นายชัยธวัช ตุลาธน รักษาการเลขาธิการพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทั้ง 9 คน ที่มีปรากฏรายชื่อของ นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความครอบครัวชินวัตร และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาคดีข้าวบูล็อค ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและความสง่างาม ว่า
นายกรัฐมนตรีคงต้องมีความระมัดระวังในการที่นำคนที่อาจจะมีประวัติ ซึ่งอาจจะถูกตั้งคำถามในแง่ของความซื่อสัตย์สุจริต การมีทีมงานที่มีประวัติไม่ดีก็อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตัวนายกฯ ได้ ถ้านายกฯ ทบทวนและกลั่นกรองก็เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวัง หากมองว่าคดีความได้สิ้นสุดลงไปแล้วก็ได้ แต่ในทางการเมือง ความคิด และความรู้สึกของสาธารณะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นับเป็นคำเตือนที่ดี แต่ก็มีคำถามว่า ชัยธวัช ตุลาธน ได้เตือนตัวเอง และพรรคก้าวไกลบ้างหรือไม่
1) พรรคก้าวไกลเอง ก็มี “ผู้ต้องหา” สารพัดคดี มาเป็นผู้สมัคร สส. และได้เป็น สส. เป็นความสง่างามประการใด ต่างกันอย่างไรกับกรณี พิชิต ชื่นบาน และ
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
2) บางคนขาดคุณสมบัติ เคยต้องคำพิพากษาจำคุก จนต้องมีการเลือกตั้งซ่อม และต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อันนี้ดีงามอย่างไร มีกระบวนการกลั่นกรองที่เชิดหน้าชูตาแล้วใช่ไหม
3) หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีปัญหาเรื่อง“ถือหุ้นสื่อ” จนต้องพ้นจากการเป็น สส. เป็นถูกตัดสิทธิทางการเมือง หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็อยู่ในกระบวนการตรวจสอบด้วยเรื่องเดียวกัน อยู่ระหว่างศาลสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ อันนี้เรียกว่ามี “ความระมัดระวัง” แล้ว?
4) ปัญหาฉาวโฉ่ของ “รองอ๋อง” นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 นี่ พรรคได้ทำอะไรบ้างไหม ตั้งแต่เรื่อง “เชียร์เบียร์” อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และย่องไปจ่ายค่าปรับ แม้ในทางกฎหมายจะแค่ “เปรียบเทียบปรับ” แต่ในทางจริยธรรม โดยเฉพาะจริยธรรมของพรรค ไม่ได้มีการพิจารณาอะไรกันเลยหรือ? โดยเฉพาะข้ออ้างที่บอกว่า เป็นผลิตภัณฑ์ของจังหวัดพิษณุโลก ได้ตรวจสอบไหม ว่าเพียงแค่ผลิตจากที่อื่น แล้วเอามาให้นักธุรกิจพิษณุโลกจัดจำหน่าย แต่ได้อ้างว่าเป็นสินค้าของพิษณุโลก แล้วประชาชนคนพิษณุโลกได้ประโยชน์อะไร สส.ดีๆ พรรคการเมืองที่เตือนคนอื่นให้ระมัดระวังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ต้องเป็นแบบนี้?
5) ถัดมา เรื่อง “เลี้ยงหมูกระทะ” แม่บ้านสภา พรรคมีท่าทีอย่างไร กับการอ้าง “งบรับรอง” แล้วใช้เลี้ยงแบบนั้น เป็นการใช้เงิน “ถูกประเภท” และ “ตรงตาวัตถุประสงค์” ของการตั้งงบประมาณดังกล่าวหรือไม่ อวดตัวว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ไม่สะดุ้งสะเทือนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคำถามของสังคมบ้างเลยหรือ พูดง่ายๆ ว่า “ไม่อายกันเลยหรือ?”
6) ล่าสุด คือการใช้งบประมาณ บินไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ ที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก และแก้ตัวข้างๆ คูๆ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค มีความเห็นว่าอย่างไรบ้างไหม กับพฤติกรรมของนายปดิพัทธ์ และคณะ ซึ่งเป็น สส.ของพรรคเกือบทั้งหมด
7) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ขอใช้งบประมาณจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 1.3 ล้านบาท เพื่อเดินทางไปดูงานที่สิงคโปร์ โดยมี สส.พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ร่วมคณะเดินทางไปด้วย ว่า เรื่องนี้ตนจะไปร้องให้มีการตรวจสอบจริยธรรม ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ เพราะจะอ้างว่า เป็นการขอไปตามระเบียบการขออนุญาตอย่างถูกต้องแล้ว แต่ประเด็นคือ การใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมากไปใช้ อาจจะไม่คุ้มค่าซึ่งการไปดูงานแค่นี้ ไม่มีผลดีมากเมื่อเทียบกับเงินนับล้านบาท และการนำ สส.พรรคตัวเองเกือบทั้งหมด และมีสส.พรรคเพื่อไทย 1 คน ร่วมขบวนไปด้วย ทั้งที่สส.เหล่านั้นไม่ได้มีอำนาจในเชิงบริหาร ไม่มีหน้าที่ใดๆ ในการบริหารของรัฐสภา แม้จะดูงานได้ แต่ไม่สามารถนำมาปรับปรุงการบริหารของรัฐสภาได้
การนำคนเหล่านี้ติดสอยห้อยตามไป และใช้จ่ายเงินภาษีประชาชนน่าจะเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ดังนั้น การกระทำของหมออ๋องก็น่าจะเข้าข่ายความผิด หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ในการสอบสวน ไต่สวน เอาผิด ทั้งนี้ เบื้องต้น หลักฐานที่ตนมีเป็นหนังสือคำขออนุญาตเดินทางไปดูงานสิงคโปร์จำนวน 5-6 แผ่น เป็นและรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งน่าจะครบองค์ประกอบทั้งหมด นอกเหนือจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย
เมื่อถามว่าจะไปร้องเรียนหน่วยงานอื่นให้ตรวจสอบด้วยหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากไปร้องเรียนที่รัฐสภา ก็อาจจะมีการลูบหน้าปะจมูกกัน ป.ป.ช.ถือว่า เป็นไม้เด็ดสุดแล้ว
“หมออ๋อง เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยรณรงค์เรื่องการไม่ใช้งบฯ แผ่นดินไปในการดูงานต่างประเทศ หรือทัวร์นอก แต่พอตัวเองเข้ามาสู่
ตำแหน่งทางการบริหาร นิติบัญญัติ กลับทำในลักษณะตรงกันข้าม นโยบายการหาเสียงจึงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวเอง ซึ่งเข้าข่ายเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรม” นายศรีสุวรรณ กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาหมออ๋องมักถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้งบประมาณหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องเลี้ยงหมูกระทะ และการไปดูงานสิงคโปร์ ควรมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อตอบสังคมหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า หมออ๋องเป็นเด็กรุ่นใหม่ การคร่ำหวอด หรือเข้าใจในกฎระเบียบของราชการ อาจจะไม่เชี่ยวชาญ ไม่ถนัดมากนัก อาจจะใช้ความรู้สึกส่วนตัว หรือการเอาแต่ใจตัวเองเป็นที่ตั้งหรือไม่ นี่ก็เป็นประเด็น ดังนั้น การที่บุคคลที่อาจจะไม่ช่ำชองในกฎระเบียบมากนัก จริงๆ ต้องมีทีมที่ปรึกษา ที่มีความแม่นในระเบียบ ข้อกฎหมายจำนวนพอสมควร ไม่ใช่คิดอะไร ทำอะไรแล้วก็ทำไปเลยโดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบของราชการ เพราะเงินแผ่นดินคือเงินภาษีประชาชน ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้ว การเอาไปใช้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รังแต่จะก่อให้เกิดผลกระทบ หรือความผิดย้อนกลับมาสู่ตัวเองได้ ดังนั้น ภาครัฐเองควรมีมาตรการในเรื่องนี้ ที่ชัดเจนโดยเฉพาะการกำหนดบทลงโทษของการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า สตง.ไม่ควรอยู่เฉยมองเหตุการณ์นี้ผ่านแล้วผ่านไป แต่ควรออกมาส่งสัญญาณว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ หรือตระหนักร่วมกัน
8) นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pichit Chaimongkol ระบุว่า... เหมือนส่องกระจก มันปกติมาก รองฯอ๋อง ที่เขาจะตรวจสอบการเดินทางตั๋วพิเศษ รับเบี้ยเลี้ยงรายวันของคณะทัวร์ vip ของท่าน มันก็เหมือนที่คนของพรรคของท่าน ไปคอยจับผิด คนอื่นเขานั่นล่ะมันเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่พอพวกท่านไปจับผิดเขาก็พูดใหญ่คำโตว่า “เปลืองภาษีประชาชน” เหมือนที่พรรคท่านจะเล่นสลับเก้าอี้การละคร ที่จะเอาทั้ง ผู้นำฝ่ายค้านและเก้าอี้รองประธานที่ท่านนั่งทับอยู่ ถ้าพรรคอื่นทำพวกท่านก็จะบอก ฮั้วอำนาจ หวงอำนาจ พอพวกท่านทำก็บอกเพื่อภารกิจ 14 ล้านเสียงเดินหน้าต่อ พรรคการละครอะนะ
พรรคก้าวไกลเสนอที่จะยกเลิกสมาชิกสภา ใช้โควตาไปดูงานต่างประเทศ โดยบอกว่าใช้ภาษีประชาชนอย่างสิ้นเปลือง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ คณะรองประธานจึงต้องไปดูงานในเรื่องนี้ที่สิงคโปร์ แล้วนำมาปรับลดที่ไทย เห็นไหมละ ทุกอย่างมันมีเจตนา รอบหน้าคงไปอเมริกา เพราะมีแต่ประเทศอื่นไปดูงานที่นั่น ต้นแบบประชาธิปไตย ที่สภาไทยต้องปรับตาม ไปดูงาน เพื่อนำมาปรับลดการดูงาน #เจตนาดี๊ดี
9) นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ระเบียบดูงานที่ต้องทำความเข้าใจ”
เมื่อ 18 ก.ย.ปีที่ผ่านมา ผมได้พาคณะของกรรมาธิการท่องเที่ยวของวุฒิสภา ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ (ดูจริง) นำโดย ปธ.กมธ. งบประมาณต่อคณะท่านละ สามหมื่นบาท รวมภาษี VAT ไม่ผิดครับ 30,000 บาท 2 คืน ดูงานไปวันอาทิตย์กลับคืนอังคาร ประมาณ 12 ท่าน #ท่าน สว.ไม่ได้นั่งชั้นธุรกิจ
ขอให้ข้อมูลเพิ่มจากข่าวที่ต้องใช้เงินหนึ่งล้านสามแสนกว่า กับจำนวนคนที่ใกล้เคียงกัน ภาษี...กู ระเบียบในการนั่งเครื่องต้องใช้การบินไทย เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่า
สายการบินอื่นมีราคาถูกว่าการบินไทย 25% เท่ากับใช้ได้ครับ
10) นายปดิพัทธ์ ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า
• เป็นการตั้งงบประมาณแบบสูงสุดไว้ก่อน แต่การใช้จ่ายเป็นไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถูกกว่าที่ตั้งงบประมาณไว้อยู่แล้วและเมื่องบประมาณเหลือก็ต้องส่งกลับคืนคลังทั้งหมด (อันนี้ควรเผยตัวเลขที่ใช้จริงออกมา)
• มีระเบียบว่าผมต้องบินด้วยสายการบินแห่งชาติ (จริงครึ่งเดียว เพราะใช้สายการบินอื่นที่ราคาตั๋วต่ำกว่าของการบินไทย 25% ได้ และไม่ได้บังคับว่านั่งชั้นประหยัดไม่ได้ หากมีสำนึกจะประหยัดงบประมาณบินไปสิงคโปร์แค่แป๊บเดียว ไม่ต้องนั่งชั้นหรู มันอยู่ที่สำนึกครับ)
• กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณไม่คุ้มค่านั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขอให้รอดูผลการทำงานของตนหลังจากกลับมาก่อนอย่าคาดการณ์ตั้งแต่ตนยังไม่ไปถือเป็นเรื่องแปลก จึงขอให้รอดูว่าเมื่อไปแล้ว จะมีรายงานอะไรกลับมาบ้าง ซึ่งจัดส่งถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและประธานสภา (ก็ยังไม่ได้ตอบว่า จำเป็นเร่งด่วนอย่างไร เพราะคนสงสัยว่า เร่งรีบใช้งบประมาณค้างท่อเพราะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนตามที่อ้าง)
ที่ตลก หรือจะเรียกว่า “อุบาทว์” ก็ได้ คือ พรรคก้าวไกลเคยทำแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์พรรคตัวเองเอาไว้ว่า
“พวกเราเสนอให้ลดงบประจำ เช่น การไปดูงานเมืองนอก โครงการอบรมสัมมนา โครงการที่ซ้ำซ้อน รวมถึงลดงบกลางที่เป็นเงินสำรอง ที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลเอาไปใช้ได้ตามใจชอบ พรรคก้าวไกลเสนอว่า ควรโยกเงินเหล่านี้มาจัดสวัสดิการที่ดี ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น”
คุณชัยธวัช ตุลาธน ครับ ความย้อนแย้งระหว่าง “การกระทำ” กับ “คำโฆษณาชวนเชื่อ” เช่นนี้ พฤติกรรมแบบ “มือถือสาก ปากถือศีล” อย่างนี้ ท่านมีคำเตือนอย่างไรบ้างไหมครับ?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี