l บทสัมภาษณ์ ผู้นำและคนในแวดวง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่มีสาระน่าสน
จัดทำเป็นนิทรรศการย่อย ในงานรำลึก ๕๐ ปี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่หน้าอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ๑๖
(โดย ทีมงานของบริษัท ของคุณธีรพล นิยม)
• ชัยวัฒน์ สุรวิชัย 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 14 ตุลา 16
เหตุการณ์ 14 ตุลา มีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง
เป็นการเปิดฟ้าประชาธิปไตยครั้งสำคัญ คุณค่าของ 14 ตุลา
ในทัศนะของผมไม่ได้ยึดตะวันตก แต่ยึดหลักพุทธศาสนา และหลักวิทยาศาสตร์
คือ ความจริงที่เป็นสากล การเคารพความจริง และ
การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงต่อตนเอง ครอบครัว และบ้านเมือง
อนุสรณ์สถานเป็นสถานที่แสดงประวัติและวีรกรรมของเหตุการณ์
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน
ต่ออำนาจการปกครองเผด็จการของรัฐบาลในช่วงนั้น
เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องราวเหตุการณ์
เป็นแหล่งข้อมูลของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาวิจัย
การแลกเปลี่ยนข้อมูล และแสวงหาความจริง
อนุสรณ์สถาน ควรเป็นสถานที่ ความร่วมมือ ของ ภาครัฐ ท้องถิ่นที่ร่วมมือกับ คณะกรรมการมูลนิธิ
แก้ปัญหาใหญ่ เรื่องทุนดำเนินการ จัดจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหาร
ให้อนุสรณ์สถานทำหน้าที่ได้ดีถูกต้องและมีประโยชน์คุณค่าต่อสังคมตามเจตนารมณ์ของ 14 ตุลา
l อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
14 ตุลา เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย
ที่ไม่เพียงต่อสู้เพื่อต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร แต่ขยายไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน
เรื่องความยุติธรรมทางสังคม ปัญหาทุนผูกขาด
เป็นจุดสำคัญที่เกิดขึ้นร่วมกับการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชน
สิ่งที่สังคมไทยยังไม่ค่อยเรียนรู้คือ
การมีความคิดเห็นแตกต่าง โต้เถียง ขัดแย้งกันได้
โดยไม่ต้องมีการต่อสู้ทำสงครามกันด้วยกฎหมายหรืออำนาจที่ไม่เป็นธรรม
เมืองไทยขาดพื้นที่ที่เปิดให้คนมาสู้กันด้วยความคิด
คุยกันด้วยข้อเท็จจริง เหตุผล ตรรกะที่ถูกต้อง ด้วยอุดมการณ์
ที่แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ความตึงเครียดก็จะคลี่คลาย
ทำให้คนรู้สึกดีต่อซึ่งกันและกัน ไม่เอาความเกลียดชังมาฝังอยู่ในใจ
ในแง่กายภาพ รู้สึกว่าข้างหน้าอนุสรณ์สถานในปัจจุบัน
ปิดทีน เข้าถึงยาก อยากให้เปิดโล่ง เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน
สะท้อนความหวังถึงสันติภาพทางสังคม
พาตัวเองออกจากความขัดแย้งทางการเมือง
และเริ่มมิติใหม่ของการหันหน้าเข้าหากัน
l ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ อดีดผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา
สิ่งที่มีค่าของ 14 ตุลา คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการเมืองไทย
เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสังคมไทย
ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ เปิดกว้างให้
ระบบพรรคการเมืองที่มีรากจากกลุ่มและท้องถิ่นต่างๆอย่างหลากหลาย
เปิดพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคม ทำให้เสรีภาพงอกงามหลังจากถูกกดไม่ให้แสดงออก
ทำให้เกิดกระแสจากพลังของคนทั้งประเทศ บ่มเพาะให้เกิดเสรีภาพในทุกด้าน
อนุสรณ์สถานไม่ควรจะมีริ้ว
เปิดกว้าง เชิญชวน สร้างแรงจูงใจให้คนเข้าไปใช้
เป็นพื้นที่ทางประชาธิปไตยที่ใช้งานได้ให้หลากหลาย เล็ก กระชับ
ออกไปสู่การรับใช้ความต่าง ความหลากหลายได้มากขึ้น
ต้องมีระบบที่ดี คนรุ่นใหม่น่าจะทำได้
ถ้าเขามารับช่วงต่อ คนรุ่นเราควรจะรีไทร์แล้ว
ให้เขามาคิดว่ามันจะมี service อะไร ที่ทำให้เลี้ยงตัวเองได้
ให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้
เป็นความท้าทายว่าในสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไป
ปัญหาใหม่ๆ วิถีชีวิต ค่านิยมของคนเปลี่ยนไป
เราจะสร้างสรรค์ Hubrid Space
ที่เชื่อมโยงการใช้งานเดิมของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กับการใช้งานใหม่ๆ ได้อย่างไร
l ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
14 ตุลา คือการระเบิดตูมใหญ่ หรือ Big Bang ของจิตสำนึกของคนหนุ่มสาว นิสิต นักศึกษาในประเทศไทย เป็นจิตสำนึกเพื่อคนจน ความเป็นธรรม และการเรียกร้องประชาธิปไตย
50 ปีผ่านไป โลกยุคใหม่ซึ่งเป็นระบบซับซ้อน พยากรณ์ควบคุมไม่ได้ เกิดโกลาหลได้ง่าย
ถ้าจะทำให้ประชาธิปไตยมันเวิร์ก ก็ต้องมีทัศนะใหม่วิธีคิดใหม่
คือมีทัศนะองค์รวม ต้องคิดแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกันไปสู่ความเป็นองค์รวมของประเทศไทย
หน้าลานของอนุสรณ์สถานซึ่งอยู่ในสถานที่ที่ดี
ผมเสนอให้มีประติมากรรมที่สวยงามอยู่ข้างหน้า
แล้วตัวอาคารควรมีหลายชั้น มีเนื้อที่พอเพียง
มีรูปทรงที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยใหม่
ภายในมีภาพวาดที่สวยงามอธิบายถึงมรรค 8 ของประชาธิปไตย
มีห้องประชุมใหญ่ และย่อย สำหรับระดมความคิดเรื่องประชาธิปไตย
มูลนิธิควรจะตั้งกองทุนพัฒนาประชาธิปไตย
รับบริจาคภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลด้วย
ว่าจ้างเอกชนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมให้เป็นผู้ดูแลอนุสรณ์สถานแห่งนี้
เงินที่เหลือนำมาจัดกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย
มีกิจกรรมสนทนาประชาธิปไตยเป็นประจำทุกสัปดาห์
เป็นกลไกให้คนไทยทั้งชาติมาระดมความคิดว่าประชาธิปไตยที่แท้คืออะไร
สร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นอรรถประโยชน์ ทำให้เกิดแผ่นดินศานติสุข
l เศรษฐวัฒน์ สุรินทร์คำ เจ้าหน้าที่ธุรการ มูลนิธิ 14 ตุลา
14 ตุลา เป็นสัญลักษณ์ ของการเรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ
อยากให้เป็นพื้นที่เปิด ที่คนสามารถเดินเข้ามาได้
เดินดูภาพเหตุการณ์หรือมาเคารพสถูป
เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ส่วนตัวคิดว่าสถูปคือจุดสำคัญของพื้นที่ที่ต้องคงไว้
มันมีความหมายทั้งกระบวนการผลิต ติดตั้ง
เป็นที่จัดกิจกรรมรำลึกมาต่อเนื่อง
ตอนกลางคืนถ้าเปิดไฟส่องก็จะเป็นสีทองสวยงาม
อยากให้เป็นพื้นที่ที่คนทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกข้างเข้ามาใช้งาน
ร่วมกันด้วยดี
l ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตุลา คือ การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชน
ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
ถือเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกที่มีกระแสการตื่นตัวของคนหนุ่มสาวไปทั่วโลก
ผมว่าคนรุ่นใหม่เขาเชื่อมโยงกับ 14 ตุลา ในแง่สปิริตการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แต่การเล่าประวัติศาสตร์ 14 ตุลาเอง มันก็มีบางด้านที่คนรุ่นใหม่เขาไม่อิน
ควรจะมีส่วนที่เป็นนิทรรศการถาวรที่อธิบายให้คนรุ่นหลังเข้าใจว่า
14 ตุลาคืออะไรเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและส่งผลกระทบอย่างไร
ให้มันดูมีมิติความเป็นมนุษย์ แล้วก็ด้านมุมมองของรัฐทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตขึ้นมา
มีนิทรรศการหมุนเวียน ให้เห็นว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นต่อสู้ในอดีต
เชื่อมโยงถึงปัญหาหลายอย่างที่มันก็ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน
ผมว่ามันต้องเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน
ไม่งั้นมันก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตาย
มีห้องอเนกประสงค์ที่ยืดหยุ่น ดัดแปลงได้ จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ เสวนา จัดเวิร์กช็อป สำหรับคนรุ่นใหม่
l จิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียน อดีดผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา
14 ตุลา คือสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนเพื่อต้องการเสรีภาพในการพูด คิด เขียน แสดงออก...
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่ผ่านมา เป็นเหมือนหอประวัติศาสตร์เล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น
แต่ยังต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมข้อมูล เอกสารต่างๆ เพื่อการค้นคว้าต่อ
ต้องมีกิจกรรมให้คนส่วนใหญ่เข้ามาเรียนรู้เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับตนเองได้...
ในแง่การบริหารจัดการ ต้องมีงบเพื่อบริหารดำเนินการต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งสำหรับบุคลากร เผยแพร่ จัดกิจกรรม ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่รอบๆจัดกิจกรรมเรียนรู้อย่างบูรณาการ
อยากให้ข้างหน้าเปิดโล่งให้คนเข้าไปได้ง่าย เป็นพื้นที่ซึ่งคนเดินผ่านแล้วอยากเข้ามานั่ง มาเรียนรู้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี