การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีความแข็งแกร่ง เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่รัฐบาลต้องกระทำเป็นอันดับต้นๆ ในการบริหารประเทศ ส่วนการสร้างหนี้สินให้ประเทศ โดยผลักภาระหนี้ให้ประชาชนต้องแบก เป็นสิ่งที่รัฐบาลที่ดีจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง และไม่ควรกระทำ ถ้าหากไม่มีความจำเป็นถึงที่สุด ก็ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินใดๆ เพราะมันคือภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับต่อไป
ไม่มีใครปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยในยุคนี้มีปัญหาฝืดเคือง ทำมาค้าขายภายในประเทศไม่ดีการค้าการขายกับต่างประเทศก็ไม่ดีเช่นกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อไปจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีใครต่อต้านหรือคัดค้านรัฐบาล หากรัฐบาลใช้ดุลยพินิจที่ดีแล้ว ก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่รัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองต้องไม่ใช่การหว่านเงินแบบ helicopter money หรือหว่านเงินแจกไปเรื่อยเปื่อย เพื่อหวังผลให้ได้คะแนนนิยมทางการเมือง แต่กลับทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศพังพินาศ
การอัดฉีดเงินแบบหว่านแห ไร้ทิศทาง สะเปะสะปะรังแต่จะก่อให้ประเทศชาติเสียหาย และยังทำลายวินัยการคลังของประเทศอีกด้วย รัฐบาลที่ดีแต่กู้หนี้ เป็นรัฐบาลที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อประเทศ แม้จะอ้างว่าจำเป็นต้องกู้หนี้มาเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ก็ต้องถามว่าแล้วหนี้ที่รัฐบาลก่อขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่านั้น มันทำให้ประเทศพัฒนาจริงหรือ
การใช้จ่ายเงินงบประมาณแบบเกินตัว ใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย คือการไม่รักษาวินัยการคลังของประเทศ การที่รัฐบาลพยายามจะหว่านเงินผ่านโครงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) โดยรัฐบาลหาเสียงว่าจะจ่ายเงินให้ประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป รายละ 1 หมื่นบาทผ่าน digital wallet ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสำหรับการนี้อย่างน้อย 5.6 แสนล้านบาท คือการสร้างภาระหนี้สินก้อนมหึมาให้ประเทศอย่างชัดเจน ก็ต้องถามรัฐบาลอีกครั้งว่าจำเป็นที่ต้องสร้างหนี้สินก้อนโตเช่นนี้ให้กับประเทศหรือ
รัฐบาลไม่ทราบจริงๆ หรือว่าประเทศไทยมีงบประมาณแผ่นดินจำกัดมาก ในขณะที่ประเทศไทยมีรายจ่ายสารพัดชนิด รัฐบาลต้องสำเหนียกไว้ว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศไทยมีระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ (สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อ GDP แตะระดับ 60 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แล้ว) หนี้สาธารณะของไทยแตะระดับ 10 ล้านล้านบาท หนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
หนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง COVID-19 แพร่ระบาดหนักในไทยเมื่อราวๆ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นจำเป็นต้องสร้างหนี้โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะรัฐบาลต้องหาเงินมาเพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันให้อยู่รอดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงดังกล่าว รายได้ของประเทศลดลง รัฐบาลไม่สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ จึงจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่าย จึงพบว่างบประมาณรายจ่ายของประเทศสูงมาก รัฐบาลประสบปัญหาขาดดุลการคลัง จึงต้องกู้เงินมาเพื่อโปะงบฯ ส่วนที่ขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วหนี้สินของประเทศมีมากกว่าที่ระบุในมูลหนี้สาธารณะ เนื่องจากไม่ได้รวมหนี้อื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น หนี้กองทุนประกันสังคม หนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหนี้สินของธนาคารกลางของประเทศ การนับหนี้สาธารณะว่าเป็นหนี้สินที่เกิดจากการกู้เงินเท่านั้น เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่าประเทศชาติมีหนี้สินต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะจริงๆ แล้วประเทศมีหนี้สินอื่นๆ อีกมาก เช่นหนี้ที่เกิดจากเงินชดเชยต่างๆ ที่รัฐบาลจ่ายให้ประชาชน หรือหน่วยงานต่างๆ เช่น เงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จ่ายอุดหนุนให้เกษตรกรตามคำสั่งของรัฐบาล หนี้ก้อนนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วย แม้ว่าหนี้ก้อนนี้ไม่ได้เกิดมาจากการกู้ยืมโดยรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ
เราจึงพบว่ามีหนี้สินจำนวนกว่า 1.2 ล้านล้านบาทไม่ได้ถูกนับรวมในหนี้สาธารณะของประเทศ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งนับเป็นภาระทางการคลังโดยปริยาย โดยหนี้เหล่านี้เกิดจาก หนี้ที่ก่อโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหนี้ BTS (รถไฟฟ้าBTS) และหนี้ที่เกิดจากเงินที่ต้องใช้คืนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐที่ใช้จ่ายผ่านหน่วยงานรัฐทุกแห่ง เงินที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคม
จะเห็นว่ารัฐบาลไทยในระยะหลังๆ นี้ไม่มีปัญญาหาเงินเข้าคลังหลวงของประเทศ แต่มีความสามารถก่อหนี้สินได้ตลอดเวลา เมื่่อหนี้สาธารณะใกล้จะชนเพดานที่กำหนดไว้ รัฐบาลก็ขยายเพดานหนี้ ซึ่งเรื่องพรรค์อย่างนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีปัญญาสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่มีปัญญาเพียงสร้างหนี้สะสมไว้ให้คนไทยรับภาระ จนมีคำกล่าวว่ารัฐบาลไทยมีความสามารถสร้างหนี้สาธารณะ แต่ไม่มีปัญญาหาเงินเข้าคลังหลวง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี