เหตุโศกนาฏกรรมกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อ 28 เมษายน 2547 ในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โศกนาฏกรรมนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 108 ศพ
แต่ต้องบอกเล่าเพื่อย้ำว่าโศกนาฏกรรมกรือเซะ มิได้เกิดเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่เกิดเหตุในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 10 แห่ง แต่จุดสำคัญอยู่ที่มัสยิดกรือเซะ เพราะมีการล้อมยิงเข้าไปในมัสยิดสำคัญแห่งนี้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ศพ
แน่นอนว่าก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมในมัสยิดกรือเซะได้มีเหตุไม่สงบโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่จงใจโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารและตำรวจกว่า 10 แห่ง การปะทะกันทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยบาดเจ็บหลายคน และทรัพย์สินของราชการเสียหาย
คนที่ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดพบว่าหลังเกิดเหตุ ทักษิณบอกว่าเป็นฝีมือของโจรกระจอก พวกขี้ยาที่ติดยาเสพติด ในสมัยเชษฐา ฐานะจาโร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาลทักษิณบอกว่าเป็นการกระทำของขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนที่เป็นมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการฝึกอาวุธจากต่างประเทศ
หลังเกิดโศกนาฏกรรม ไม่มีกลุ่มก่อการ หรือผู้ใดแสดงตัวประกาศว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม และที่สำคัญคือทางการไทยไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการก่อเหตุโดยคนกลุ่มใด แต่ที่ปรากฏชัดคือมีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน
มีเสียงโจมตีการกระทำของฝ่ายรัฐบาลไทยว่าทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะกราดยิงเข้าไปในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ทั้งๆ ที่ผู้ก่อเหตุไม่มีอาวุธสงครามมีเพียงมีดพร้า และกริชเท่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธครบมือไม่ควรกราดยิงเข้าไปในมัสยิด แต่ก็มีเสียงโต้จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า หากไม่รีบยุติสถานการณ์ แล้วปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อออกไปจนถึงเวลาค่ำสถานการณ์จะยิ่งบานปลาย จึงจำเป็นต้องยุติสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อป้องกันความสูญเสียและความเสียหายอื่นๆ ที่จะตามมา
มีมุมมองต่อเหตุการณ์นี้ต่างกันไปทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้ความรุนแรงเกินเหตุ และจงใจใช้ความรุนแรงที่เกินความจำเป็นเพื่อหวังจะสั่งสอนผู้ก่อเหตุในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสามแห่ง แต่สำหรับชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้กลับมองตรงข้ามกับรัฐบาล แต่มองว่าเป็นความจงใจใช้ความรุนแรงเกินเหตุ และเป็นการยั่วยุมากกว่าหวังยุติสถานการณ์ ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานีบางรายบอกว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายมากขึ้น เพราะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจของชาวมุสลิม และทำให้เกิดความคิดด้านลบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น จึงเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายมากขึ้นในอนาคตจนไม่อาจแก้ไขให้เกิดความสงบได้
แต่ขณะเดียวกันผู้นำศาสนาอิลสามในขณะนั้น บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความพยายามและความอดกลั้นจนถึงที่สุดแล้ว และพยายามไม่ใช้กำลังและความรุนแรง โดยอดทนอยู่นอกมัสยิด แต่สุดท้ายแล้วก็จึงใช้กำลังเพื่อจัดการ
อย่างไรก็ตาม ใครจะมองหรือวิเคราะห์สถานการณ์กรือเซะเมื่อปี 2547 ไปในทิศทางใดหรือแง่มุมใดก็ถือเป็นการแสดงความเห็นส่วนบุคคล แต่ความจริงคือเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในเขตจังหวัดปัตตานี และเป็นการตอกย้ำความไม่พอใจอย่างมากให้คนบางกลุ่ม
บาดแผลของโศกนาฏกรรมกรือเซะไม่ถูกรักษาให้หายสนิท ไม่ว่าจะมีรัฐบาลหลังจากทักษิณกี่ชุดก็ตาม แต่กลับถูกปล่อยให้ฝังรอยความแค้นลงลึกยิ่งขึ้น บัดนี้เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 21 ปี โดยเหตุการณ์เริ่มต้นในยุคทักษิณ จนมาถึงยุคแพทองธาร ชินวัตร ลูกของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง แล้วเหตุการณ์ความไม่สงบในเขตจังหวัดชายแดนใต้ทั้งสามก็กลับมาเกิดขึ้นอีกในช่วงนี้ ช่วงที่นายกรัฐมนตรีเป็นลูกของทักษิณโดยเฉพาะในช่วงรอมฎอนปีนี้มีเหตุไม่สงบถึง 71 ครั้ง และถึงแม้จะผ่านรอมฎอนไปแล้ว เหตุรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสาม คำถามคือเมื่อไรความสงบจะบังเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ความสูญเสียต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นมาตลอด 21 ปี ไม่ให้บทเรียนบ้างเลยหรือ...
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี