ขอย้ำว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดทางการเมืองครับ
ต่อให้คุณมีความคับแค้นทางการเมืองใดๆ คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย”แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็น “ราษฎรด้วยกัน” หรือ “พระมหากษัตริย์” ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น “ประมุขแห่งรัฐ”
1) เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเชียงราย นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ “บัสบาส” นายมงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปีผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564
คดีนี้ บัสบาสถูกจับกุมดำเนินคดีสองครั้ง ภายหลังเดินทางไปนั่งอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา ในช่วงสงกรานต์ปี 2564 โดยมี พ.ต.ท.ปราโมทย์ บุญตันบุตร จากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวหาในสองคดี ที่ถูกรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน
ในชั้นพิจารณา ศาลจังหวัดเชียงรายได้สั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการพิจารณา และมีช่วงการพิจารณาที่ศาลใช้การสืบพยานโดยระบบการบันทึกภาพและเสียง
2) หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น วันที่ 26 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษา โดยเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดในจำนวน 14 ข้อความ และยกฟ้องอีก 13 ข้อความ ในกรณีข้อความที่เกี่ยวกับอดีตพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 9) หรือข้อความที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ว่า โพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ศาลก็เห็นว่า ไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี ทั้งหมด 14 กระทง รวมโทษจำคุก 28 ปี
หลังพิพากษา ศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นเลย โดยอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
3) ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คดี และอัยการโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นกัน โดยขอให้ลงโทษในกระทงที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งหมด โดยทราบในภายหลังว่า ศาลได้ส่งหมายแจ้งการยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านซึ่งจำเลยไม่ได้อาศัยอยู่ ทำให้ไม่เห็นหมายแจ้งอุทธรณ์ของโจทก์
18 ม.ค. 2567 มงคล พร้อมเพื่อนและครอบครัว เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยปรากฏว่าลิฟต์ของศาลจังหวัดเชียงรายเสีย ทำให้พ่อและแม่ของมงคล ซึ่งอายุมากแล้ว ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาในชั้น 4 ได้ ต้องรออยู่ด้านล่าง
ศาลจังหวัดเชียงรายเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยในประเด็นอุทธรณ์ของจำเลย โดยเห็นว่า ศาลไม่อาจยึดถือตามคำยืนยันของจำเลย หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการทางกฎหมายที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยนำเข้าสืบเป็นหลักในการวินิจฉัย แต่ต้องรับฟังและพิจารณาความคิดเห็นนั้นประกอบการวินิจฉัยชี้ขาด
การกระทำของจำเลยในส่วนของการโพสต์ 14 ข้อความดังกล่าว ศาลเห็นว่า สามารถใช้ความรู้สึกและความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปก็เข้าใจได้ว่า จำเลยมีเจตนาอย่างไรจำเลยย่อมทราบดีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ประชาชนไทยให้ความเคารพสักการะ ทรงเป็นประมุขของประเทศ บุคคลผู้ให้ความเคารพสักการะต่อสถาบัน
พระมหากษัตริย์ จะไม่กระทำการอันเป็นการหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
การที่จำเลยใช้ถ้อยคำที่จำเลยเองก็ยอมรับว่าหยาบคายลงในเฟซบุ๊ก ลงภาพการทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหายหรือภาพล้อเลียนรูปพระพักตร์ หรือภาพที่แสดงถึงความไม่เคารพ วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อเกียรติยศ ไม่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ หรือเป็นการล้อเลียนเชิงวิพากษ์ และไม่อาจเข้าใจว่าจะไม่ได้ทำให้พระมหากษัตริย์เสียหาย ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าโพสต์ทั้ง 14 ข้อความ เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนในประเด็นอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ความผิดตามมาตรา 112 นั้น ต้องเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น โดยข้อความ 9 โพสต์ของจำเลย เป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 จึงขาดองค์ประกอบความผิด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6374/2556 วางหลักของความผิดตามมาตรา 112 พระมหากษัตริย์มิได้หมายความเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือมิได้ทรงครองราชย์ต่อไปแล้วด้วย ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 โพสต์ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วย
ส่วนโพสต์ข้อความอีก 2 โพสต์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า จะหมายถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อเข้าใจโดยชัดแจ้งว่า จำเลยได้กล่าวว่าองค์พระมหากษัตริย์ให้เสียหาย จึงเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโพสต์อีก 2 ข้อความ ที่เห็นว่ามิได้สื่อความหมายให้ผู้อ่านมีความรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดในอีก 11 กระทง ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงหนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ รวมเป็นโทษจำคุกรวม 50 ปี
4) หลังฟังคำพิพากษา นายมงคลได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล และทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำสั่งของศาลฎีกา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย ระบุพิจารณาคำร้องของจำเลย พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 50 ปีหากปล่อยชั่วคราวเชื่อได้ว่าจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง ทำให้มงคลจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายในระหว่างชั้นฎีกา
5) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า โทษจำคุกของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีนี้ นับได้ว่าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเท่าที่ทราบข้อมูลก่อนหน้านี้ คดีที่ถูกลงโทษจำคุกสูงที่สุดคือ คดีของ “อัญชัญ” ศาลอาญาลงโทษจำคุกรวม 87 ปี จากการเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน จำนวน 29 กรรม โดยเธอให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (คิดเป็นประมาณ 43 ปี 6 เดือน) โทษจำคุกที่ถูกลดหย่อนแล้วในกรณีของบัสบาส จึงสูงกว่าคดีของอัญชัญ
นอกจากสองคดีนี้ บัสบาสยังถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายในภายหลังอีกคดีหนึ่ง จากการโพสต์อีก 2 ข้อความ โดยในคดีที่สามนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
5) นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคก้าวไกลแสดงความเห็นกรณี “การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง”หลังจากเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผานมา ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก นายมงคล ถิระโคตร หรือ บัสบาส นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย เป็นเวลารวม 50 ปี โดยนายวีรนันท์ กล่าวว่าโทษจำคุก 50 ปี ถือเป็นโทษสูงสุดที่ศาลได้พิพากษาความผิดตามมาตรานี้
เขากล่าวว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคดีที่อยู่ในศาลหลายคดีที่อยู่ชั้นตำรวจ และอีกหลายคดีที่จบไปแล้วนั้นมูลเหตุจูงใจของการกระทำมาจากมูลเหตุทางการเมือง เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากมูลเหตุทางการเมือง เราก็ควรใช้การเมืองคลี่คลายและหาทางออกของสถานการณ์นี้ เป็นโอกาสเหมาะที่จะนำวาระเรื่องนี้เข้ามาถกเถียงในพื้นที่แห่งการพูดคุยนั่นคือพื้นที่ของรัฐสภา
ก่อนหน้านี้ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 หลายพรรคมีความเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นโดยหลักการมองไปทิศทางเดียวกัน ตนจึงขอย้อนเตือนความจำและฝากคำถามไปยังพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล 2 ข้อ ว่า 1.จะเอาอย่างไรกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง พรรคเพื่อไทยจะยื่นหรือไม่ และ 2.หากยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง พรรคเพื่อไทยจะยื่นเมื่อไรและมีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไร
นายวีรนันท์ กล่าวต่อว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองอย่างจริงจัง และใช้พื้นที่สภาฯ ร่วมกันพิจารณากฎหมายเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น เนื่องจากการตัดสินโทษที่เกิดขึ้นถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง
“ผมและพรรคก้าวไกลยังคงรอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อตั้งกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองจากทางพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลที่จะยื่นเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเนื้อหารายละเอียด และถอดสลักความขัดแย้งทางการเมืองไทยไปด้วยกัน” นายวีรนันท์ กล่าว
นายวีรนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนไม่อาจทนเห็นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกต้องเดินเข้าคุกและจากไปทีละคน และหากไม่มีความชัดเจนเรื่องการนิรโทษกรรม เมื่อวันนั้นมาถึงก็สายเกินกว่าจะมาคุยกันในเรื่องนี้แล้ว
6) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า กรณีนายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น เขต 1พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นหลังศาลจังหวัดเชียงราย อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก นายมงคล ถิระโคตร หรือ บัสบาส นักกิจกรรมใน จ.เชียงราย รวม 50 ปี โดยอ้างการกระทำความผิดมาตรา 112 มีมูลเหตุจูงใจมาจากการเมืองและเสนอใช้การเมืองคลี่คลายปัญหาผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลนั้น
นายธนกรกล่าวว่า ตนจึงขอเตือนนายวีรนันท์รวมไปถึงพรรคก้าวไกลด้วย ว่า อย่าเหมารวมคดีที่มีความร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คนกระทำผิดจาบจ้วง ล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์บุคคลสำคัญของชาติ มารวมอยู่ในคดีทางการเมือง เพราะเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกับการเมือง
เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลเสนอให้สภาได้หาทางออกเรื่อง ม.112 ร่วมกัน ผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นไปได้หรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องเข้าใจหลักการเรื่องกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ซึ่งคนไทยรักและเทิดทูน มาตลอด ซึ่งคนที่ทำผิดกฎหมายดังกล่าวก็แสดงถึงว่ามีเจตนาคิดร้าย ถือเป็นเรื่องร้ายแรง จะมาเสนอนิรโทษกรรม ยกโทษให้โดยเหมารวม ให้เป็นคดีทางการเมืองไม่ได้ และเชื่อว่าเมื่อเสนอเข้ามาในสภา มั่นใจว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน
“เข้าใจว่าพรรคก้าวไกลมีความพยายามจะขับเคลื่อนและหาทางออกในเรื่องคดีมาตรา 112 เนื่องจากมีกลุ่มสนับสนุนพรรคของตัวเองรวมอยู่ด้วย แต่ขอให้ยึดหลักกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะสถาบันไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และการจาบจ้วง หมิ่นประมาท เป็นกฎหมายอาญา ขนาดบุคคลทั่วไปยังไม่ยอมความกันเลย กฎหมายนี้จึงมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันฯจากการถูกปองร้ายในรูปแบบต่างๆ ป้องกันไม่ให้กลุ่มที่คิดลดทอน หรือ คิดล้มล้างได้ จึงขอเรียกร้องไปยังนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ปรับทัศนคติความคิดของสส.ในพรรคเสียใหม่ ให้เข้าใจหลักกฎหมายนี้” นายธนกร ระบุ
7) ผมเห็นด้วยกับหลักคิดและคำอธิบายของนายธนกร จึงขอย้ำว่า “การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ใช่เรื่องที่จะอ้าง “การเมือง”กลบเกลื่อนได้ แต่ไม่ต้อง “ตีฝีปาก” สร้าง “วาทกรรม” ว่า“ตนไม่อาจทนเห็นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกต้องเดินเข้าคุกและจากไปทีละคน” เพราะการแสดงความเห็นต่างและการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ต้องมีขอบเขต คือ จะไปละเมิดผู้หนึ่งผู้ใดมิได้เช่น ผมกับนายธนกรเห็นต่างจากนายวีรนันท์ ก็ไม่ได้แปลว่า ผมจะโพสต์ภาพหรือกล่าวถึงนายวีรนันท์ ที่ผิดไปจากความจริง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายนายวีรนันท์ ยกตัวอย่างเช่น ด่านายวีรนันท์ว่า“ไอ้ลูกกะหรี่” เป็นต้น อย่างนี้ผมมีความผิดแน่
หากนายวีรนันท์กับพรรคก้าวไกลมองว่า การ“ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์” นั้น“มูลเหตุจูงใจของการกระทำมาจากมูลเหตุทางการเมือง”ก็ให้จำเลยพิสูจน์ให้ได้ว่า นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด ทำให้ตนพูดหรือโพสต์ภาพหรือข้อความเหล่านั้น โดยทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แล้วไปเอาโทษต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นๆ แทน
การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย อย่างไรเสียก็ต้องเอาโทษ เพราะเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต
อยู่ที่จะเอาโทษใครเท่านั้นเอง!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี