เมื่อวานนี้ ชาวบ้านชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่เข้าร่วมโครงการ “บ้านมั่นคง” บุกยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯชัชชาติ
หลังพบว่า เวลาผ่านไป 9 เดือน คำมั่นของผู้ว่าฯชัชชาติ กลวงโบ๋
ยังปล่อยให้มีการทำลายแก่นแกนความสำเร็จของโครงการบ้านมั่นคงบ้านริมคลอง ที่เป็นโครงการพัฒนาต้นแบบสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่กำลังถูกบ่อนเซาะกัดกินทำลายโดยน้ำมือของ กทม.ยุคนี้
1.โครงการบ้านมั่นคงริมคลองนั้น หลักการ คือ ชาวบ้านชุมชนแออัดที่ปัจจุบันอยู่อาศัยรุกล้ำที่สาธารณะริมคลอง รุกล้ำลำคลองบางจุด จะต้องเข้าร่วมโครงการ โดยยินยอมพร้อมใจกันรื้อบ้านเก่า ก่อนดำเนินโครงการก่อสร้างบ้านมั่นคงให้ใหม่ สวยงาม มั่นคง มีเขื่อนระบายน้ำริมคลอง (ตามภาพโครงการเห็นกัน) และต้องทยอยผ่อนชำระค่าก่อสร้างบ้าน อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ขณะที่ปัจจุบันอยู่แบบเถื่อน ผิดกฎหมาย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ชาวบ้านชุมชนริมคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว ได้รวมตัวกันประมาณ 100 คน บุกเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลานคนเมือง
ครั้งนั้น ชาวบ้านชี้ให้ฝ่ายบริหาร กทม.ได้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ กทม.เลือกปฏิบัติ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่เข้าร่วมในโครงการ “บ้านมั่นคง” พัฒนาชุมชนริมคลอง ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าวให้ดียิ่งขึ้น
ครั้งนั้น ผู้ว่าฯชัชชาติ ก็รับปากว่า พร้อมจะแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว
ย้ำว่า “ใครอยู่ล้ำเส้นแนวเขื่อนจะต้องเข้าร่วม ไม่ก็ต้องออกจากพื้นที่ริมคลอง”
2.ล่าสุด เมื่อวานนี้ (6 พ.ค. 2568) ชาวบ้านริมคลองเปรมประชากร รวมตัวกันประมาณ 50 คน มายื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังจากยังไม่ได้รับความยุติธรรม
เปิดเผยข้อมูลความจริง ระบุว่า ยังคงมีชาวบ้านที่มีบ้านล้ำแนวเขื่อนริมคลองเปรมประชากรและยังได้รับทางเลือกพิเศษ “ตัดบ้านคืนคลอง” แถมยังได้รับการซ่อมแซมบ้านให้เรียบร้อย โดยที่ไม่ต้องเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคง ไม่ถูกดำเนินคดีหรือไล่ออกจากพื้นที่ และไม่ตกเป็นหนี้เหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง
นายวันชัย เอี่ยมสอาด ตัวแทนเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม เผยว่า หลังจากที่ชาวบ้านหลายคนที่ได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง จนขณะนี้ประสบปัญหา มีชาวบ้านในบางชุมชนไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ แต่ยังสามารถอาศัยอยู่ที่ริมคลองเปรมประชากรได้ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานระบายน้ำได้ดำเนินการตัดบ้านคืนคลองให้กับชาวบ้าน ตัดบ้านที่ล้ำแนวเขื่อนและซ่อมบำรุงให้อย่างสวยงาม โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำให้ชาวบ้านของตนและชุมชนอื่นๆ เกิดความไม่พอใจ เนื่องจากต้องตกเป็นหนี้กับบ้านโครงการบ้านมั่นคง ยอมทำตามนโยบายในการพัฒนาชุมชนริมคลองให้สวยงามและน่าอยู่ยิ่งขึ้น แต่ยังมีชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมและยังไม่ถูกดำเนินคดีหรือออกจากพื้นที่ ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบเป็น 2 มาตรฐาน จนทำให้ชาวบ้านชุมชนคนรักถิ่น, ชุมชนเปรมสุขสันต์, ชุมชนศิษย์หลวงปู่ขาว และชุมชนร่วมพัฒนา ของเขตหลักสี่ ที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง บางคนขอออกจากโครงการ เพราะเห็นว่ามีบางคนไม่ต้องตกเป็นหนี้ ยังไงก็อาศัยอยู่ที่ริมคลองได้ตามปกติ
“วันนี้ จึงมายื่นหนังสือถามถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรมีการดำเนินการบังคับใช้ข้อกฎหมายกับชาวบ้านบางคนที่ไม่เข้าร่วมโครงการแล้วหรือไม่ หากยังไม่ร่วม ชาวบ้านบางคนก็จะไม่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง และนโยบายการพัฒนาชุมชนริมคลองก็จะดำเนินการไปต่อไม่ได้ และปัญหาอื่นๆ ก็จะตามมาอย่างแน่นอน” - นายวันชัย เอี่ยมสอาด ตัวแทนเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม กล่าว
3.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เรื่องชาวบ้านที่มายื่นหนังสือในวันนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง
แต่ยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองได้ และมาติดตามการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทางกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินการมาโดยตลอด
ยืนยันว่า บ้านหลังไหนที่ล้ำเส้นแนวเขื่อนคลองเปรมประชากร จะต้องถูกรื้อออก และเข้าร่วมโครงการหากมีความประสงค์ที่จะอยู่ต่อ ส่วนผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่ยังอาศัยอยู่ที่ริมคลองเปรมประชากรนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กทม.ไปเสนอนโยบายตัดบ้านคืนคลอง และซ่อมบ้านให้ดูสวยงามให้กับชาวบ้านอย่างแน่นอน
“...ส่วนตัวคิดว่า อาจจะเป็นทีมงานของผู้รับเหมาก่อสร้างแนวเขื่อน ที่อยากจะสร้างเขื่อนนำหน้าการเจรจาหรือขอความร่วมมือไปก่อน โดยตัดบ้านบางส่วนที่รับออกแล้วก็ซ่อมให้
แต่อย่างไรก็ตาม บ้านที่อยู่บนพื้นริมคลอง(บนน้ำ) ทุกคนจะต้องเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ไม่ช้าก็เร็ว ใครไม่ออกก็จะถูกทางกทม.ฟ้องร้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.44 ห้ามเข้าเขตกำหนด คือ การห้ามมิให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ส่วนบ้านริมคลองที่อยู่บนพื้น ก็จะต้องให้ทางกรมธนารักษ์เป็นผู้ฟ้องร้อง เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่และมีอำนาจในการดูแลทั้งหมดที่อยู่บนพื้นดิน”-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
หลังจากนี้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการบ้านมั่นคง เช่น กทม., กรมธนารักษ์, สำนักงานระบายน้ำ และคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ เป็นต้น พร้อมเชิญตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองเปรมประชากร เข้าร่วมรับฟังการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวทั้งหมด
4. อย่าเอาใจคนทำผิด ก.ม. แต่ทำลายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประเด็นสำคัญ คือ เวลาผ่านไปเกือบปีแล้ว เหตุใด กทม. ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเลยแม้แต่รายเดียว
ที่ปรากฏในพื้นที่ แต่มีการเจรจาตัดบ้านสร้างเขื่อนต่อ
ตัดบ้าน แล้วซ่อมบ้านเดิมที่ผิดกฎหมายให้อยู่ต่อด้วย
แถมมีรายงานว่า เจาะท่อน้ำเสียจากบ้านเดิมลงคลองให้อีกด้วย
ไม่ว่าจะใครทำ กทม.ก็ละเว้น ปล่อยปละละเลยไม่ได้
ชาวบ้านฝ่ายที่เป็นเด็กดี เข้าร่วมโครงการ ยอมรื้อบ้านเดิม สร้างบ้านใหม่ ยอมเป็นหนี้ เริ่มทนไม่ไหว ถูกฝ่ายไม่เข้าโครงการเยาะเย้ยว่าโง่
ถ้า กทม. ยังทำงานแบบนี้ ปล่อยให้มีการยื่นประโยชน์แก่ฝ่ายที่ไม่เข้าโครงการบั่นทอนทำลายความตั้งใจที่จะมีร่วมกับโครงการดีๆ แบบนี้ โครงการจะไปต่อไม่ได้
โครงการที่ถูกผลักดันมาอย่างยากลำบาก จนปรากฏความสำเร็จเป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก จะพังทลายลง โดยน้ำมือการบริหารในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ตอนนี้ ทราบว่า หลายชุมชน คนคัดค้านไม่เข้าโครงการมากขึ้นเข้าแล้วก็ลาออก ชะงักไปหมด
คนเข้าโครงการแล้วเริ่มผ่อนบ้าน ก็สับสน ว่าทำไมภาครัฐทำสองมาตรฐาน รู้แบบนี้ไม่ต้องเข้าโครงการแต่ต้น ไม่ต้องเป็นหนี้ก็ได้ พาลจะไม่ผ่อนเอา
อย่าเอาใจคนทำผิดกฎหมาย แต่ทำลายโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน
นั่นคือ กทม.จะต้องไม่ไปส่งเสริม หรือเอาใจคนทำผิดกฎหมาย คนที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
เพราะเท่ากับว่า จะทำลายโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นให้ชาวบ้านจะต้องเข้าร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ผ่อนบ้านที่มีความมั่นคงแข็งแรง สวยงาม มีระบบการระบายน้ำที่ดีต่อส่วนรวม
อย่าลืมว่า โครงการพัฒนาริมคลองเปรมประชากร เป็นแนวทางตามพระบรมราโชบายและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้อยู่ดีมีสุข ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแม่น้ำลำคลอง ให้พลิกฟื้นความสมบูรณ์ของคูคลองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อนำความสุขแก่ประชาชน
โครงการบ้านมั่นคง คลองเปรมประชากร เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายกฯลุงตู่
สำเร็จไปแล้วกว่า 40% ของแผนงานทั้งหมด
กว่าจะมาเป็นบ้านสวย คลองใส วิถีใหม่ ชุมชนริมคลอง รัฐบาลต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
จากชุมชนแออัด รุกล้ำลำคลอง ทำให้การระบายน้ำมีปัญหา กลายเป็นบ้านริมคลองสวยงาม มั่นคง สีสันสดใส มีสันเขื่อนระบายน้ำใช้เป็นทางเดินเลียบคลอง ขี่จักรยาน ฯลฯ
โดยชาวบ้านริมคลอง 3 ชุมชนแรกๆ ที่มีการพัฒนาเป็นบ้านมั่นคงแล้ว ได้แก่ ชุมชนประชาร่วมใจ 2 จำนวน 198 ครัวเรือน นั่นคือชุมชนที่อดีตนายกฯลุงตู่มาลงเสาเอก 13 ม.ค. 2563 ถือเป็นชุมชนแรกของคลองเปรมฯ ที่ดำเนินการ
ชุมชนประชาร่วมใจ 1 จำนวน 291 ครัวเรือน สร้างช่วงปี’63-65 ก็คือ บ้านสีฟ้าฝั่งตรงข้ามวัดเสมียนนารี ซึ่งปัจจุบัน เป็นแลนด์มาร์คสำคัญ แหล่งดูงาน จัดงาน มีสะพานข้ามคลองสวยงาม
ชุมชนสามัคคีเทวสุนทร จำนวน 90 ครัวเรือน ฯลฯ
ชาวชุมชนเหล่านี้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาจนเห็นผลสำเร็จชัดเจน
หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเช่นนี้ต่อไปให้สำเร็จ ตามเป้าหมาย
น่าเสียดายอย่างยิ่ง หากโครงการดีๆ แบบนี้ จะมาพังทลาย เพราะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของ กทม. ยุคนี้
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี