ในระบบราชการของไทยเรามีเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานรัฐแบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ บุคลากรของรัฐวิสาหกิจ บุคลากรขององค์การมหาชน พนักงานของรัฐในส่วนราชการ และพนักงานราชการ เช่น
1. ข้าราชการ
- ข้าราชการการเมือง
- ข้าราชการประจำ
- ข้าราชการทหาร
- ข้าราชการฝ่ายพลเรือน
- ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
- ข้าราชการครู
- ข้าราชการตำรวจ
- ข้าราชการอัยการ
- ข้าราชการตุลาการ
- ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ฯลฯ
- ข้าราชการส่วนท้องถิ่น
- พนักงานเทศบาล
- พนักงานส่วนตำบล
- ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด
- ข้าราชการกรุงเทพมหานคร
- พนักงานเมืองพัทยา
2. ลูกจ้างของส่วนราชการ
- ลูกจ้างประจำ
- ลูกจ้างชั่วคราว
3. บุคลากรของรัฐวิสาหกิจ
4. บุคลากรขององค์การมหาชน
5. พนักงานของรัฐในส่วนราชการ
6. พนักงานราชการ
ซึ่งทั้งหมดก็ถือเป็นบุคลากรที่ทำงานให้กับรัฐเพื่อรับใช้สังคมประเทศชาติตามนโยบายรัฐภายใต้กรอบกฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบกติกาต่างๆ และในการนี้ทุกคนก็จัดได้ว่าเป็นลูกจ้างของภาครัฐที่รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน และเมื่อเกษียณอายุราชการ หรือลาออกไปก่อนกำหนดเกษียณอายุ ก็จะได้รับบำเหน็จ บำนาญ ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการ ซึ่งตามหลักการแล้ว การได้รับการดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาล และการได้รับการคุ้มครองในเรื่องสวัสดิการ หากเกิดกรณีทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยถาวร ก็ควรจะได้รับการปฏิบัติดูแลอย่างทัดเทียมกันแต่ในกรณีของพนักงานหรือลูกจ้างชั่วคราวต่างๆ กลับมีความหมิ่นเหม่ต่อความไม่ต่อเนื่องของการจ้างงาน และการต้องเสี่ยงกับสภาวะการตกงานที่จะขาดการคุ้มครองช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เมื่อสังคมโลก รวมทั้งสังคมไทยต่างก็มีความตระหนักกันดีในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่ทัดเทียม เพราะการขาดโอกาสและการได้รับการปฏิบัติที่มีความลักหลั่น และทั้งโลกก็มุ่งที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าวนี้
สำหรับประเทศไทยก็น่าที่จะเริ่มได้ที่ในแวดวงราชการทั้งหมดดังกล่าว เพราะมีสถิติตัวเลขจำนวนของบุคลากร มีงบประมาณและมีกองทุนบางกองทุนที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ก็อยู่ในวิสัยที่จะทำให้ระบบค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับความเหน็ดเหนื่อย กับความเสี่ยงของภารกิจและด้วยหลักคิดที่ว่า การได้เข้าถึงซึ่งการรักษาพยาบาลและการสวัสดิการต่างๆ นั้น ไม่ควรมีความลักหลั่นและมีการปฏิบัติเพียงเพราะมีชื่อตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน หากแต่ควรที่จะให้มีความเสมอภาค ความทัดเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันเจ็บป่วยเหมือนกัน และอาจเจ็บป่วยหรือตกงานเพราะอุบัติเหตุ และฉะนั้นก็ควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ ในฐานะมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน ไม่ใช่กำหนดจากมุมมองและความนึกคิดของการมีตำแหน่งหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น บุคลากรของรัฐทุกประเภทจึงจะพึงต้องได้รับการปฏิบัติที่ทัดเทียมกันทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาลและการบริการด้านสวัสดิการ
ก็หวังว่าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะเมื่อบุคลากรของรัฐได้รับการดูแลอย่างดีและทัดเทียมกัน ก็จะเป็นกำลังใจและส่งเสริมความมั่นอกมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ อีกทั้งก็จะทำให้บุคลากรของรัฐ โดยเฉพาะในระดับพนักงานและลูกจ้างนั้น ก็จะได้ไม่ต้องคงอยู่กับความน้อยเนื้อต่ำใจอีกต่อไป และมีความภูมิอกภูมิใจกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี