ปลายสัปดาห์ที่แล้วเกิดประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของอำนาจตุลาการ กรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ คมจ.1/2565 หมายเลขแดงที่ คมจ. 5/2566 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ผู้คัดค้าน
คดีนี้สืบเนื่อง ช่อ-พรรณิการ์ วานิช เคยโพสต์ภาพถ่ายและ ข้อความ ในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงใน “สื่อออนไลน์-เว็บไซต์เฟซบุ๊ก” ชื่อบัญชี “Pannika Chor Wanich” พฤติการณ์นี้เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพ และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 มาตรา 50 อนุมาตรา 1 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯข้อ 6 การที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ไม่ลบหรือนำภาพถ่าย และข้อความดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่สามารถกระทำได้เมื่อมีผู้โต้แย้งเพื่อไม่ให้ปรากฏอยู่และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความกรณีดังกล่าว กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาจึงถือว่าเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น
จริยธรรม เป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคง และความสงบสุขของประชาชน สังคม ประเทศชาติ เพราะประเทศชาติแม้จะได้รับการพัฒนาในด้านวัตถุ เทคโนโลยี ความทันสมัยของวิทยาการต่างๆ มากมายเพียงใด หากแต่ขาดจริยธรรมแล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใดเพราะเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง และเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน
การพัฒนาบ้านเมือง ต้องพัฒนาด้านจิตใจก่อน เพราะการพัฒนาจิตใจของคนในสังคม หมายถึง การพัฒนารากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ เมื่อรากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ถูกเติมเต็มในจิตใจแล้ว การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการพัฒนาด้านอื่นๆ ย่อมเจริญรุดหน้าไปด้วย และถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่สร้างสรรค์
จริยธรรมมิได้จำกัดความหมายอยู่ที่การถือศีลการเข้าวัดปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนาโดยไม่มุ่งทำประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้น หากแต่หมายถึง การประพฤติปฏิบัติโดยวางรากฐานความคิด ความเห็นที่ถูกต้อง การทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เว้นสิ่งที่ควรเว้น กระทำในสิ่งที่ควรทำ ดำเนินชีวิตถูกต้องตามเหตุผล ตามกาลเทศะ ดังนั้น จริยธรรมจึงมีความจำเป็นและมีคุณค่าก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
จริยธรรม เป็นเครื่องควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมให้เกิดการยอมรับในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จริยธรรมจะเป็นเครื่องมือหล่อหลอมให้คนเกิดความรักความสามัคคีต่อกัน ประพฤติปฏิบัติต่อกันด้วยความเอื้ออาทรต่อผู้อาวุโสกว่า และมีความอ่อนโยนต่อผู้ที่ด้อยกว่าทั้งด้านอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือสถานภาพทางสังคม
อะไรคือคุณธรรมจริยธรรมที่นักการเมืองพึงมี
คุณธรรมจริยธรรม คือการอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มากจึงจำเป็นจะต้องมีเครื่องยึดเหนี่ยวบุคคลเหล่านั้นให้อยู่ร่วมกันในสังคมจึงต้องมี “คุณธรรมจริยธรรม” เพื่อเป็นหลักปฏิบัติให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยมีกฎระเบียบประเพณีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อเป็นเครื่องผูกพันไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม ตลอดทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ประโยชน์ที่ได้รับคือความสงบสุขทางร่างกายในสังคม
เพื่อให้นักการเมืองนั้นๆไม่ละโมบโลภทุจริตคอร์รัปชั่นเงินภาษีอากรประชาชนให้เศรษฐกิจสมบูรณ์ โดยมีการวางหลักการสำคัญ 2 อย่าง คือ ศาสนาและเศรษฐกิจ โดยศาสนาเกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้ารู้จักควบคุมตนเอง รู้จักใช้ปัจจัยสี่อย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม สังคมก็สงบสุข ส่วนเศรษฐกิจเป็นเรื่องทางวัตถุถ้าสังคมมีปัจจัยสี่บริบูรณ์ มีการจัดสรรแบ่งปันอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม สังคมก็จะสงบสุข ทำให้สังคมสมบูรณ์แบบ เพียบพร้อมด้วยจริยธรรมอันมีประโยชน์ต่อชีวิตและจิตใจ ที่สำคัญที่สุดคือจริยธรรมมีประโยชน์แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ทางด้านจิตใจของมนุษยชาติในสังคมโลก
จะเห็นได้ว่า จริยธรรมมีความสำคัญทั้งในระดับชีวิตส่วนตัว ซึ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็นผู้มีจิตใจที่ดีงามเกิดความสงบความระลึกได้ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นระดับส่วนรวมซึ่งหมายถึงความสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคม การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมจะนำมาซึ่งสันติภาพในองค์การ ชุมชน สังคม รวมทั้งสร้างสันติภาพในโลก
การมีการศึกษาสูงก็ไม่ได้หมายความว่าวุฒิภาวะและชาติตระกูลจะสูงด้วยไม่ใช่หรือ
ที่ผ่านมา “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช เองก็แสดงพฤติกรรมให้เห็นว่าไม่รู้กาลเทศะ ไร้สามัญสำนึกระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมืองการไร้คุณธรรมจริยธรรมจึงสร้างผลกรรมให้แก่ตน
ทั้งรังสิมันต์ โรม, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไม่เข้าใจจริงหรือมาตรฐานจริยธรรมคุณธรรมนักการเมืองควรเป็นเยี่ยงไร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี