พระสมเด็จสายวังหลวงรุ่นสำคัญอีกรุ่นหนึ่งคือรุ่นที่ทำจากแก้วโมรา อันแก้วโมรานี้เป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง มีสามสีคือสีเขียว สีแดง และสีขาว สีเขียวมีลักษณะคล้ายหยกแต่เนื้ออ่อนกว่าหยก สีแดงมีลักษณะคล้ายทับทิมแต่เนื้ออ่อนกว่าทับทิม สีอ่อนไปในทางเดียวกับอัญมณีที่มีชื่อว่ากิมบ่อเซี้ยง
ส่วนแก้วโมราสีขาวนั้นพบในตำนาน โดยเฉพาะในวรรณคดีพระอภัยมณีของสุนทรภู่ว่าด้วยตราพระราหูที่น้องสาวอุศเรนใช้ต่อสู้และทำร้ายพระอภัยมณีมาแล้ว แก้วโมราสีขาวภายในเป็นลายพยัพเมฆ
สุนทรภู่ได้พูดถึงตราพระราหูไว้ว่าเป็นตราศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชมาก โดยได้พรรณนาว่า “ประการหนึ่งซึ่งตราพระราหูเป็นของคู่ขัตติยาเทวาถวาย เป็นตราแก้วแววเวียนวิเชียรพราย”หมายความว่าตราพระราหูนั้นเป็นตราอัญมณีศักดิ์สิทธิ์สำหรับสมเด็จพระมหากษัตริย์ ซึ่งเทวดาเป็นผู้สร้างขึ้นและประทานแก่สมเด็จพระมหากษัตริย์ และตกทอดมาถึงรุ่นอุศเรนและน้องสาวอุศเรนเป็นผู้ใช้ตราพระราหูนี้ต่อสู้กับพระอภัยมณี
โมราสีขาวจะมีลักษณะเหมือนกับแก้วโป่งคามสีขาวซึ่งเคยมีปรากฏขึ้นโดยเมื่อราว พ.ศ. 2506 ได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งไปตามหาเด็กชายคนหนึ่งที่วัดระฆังโฆสิตารามจนกระทั่งไปถึงกุฏิธรรมนิวาสก็พบกับเด็กชายผู้นั้น พระธุดงค์รูปนั้นก็บอกว่าใช่แล้ว ฉันตามหาเธออยู่ ว่าแล้วก็ล้วงไปในย่ามเอาของสิ่งหนึ่งห่อกระดาษสีน้ำตาลส่งให้ บอกว่าให้เก็บรักษาไว้เพื่อมอบแก่ผู้มีบุญ
เด็กน้อยคนนั้นก็แกะห่อนั้นออก ก็ปรากฏว่าเป็นแก้วสีขาว สูงประมาณ 6 นิ้ว มีลักษณะกลม ยอดปลายมนและแหลม วางอยู่บนแท่นไม้สักซึ่งแกะเป็นแผ่นกลมๆจึงได้สอบถามพระรูปนั้นว่าเป็นอะไร มาจากไหน พระก็บอกว่าท่านเดินธุดงค์ไปในภาคเหนือ วันหนึ่งปรากฏแสงสว่างขึ้นที่ภูเขาลูกหนึ่งในตอนกลางคืน และบังเกิดความรู้ว่าเป็นแก้วประดับยอดพระเจดีย์แต่โบราณ ซึ่งพระเจดีย์พังทลายลงมาเสื่อมสลายไปแล้ว แก้วยอดเจดีย์ดังกล่าวจึงฝังอยู่ในดินและสำแดงอภินิหารให้ท่านได้ทราบ รุ่งขึ้นเช้าจึงไปค้นหาดูก็ได้พบแก้วดังกล่าว
ภายในดวงแก้วนั้นมีลักษณะเหมือนก้อนเมฆลอยอยู่เด็กน้อยก็ถามว่าผู้มีบุญที่จะฝากมอบให้นั้นเป็นใครพระก็บอกว่าสักวันหนึ่งก็จะรู้เองว่าเป็นใคร เด็กน้อยก็รับเอาแก้วนั้นมา พระรูปนั้นก็เดินกลับออกไป เด็กน้อยแกะห่อแก้วออกมาอีกครั้งหนึ่งและหันไปดูพระก็ปรากฏว่าหายลับไปแล้ว เด็กน้อยจึงวิ่งตามไปดูจนถึงประตูคณะหนึ่ง วัดระฆัง แต่ก็ไม่พบพระรูปนั้นอีก
เด็กน้อยได้เอาแก้วนั้นวางไว้ที่โต๊ะหนังสือในห้องโถงกลางซึ่งใกล้กับที่นอน และเป็นห้องเปิด ใครๆ ก็เดินผ่านได้เพราะไม่มีที่เก็บที่ดีกว่านี้ ปรากฏว่าเวลาผ่านไปหลายปีก็ไม่มีผู้ใดเห็นแก้วดังกล่าวนี้ และเมื่อถึงคราวเด็กน้อยออกจากวัดไปอยู่บ้านก็ได้นำแก้วดังกล่าวไปด้วย ได้โยกย้ายที่อยู่อีกสองที่ ก็ได้ตั้งแก้วนั้นไว้ที่หน้าพระซึ่งเป็นที่เปิด และเป็นที่อัศจรรย์ว่าไม่มีใครพบเห็นแก้วนั้นเลย
ต่อมาเด็กน้อยคนนั้นมีฐานะการงานดีขึ้น มีบ้านช่องอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่มีคนบ้านเดียวกันจากต่างจังหวัดมาอาศัยมากมาย เด็กน้อยก็เอาแก้วดังกล่าวตั้งไว้ที่หน้าพระเหนือบันได ซึ่งผู้คนเดินผ่านมากมาย แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเคยเห็นแก้วดังกล่าว จนกระทั่งฐานะของเด็กน้อยคนนั้นดีขึ้นอีก มีบ้านพักเป็นทาวน์เฮ้าส์อยู่เป็นหลักเป็นฐาน มีห้องพระสำหรับตั้งพระบูชาเป็นการเฉพาะ ก็ได้นำเอาแก้วดังกล่าวไปวางไว้ที่หน้าพระและสักการบูชาตามปกติ
อยู่มาวันหนึ่งราว พ.ศ. 2530 ในขณะที่เด็กน้อยคนนั้นซึ่งเป็นหนุ่มแล้วกำลังนั่งสมาธิตามปกติที่คุ้นเคยมาจากความเป็นเด็กวัด ก็ได้บังเกิดนิมิตรู้ขึ้นว่าผู้มีบุญที่จะต้องเอาแก้วดังกล่าวไปมอบให้คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และบังเกิดความสว่างไสวขึ้นที่หน้าพระเป็นที่อัศจรรย์ เด็กน้อยคนนั้นก็มั่นใจว่าผู้มีบุญคนนั้นตามที่พระได้บอกไว้คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
รุ่งขึ้นจึงได้แต่งหนังสือกราบบังคมทูลนำส่งแก้วดังกล่าวเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย โดยผ่านสำนักราชเลขาธิการตามปกติ ซึ่งบัดนี้แก้วโมราลายพยัพเมฆดังกล่าวจะอยู่ที่ไหนอย่างไรก็ไม่เคยได้ทราบข่าวคราวอีกเลย
เพราะเหตุที่แก้วมราสีขาวเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่หายากดังพรรณนามานั้น จึงมีปรากฏแต่เฉพาะแก้วโมราสีเขียวและสีแดง ซึ่งในช่วงที่วังหน้ากำลังจะสร้างพระสมเด็จเพื่อเป็นอนุสรณ์บรรจุกรุ 84,000 องค์ ซึ่งเป็นการใหญ่ ข่าวคราวรู้กันเป็นการทั่วไป หัวเมืองต่างๆ และประเทศราชต่างๆ ก็ได้ส่งข้าวของมาร่วมการกุศลนั้น
ปรากฏว่าประเทศพม่าและศรีลังกาได้ส่งแก้วโมราเป็นก้อนขนาดใหญ่เข้ามาถวายเพื่อร่วมงานกุศลครั้งนี้ แต่การแกะแก้วโมราขนาดยักษ์เป็นเรื่องยากมากและเสียเวลามาก ดังนั้นก้อนโมราทั้งหมดจึงเก็บไว้ที่วังหน้าและมิได้ดำเนินการใดๆ เพราะขาดช่างที่มีฝีมือในการดำเนินการ
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และเป็นที่ทราบกันดีว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4ไม่โปรดให้สถาปนาวังหน้าอีก ดังนั้นบรรดาข้าวของทั้งหลายที่เหลืออยู่ ยกเว้นพระที่ทำพิมพ์แล้วจึงถูกส่งเข้าไปเก็บไว้ที่กรมช่างสิบหมู่ กระทรวงวัง เพื่อรอการพิจารณา
ต่อมาหลังจากการทำพระสมเด็จรุ่นงาช้างทรงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จำนวน 27 องค์แล้ว กระทรวงวังจึงมีบัญชาให้กรมช่างสิบหมู่ทำการแกะสลักแก้วโมราสีเขียวและสีแดงเป็นรูปพระสมเด็จ โดยมีแบบพิมพ์ที่กรมช่างสิบหมู่ออกแบบขึ้นเป็นรูปแบบพระประธานวัดระฆัง พระแก้ว และทรงเจดีย์
การแกะแก้วโมราคงจะใช้เวลานานมาก ดังนั้นพระสมเด็จที่ทำจากแก้วโมราจะมีกี่องค์จึงไม่ปรากฏแน่ชัด และกว่าจะแกะเป็นองค์พระเสร็จเวลาก็น่าจะล่วงเลยมานาน อาจจะถึงปีพ.ศ. 2414 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าประคุณสมเด็จชราภาพมากเต็มทีแล้ว ดังนั้นจึงมีความคิดที่จะให้มีข้อความประดับไว้ที่องค์พระ แต่ไม่สามารถเขียนข้อความโดยทางอื่นได้
กรมช่างสิบหมู่จึงมีดำริใช้ทองบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีเนื้อทองประมาณ 80% ทำเป็นแผ่นเล็กๆ กว้างยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีจารึกข้อความไว้
3 ข้อความ คือ พระธาตุ ขรัวโต 2411 และประดับทองแผ่นดังกล่าวไว้ที่ฐานพระสมเด็จนั้น จึงเป็นพระสมเด็จวังหลวงรุ่นแรกที่มีแผ่นทองคำประดับไว้ที่ฐานพระ และเป็นต้นแบบให้มีการกระทำเช่นนี้อีกหลายรุ่นตามมา
ข้อความที่ว่าพระธาตุก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการบูรณะพระธาตุพนมวังหน้าที่พังทลายลงเมื่อปี พ.ศ. 2401
ข้อความที่ว่าขรัวโตก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเอกอัครเถราจารย์ที่ทรงวิหารธรรมขั้นสูงองค์สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีฐานะเป็นลุงของพระเจ้าอยู่หัว และยังเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ด้วย และขณะนั้นเจ้าประคุณสมเด็จก็เจริญด้วยอายุและพรรษายุกาลสูงมาก ใกล้เวลาจะดับขันธ์เต็มทีแล้ว
ข้อความที่ว่า 2411 ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงงานฉลองพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ครองสิริราชสมบัติ 1 ปีแต่เนื่องจากแผ่นทองนั้นเล็กมาก ตัวเลข 2411 บางแผ่นจึงดูเหมือนตัวเลข 2401 ทำให้บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอนุสรณ์ที่พระธาตุพนมวังหน้าพังทลายลง ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะการที่พระธาตุพนมพังทลายลงนั้น ไม่มีความสำคัญใดที่จะต้องมีข้อความเป็นอนุสรณ์ ทั้งจะมีลักษณะเป็นนานาวิการเชิงอาเพศที่เป็นอันตรายต่อบ้านเมืองและเป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์มีพระราชประสงค์ต้องกันที่จะทำการบุญกุศลใหญ่ในยุครัตนโกสินทร์เพื่อจะล้างอาเพศนั้นเสีย โดยการสร้างพระสมเด็จ 84,000 องค์ เพื่อบรรจุกรุ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปจนครบ 5,000 ปี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี