าวสองสามกองแถวหน้าออกมาพบว่าข้างหลังมีแต่โครงเหล็กว่างเปล่า มีแต่ข้าวทิพย์ โครงการเงินดิจิทัลก็เช่นกัน อาจเปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทำบัญชีผีจ่ายทิพย์หมดทั้ง 500,000 ล้านบาทที่เข้าบัญชี 50 ล้านราย แต่จ่ายจริงอาจไม่ถึง 10 ล้านบัญชี จึงสรุปได้ว่านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ หากรัฐบาลดื้อรั้นดึงดันต่อไปโครงการนี้จะสร้างความเสียหายคล้ายโครงการรับจำนำข้าว
ส่วนหนึ่งของการแถลงนโยบายนายเศรษฐา อ่านตามโพยที่เขียนมาว่า....“เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วน ภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้าจนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มา ของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง
นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Walletจะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง...ฯลฯ”
เข้าใจว่าคนที่เขียนโพยให้มีจุดมุ่งหมายตีวัวกระทบคราดโจมตีรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่คำนึงถึงความจริงว่า เศรษฐกิจไทยดีกว่าเพื่อนบ้านหลายเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19จากการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงักมาสามปีและรัฐบาลไทยนี่แหละที่ทำ Pioneer Project #ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก่อนประเทศใดๆ ในเอเชียซึ่งกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวโลกได้เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จำกัด จากจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564มีนักท่องเที่ยวเข้ามาหลักร้อยหลักพันคนบัดนี้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นล้านๆ คน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทย ใน 9 เดือนของปี 2566 (มกราคม–กรกฎาคม 2566) คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 3 ก.ย. 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมทั้งสิ้น 18,076,075 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้ว 755,720 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก อันดับ 1 มาจากประเทศมาเลเซีย 2,920,803 คน รองลงมาคือ จีน 2,230,707 คน เกาหลีใต้ 1,072,928 คน อินเดีย 1,033,582 คนและรัสเซีย 930,696 คน ตามลำดับ
จากจุดเริ่มต้น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 387% ดังนั้น รัฐบาลนี้เพียงแต่ทำตามโครงการที่รัฐบาลลุงตู่ทำไว้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็ไปโลดแล้ว
ส่วนที่นายกฯเศรษฐา แถลงว่า โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อนบ้าน คนเขียนโพยให้นายเศรษฐา มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าด้อยค่ารัฐบาลก่อน โดยไม่มองความจริงว่า ประเทศไทยบริหารจัดการโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศใดในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจผู้เขียนคำแถลงนโยบายไม่ได้อ่านรายละเอียดภาวะเงินเฟ้อของสหประชาชาติที่ว่า..”#เงินเฟ้อของไทยต่ำอยู่ในอันดับ 7 ใน 130 ประเทศทั่วโลก เวเนซุเอลา เงินเฟ้อสูงถึง 404%
ส่วนกระทรวงพาณิชย์ของไทยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0–2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
มาดูอัตราเงินเฟ้อของประเทศเพื่อนบ้านที่นายเศรษฐา แถลงต่อสภาว่า มีผลกระทบน้อยกว่าประเทศไทย ไตรมาสสองปี 2566 ประเทศเวียดนาม มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.6% ซึ่งนับว่าสูงกว่าการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อทั้งปีที่ 4.5% สถาบันสถิติแห่งชาติลาว รายงานว่า อัตราเงินกีบเฟ้อได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนเมษายน 2566 เหลืออัตราร้อยละ 39.89 แต่ก็ยังเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2566 คือ ร้อยละ 41 ซึ่งปรับตัวลดลงในรอบ 18 เดือนหลังจาก อัตราเงินเฟ้อลาวแตะขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 41.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ประเทศกัมพูชา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนไปสู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 7.8 ในเดือนมิถุนายน 2565 ตามราคาน้ำมันและปุ๋ยเป็นสำคัญ ก่อนจะทยอยลดลง ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อตลอด ปี 2565 จะอยู่ที่ 7.5%
จึงอนุมานได้ว่านายเศรษฐาแถลงนโยบายต่อสภาอ่านตามโพยที่มีคนเขียนให้ โดยไม่ได้ศึกษาว่า สภาพเป็นจริงเศรษฐกิจ สังคมไทยเป็นตามโพยที่เขียนมาหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมคล้ายๆกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไปอ่านโพยด่าประเทศไทย ในประเทศมองโกเลียโดยไม่ได้สังเกตล่วงหน้าว่า คนเขียนโพยกำกับว่าเมื่ออ่านโพยเสร็จแล้วก่อนออกโพเดี้ยม ให้กล่าวคำขอบคุณสามครั้ง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ่านตอนจบสปีคว่า Thanks you tree times.
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคำแถลงของนายเศรษฐานั้น ไม่มีนโยบายหาเสียงที่พรรคเพื่อไทย เคยพูดไว้ในหลายเรื่องตั้งแต่รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ด้วย จึงสรุปได้ว่า ประเทศชาติจะหายนะหากรัฐบาลทำตาม นโยบายตบตาประชาชน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี