สังคมของเราดูเสมือนยกย่องชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ในความเป็นจริงชาวนาไทยจำนวนมากมีเศรษฐสถานะที่นับได้ว่ายากจนแบบจนธรรมดา จนกระทั่งถึงยากจนมากๆ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ชาวนาจำนวนมากต้องสูญเสียที่นาให้กับนายทุน
มีข้อมูลชี้ชัดว่าชาวนาไทยจำนวนกว่าครึ่งของประเทศต้องทำนาบนที่เช่า ที่ดินติดจำนอง และที่ดินฝากขาย โดยข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อปี 2564 ระบุว่า พื้นที่ทำการเกษตรของไทยมีทั้งหมด 149 ล้านไร่ โดยร้อยละ 48.3 ของพื้นที่การเกษตรเป็นของเกษตรกรเอง ส่วนอีก 51.7 เป็นที่ดินซึ่งเกษตรกรต้องเช่าทำการเกษตร หรือไม่ก็ต้องทำนาในที่นาของตนเองก็จริง แต่ทว่าเป็นที่ดินที่ยังติดจำนอง หรือติดการฝากขาย เนื่องจากเกษตรกร รวมถึงชาวนาทำการเกษตรแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องมีหนี้สินมากมายล้นพ้นตัวแต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ที่จะประกอบอาชีพใหม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องทนทำนา ทำการเกษตรต่อไป ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็กลับขายได้ราคาต่ำมาก จนไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่ก็ยังต้องทนทำไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ขาดทุน เมื่อขาดทุนก็ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนต่อไป เมื่อกู้เงินแล้วก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดสิ้นตามกำหนด ในที่สุดที่ดินของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาถึงตนเอง ก็ต้องหลุดลอยไปเป็นของนายทุนที่เกษตรกรไปกู้ยืมเงินเขามาใช้
ถามว่ารัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาแก้ปัญหาใหญ่ของชาวนาได้หรือไม่ ตอบได้ทันทีว่าแก้ไม่เคยได้เลยแม้แต่รัฐบาลเดียว แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลก็ยังคงทำปากหวานอ้างว่าจะช่วยเหลือชาวนาให้พ้นจากความทุกข์ แต่ต้องย้ำว่าไม่เคยมีรัฐบาลไหนขจัดปัญหาให้ชาวนาได้อย่างจริงจัง แต่ที่เห็นทำๆ กันแค่เพียงหาเสียงนิยมทางการเมืองจากชาวนาไปวันๆ เท่านั้น แล้วสุดท้ายก็มักจะลงเอยด้วยการแจกเงินให้ชาวนา หรือไม่ก็พักหนี้ให้ชาวนา ทำกันแบบนี้มาหลายรัฐบาล แต่ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่เคยหลุดพ้นจากความยากจน
ในขณะที่ชาวนาส่วนใหญ่ยากจนข้นแค้นอย่างหนัก แต่ทำไมพ่อค้าข้าว พ่อค้าพันธุ์ข้าวพ่อค้าปุ๋ย พ่อค้ายากำจัดศัตรูพืช เจ้าของโรงสีขนาดใหญ่ และผู้ส่งออกข้าวสาร รวมถึงเจ้าของรถไถนา รถเกี่ยวข้าว จึงกลับมีความร่ำรวยเพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
สาธารณชนยังคงได้ยินการหาเสียงโดยนักการเมืองที่ประดิษฐ์วาจาว่าจะช่วยชาวนาด้วยกลวิธีมากมาย แต่ทั้งหมดเป็นแค่ลมปากเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วชาวนาส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนต่อไป
ชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังคงทำนาด้วยกรรมวิธีปลูกข้าวแบบเดิมๆ ที่ต้องรอน้ำจากฟ้า รอความเมตตาจากนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีอำนาจเป็นรัฐบาล รัฐบาลก็ได้แต่ป้อนคำหวานให้ชาวนาไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยเอาจริงเอาจังกับการพัฒนากรรมวิธีปลูกชาว และเกี่ยวข้าว ชาวนาไทยจึงไม่มีวันหนีพ้นจากความยากจนในการทำนา เพราะต้นทุนการผลิตสูงมากประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ขายข้าวได้ ตัวอย่าง เช่น ต้นทุนการผลิตข้าวหนึ่งตันตกประมาณ 5,200 บาท แต่ข้าวที่ผลิตได้ขายได้แค่ราคาตันละ 7,000 บาท นี่คือความจริงที่รัฐบาลรับรู้เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนมีปัญญาแก้ปัญหานี้ได้ แต่รัฐบาลก็ชอบใช้การหาเสียง หาคะแนนนิยมจากชาวนาด้วยการแจกเงินช่วยเหลือเป็นครั้งๆ หรือไม่ก็ประกาศพักหนี้ให้เป็นคราวๆ ไป
ขออภัยที่ต้องบอกตรงๆ ว่า ปัญหาความยากจนของชาวนาไทย เป็นปัญหาที่รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ แต่ทว่าดูเสมือนรัฐบาลไม่ต้องการแก้ไขอย่างจริงๆ จังๆ อาจจะเป็นเพราะเกรงว่า หากชาวนาพ้นปัญหาความยากจนแล้ว รัฐบาลจะขาดคะแนนเสียงจากคนกลุ่มนี้ ดังนั้น จึงมีผู้วิจารณ์ว่ามูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนายากจน น่าจะเกิดมาจากการเล่นการเมืองโดยรัฐบาลที่ต้องการเลี้ยงฐานคะแนนกลุ่มชาวนาและชาวไร่ไว้ต่อไป เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี