นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลเพื่อไทย
เริ่มที่เส้นทางสายที่รัฐลงทุนเอง
เป็นไปตามที่คาด เพราะหน่วยงานรัฐสามารถ “เด้งรับ” ได้ทันที
แต่ไม่ได้หมายความว่า นโยบายลดแลกแจกแถมแบบนี้ จะไม่มีราคาที่ต้องจ่าย หรือต้นทุนต่อสาธารณะ
1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากเดิม 14-42 บาท เหลือไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล โดยได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะทำให้ ร.ฟ.ท. ต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงต้องจัดทำแผนงานงบประมาณที่ต้องใช้จ่าย ระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่ได้รับ ตามมาตรา 27 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐกำหนด เสนอกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ปัจจุบัน ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ที่ประมาณ 25,000 คนต่อวัน
คาดว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะช่วยให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 และจะทยอยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ของ ร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในส่วนของรายได้รถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะลดน้อยลงไปนั้น ร.ฟ.ท. จะเสนอขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามรายได้ที่ลดลงจริง
ส่วนจะได้รับการจัดสรรเงินชดเชยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล
2. สายสีม่วง
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ รฟม. ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.ได้มีมติเห็นชอบในแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 20 บาท ตลอดสาย
รวมถึงหลักการกำหนดส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายอื่นๆ
ขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. อนุมัติต่อไป โดยคาดว่าเริ่มได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราค่าโดยสารที่ รฟม.จะเสนอ ครม.อนุมัติ ประกอบด้วย
“1.กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท จากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน สูงสุด 42 บาท ตลอดระยะเวลาเปิดให้บริการ
2.การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ผู้โดยสารยังคงได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบในอัตราปัจจุบัน
3.การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟชานเมืองสายนครวิถี (สายสีแดง) (ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท.) กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน
4.การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ผู้โดยสารจะได้รับส่วนลด เมื่อเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน รฟม.ยังอยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบความพร้อมและความเหมาะสมในภาพรวมทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ก่อนกำหนดวันเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองโดยสารฟรี และกำหนดวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป”
รายงานข่าวระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า คาดว่า เมื่อสายสีม่วงลดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะมีผู้โดยสารสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้น 17% หรือ 10,000 คน-เที่ยว/วัน
โดยปัจจุบันสายสีม่วงมีผู้โดยสารเฉลี่ย 56,000 คน-เที่ยว/วัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 คน-เที่ยว/วัน
จะทำให้รายได้ลดลงประมาณ 190 ล้านบาท/ปี หรือ คิดเป็น 60% ของรายได้เฉลี่ยปัจจุบัน
โดยรฟม.จะใช้รายได้ที่นำส่งคลังปีละประมาณ 300-400 ล้านบาทมาดำเนินการชดเชย
3. ไม่มีของฟรี
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ชี้ให้เห็นความจริงว่า “ก่อนเก็บ 20 บาท ตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีแดง+สีม่วง กระอัก ขาดทุนหนักวันละ 7 ล้าน!”
ให้ข้อมูลความเห็นน่าสนใจต่อไปอีกว่า
“รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย
โดยจะเปิดให้บริการ 2 สายก่อน คือ สายสีแดงและสายสีม่วง
มาดูกันว่าในปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ ขนผู้โดยสารวันละเท่าไหร่ มีรายได้มากน้อยเพียงใด สายสีแดงหรือสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า ?
1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน
ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร
ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท
จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า
(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 19,611 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 0.59 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 1.31 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 0.72 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร
ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท
จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า
(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 56,255 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1.41 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 7.39 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 5.98 ล้านบาท
3. ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนรวมกันวันละเกือบ7 ล้านบาท !
รถไฟฟ้าสายสีแดงขาดทุนวันละ 0.72 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า โดยขาดทุนถึงวันละ 5.98 ล้านบาท
รวมทั้งสองสายขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท
4. ถ้าเก็บ 20 บาท ตลอดสาย จะขาดทุนหนักขึ้น !
รมว.คมนาคม บอกว่าจะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร
กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้นๆ
การเก็บ 20 บาท ตลอดสาย แต่ไม่สามารถใช้ข้ามสายได้ จะไม่ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก และจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารที่ในปัจจุบันจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจ่ายเริ่มต้นเพียง 12 บาท เท่านั้น
เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก รายได้จากค่าโดยสารก็จะต่ำกว่าเดิมเป็นผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายขาดทุนหนักขึ้น
5. สรุป
ผมเห็นด้วยกับการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง
แต่ก่อนเริ่มใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย รมว.คมนาคมจะต้องรู้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่ ? คุ้มหรือไม่กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ?
และที่สำคัญ จะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่คน ?”
สรุป
ชัดเจนว่า นโยบายลดแลกแจกแถมลักษณะนี้ ไม่ใช่ของฟรีอย่างแท้จริง
แต่มีต้นทุน มีราคาที่ต้องจ่าย สำหรับสาธารณะหรือรัฐ
ถ้ามันฟรี และมันดีจริง เขาคงทำกันไปนานแล้ว!!!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี