โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีการศึกษากันมายาวนาน แทบทุกยุครัฐบาล
แต่ไม่มีการตัดสินใจเด็ดขาด
ความจริง... ถ้าหากผลการศึกษาไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสม ควรจะตัดสินใจทุบโต๊ะไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียเงินมาศึกษาซ้ำซากอีกแทบทุกสมัย
หรือถ้ามันคุ้มค่า เหมาะสม ควรก่อสร้าง ก็ควรตัดสินใจเดินหน้าก่อสร้างตามขั้นตอนโครงการไปเสียเลยเช่นกัน
1.ข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรณีสำนักงบประมาณ อนุมัติงบฯ 25.7 ล้านบาท ให้คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ดำเนินการโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้น ล่าสุด อพท. ได้เข้ามาประชุมหารือถึงโรดแมปการสร้างกระเช้าภูกระดึง จ.เลย ในเรื่องขั้นตอนการขออนุญาตและบริหารจัดการ รวมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกัน เนื่องจากรายละเอียดในการออกแบบต้องกระทบพื้นที่น้อยที่สุด ซึ่งยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษา และยังไม่ได้มีการอนุมัติการก่อสร้าง
ทั้งนี้ มีการนำเสนอเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เยอรมนี
รวมทั้งทางเลือกจุดสร้างกระเช้าด้านผาหมากดูก ไม่ใช่จุดทางขึ้นในปัจจุบัน
คาดว่าระยะทางไม่เกิน 3 กม.
ตัวอย่างที่เขาเอามาให้ดูเป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นเสาแท่งเดียว ไม่ได้กินพื้นที่เยอะ กระทบพันธุ์ไม้ไม่มาก
การหารือเบื้องต้น คาดว่า ในเฟสแรกการก่อสร้างกระเช้าใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และเฟสที่ 2 เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ด้านบนภูกระดึง และด้านล่างที่ต้องมีจุดบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากพื้นที่ด้านบนตั้งแต่ผาหมากดูกถึงผาหล่มสัก มีระยะทาง 10 กม.
นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสูงวัย อาจไม่สะดวกในการเดินระยะไกล และต้องลงมาพักด้านล่าง
กรมอุทยานฯ มีแนวคิดเพิ่มการให้บริการรถรางไฟฟ้าขนาดเล็กบนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดิน เพื่อให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ และลดผลกระทบพื้นที่ให้มากที่สุด
นายอรรถพล กล่าวว่า ทั้งนี้พื้นที่ภูกระดึงส่วนที่เราเที่ยวได้ เป็นเพียงพื้นที่ 1 ใน 4 ของพื้นที่ คือ บริเวณผาต่างๆ แต่ยังมีพื้นที่ที่เราเที่ยวไม่ได้ เพราะมีช้างป่า ในอนาคตซึ่งเรามีเส้นทางรอบๆ ภูกระดึงอยู่แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้ ในอนาคตช้างก็ต้องมีประชากรเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งพื้นที่ที่เราปิดไว้ก็คงต้องปิดไปถาวร การท่องเที่ยวจึงต้องเปลี่ยนใหม่เป็นคล้ายๆ นั่งรถซาฟารี ในโซนที่มีช้างออกมา
“บนภูกระดึง มีถนนรอบพื้นที่
ถ้าบินดูจากเฮลิคอปเตอร์จะเห็นถนนรอบภูกระดึงที่รูปร่างเหมือนใบโพธิ์ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ใช้เลย เพราะช้างมันเยอะ
แต่ในอนาคตคิดว่าเราต้องทำแบบซาฟารี คือให้ขึ้นรถไปเที่ยว” นายอรรถพล กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ขณะนี้การสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงมีเสียงคัดค้านน้อยมาก ส่วนในพื้นที่มีการรับฟังความคิดเห็น พบว่าเห็นด้วยเกือบทั้งหมด อีกทั้งคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้สอบถามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ แต่ในโซนที่มีความเสี่ยงอันตรายจากช้างป่านั้น อาจต้องปิดถาวร เนื่องจากมีประชากรช้างเพิ่มขึ้น
“ล่าสุด กรมอุทยานฯ ได้ต่ออายุใบอนุญาตให้ศึกษาอีกไม่เกิน 2 ปี
ยืนยันว่าต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่ง อพท.ได้เร่งของบกลางเพื่อดำเนินการ
คาดว่า อพท.จะเป็นผู้ก่อสร้าง และมอบพื้นที่ให้กรมอุทยานฯ บริหาร
โดยยังคงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละ 2,000 คน..” - อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
2. โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีการศึกษา และผลักดันมานานแล้ว
แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย ปี พ.ศ. 2565-2570 กำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย “เมืองน่าพักผ่อนและเรียนรู้ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่คุณภาพระดับสากล”
มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
กำหนดว่าภายในปี 2570 จังหวัดเลยจะต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5
มีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี
คิดเป็นรายได้รวมจำนวนเงิน 35,505.56 ล้านบาท
จึงมีแนวคิดว่า ควรมีการพัฒนาก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกแห่งในจังหวัดเลย ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเลยในระดับมหภาค สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่อชุมชน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เพิ่มขึ้นได้ โดยมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าของการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง
มองว่า การพัฒนากระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัด และโอกาสทางเศรษฐกิจต่อชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ สร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับประเทศ เป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจการท่องเที่ยวของประเทศอีกแห่งหนึ่ง
สามารถลดเวลาการเดินทางท่องเที่ยวภูกระดึง เพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในแหล่งอื่นของจังหวัดได้ เกิดการกระจายรายได้ และการหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวไปสู่พื้นที่
อื่นๆ ในจังหวัดเลยเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้เกิดการพักค้างที่เพิ่มขึ้น
บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ในปี 2570 เรื่องจำนวนวันพักในการท่องเที่ยวเพิ่มเป็นจำนวน 2.5 วัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้นจำนวน 35,505.56 ล้านบาท
3.นางไพรจิตร เกตเวียง ผู้ใหญ่บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 1 ยืนยันสนับสนุนโครงการเต็มที่ระบุว่า อยากจะฝากถึงรัฐบาล นายกฯ “อุ๊งอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนนี้ท่านเคยมาหาเสียงไว้ว่า การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงต้องเกิดขึ้นในรัฐบาลของท่าน และท่านภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เคยเดินทางมาภูกระดึงและมารับหนังสือจากตัวแทน พ่อค้าแม่ค้า และคนภูกระดึง ว่าจะผลักดันให้สร้างกระเช้าขึ้นภูในสมัยนี้ซึ่งชาวบ้านอำเภอภูกระดึงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้า ไม่ว่าจะเป็นการร่นระยะเวลาการขึ้นและลง นักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูกระดึงแล้ว ยังสามารถไปต่อในหลายแห่งในจังหวัดเลย ทำให้เศรษฐกิจจะดีขึ้นมาก และขอให้รัฐเร่งสร้างให้เสร็จกันสักที
“ฉันเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
เนื่องจากทุกปี เป็นข่าวบ้างไม่เป็นข่าวบ้าง ที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตทุกปี ขณะเดินหรือลงเขา
รายล่าสุดก็วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา และเป็นลูกบ้านของแน
การที่มีกระเช้า อย่างน้อยก็รับนักท่องเที่ยวได้หลายรุ่นหลายระดับ ไม่ว่าผู้สูงอายุ ผู้พิการ สามารถมีสิทธิ์ไปสูดอากาศที่บริสุทธิ์บนภูกระดึง และการค้าการขายก็จะดีขึ้น
รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บผู้ป่วยบนภูกระดึง ก็สามารถส่งผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น” -ผู้ใหญ่บ้านศรีฐาน หมู่ที่ 1 กล่าว
4.อีกด้านหนึ่ง แนวคิดที่คัดค้านก็ให้เหตุผลหนักแน่น เช่น
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยชี้ชัดว่า ทำไมถึงไม่อยากให้มีกระเช้าภูกระดึง
อะไรที่อาจจะต้องถูกทำลายลง หากมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ระบุว่า มันอาจเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ที่มีคนครอบครองอยู่รอบๆ ภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่างๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น
คนที่เคยคิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสภาพร่างกาย ก็จะมีโอกาสขึ้นไปได้
ช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ ขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปได้ง่ายขึ้นด้วย
แต่… การสร้างกระเช้าภูกระดึง ก็จะภาพลักษณ์การท่องเที่ยวภูกระดึงที่มีภาพจำว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ
นอกจากนี้ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้าง และผลกระทบที่ตามมาหลังก่อสร้าง และเริ่มใช้กระเช้า
เช่น เมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ
ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่
รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ
อ.ศศิน เคยถามว่า เราพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์อันอุดมด้วยธรรมชาติ ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตเลยหรือไม่?
5.ประเด็นสำคัญ คนค้านการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงน้อยลงแน่ ถ้าไปสอบถามคนรอบๆ พื้นที่ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากความคึกคักเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็คงไม่ค้าน
แต่ควรจะมีความรอบคอบรอบด้านในเรื่อง เช่น
จะรักษาเสน่ห์ของภูกระดึงในระยะยาวอย่างไร?
จะจัดการผลที่ตามมาจากกระเช้าอย่างไร?
ปัจจุบัน จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว (ให้วอล์กอินได้แค่ 600 คนต่อวัน) ถ้ามีกระเช้า นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จะจัดการอย่างไร? (ขยะ อาหาร ที่พัก สัตว์ป่า ระบบนิเวศ ฯลฯ)
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นประเด็นน่าสนใจ ที่ควรมีการพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน
มิใช่อ้างแค่ว่าจะได้เป็นทางเลือกให้คนที่ไม่สะดวกที่จะเดินได้ใช้กระเช้า ? หรือต่างประเทศที่อื่นๆ เขาก็มีกระเช้า? ฯลฯ
สำคัญ คือ ผู้มีอำนาจต้องกล้าตัดสินใจ เมื่อใช้เงินศึกษาแล้ว ได้ผลออกมาแล้ว
ถ้าคุ้มค่า ก็ควรเดินหน้าก่อสร้าง
ถ้าไม่คุ้ม ก็ประกาศให้ชัด แล้วพับเก็บ อย่าเสียเงินซ้ำซาก
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี