ข่าวกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ พีดีเอฟ กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ เอ็นยูจี รัฐบาลเงาพม่า สามารถใช้โดรนทิ้งระเบิดใส่กองทัพเมียนมาในกรุงเนปิดอว์ได้ ยังไม่ขำเท่ากับข่าวทหารกะเหรี่ยง ยึดกรุงเมียวดี ที่สื่อตะวันตกเสนอเป็นข่าวใหญ่ และนักวิชาการดาหน้าออกมาแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาท่าจะล่มสลายลงในเร็ววัน
คอลัมน์นี้ที่คุ้นเคยกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามากว่าสี่สิบปี รู้สึกเห็นใจที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อปฏิบัติการข่าวสื่อตะวันตก ที่มักปั่นกระแสความสำเร็จฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ไม่ว่าจะเป็น พีดีเอฟหรือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ล่มสลายไปตั้งแต่ปี 2545 แต่ถูกซีไอเอชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยงเคเอ็นยูหรือกองกำลังชาติพันธุ์คะยา ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย ที่ซีไอเอ ฟื้นฟูขึ้นมาเพื่อให้สู้รบกับรัฐบาลทหารเมียนมาร่วมกับพีดีเอฟ
เมื่อคราวปฏิบัติการข่าวของสื่อตะวันตกปั่นกระแสว่า พีดีเอฟ สามารถทะลุทะลวงเข้าไปทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพในเมืองหลวงใหม่พม่าได้ คนที่คลุกคลีอยู่สถานการณ์พม่ากว่า 40 ปีก็อดขำไม่ได้ และกลั้นหัวเราะไม่อยู่ เมื่อไอโอของวอชิงตันปั่นกระแส กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สนธิกำลังกับพีดีเอฟยึดเมียวดีได้ หลังข่าวแพร่หลายออกไปสื่อไทยก็แห่ไปสัมภาษณ์นักวิชาการที่พรั่งพรูความเห็นออกมาราวกับว่ารู้เรื่องในพม่ามากกว่ารู้จักเส้นบนลายมือตัวเอง
ที่น่าขำไปกว่านั้น เมื่อมีข่าวรัฐบาลเมียนมาขออนุญาตนำเครื่องบินพาณิชย์มารับทหารเมียนมาไปจากสนามบินแม่สอด นายกฯรถแห่หรือนายกฯว่าวของไทยออกมาโวยวายว่า รัฐบาลไทยต้องชัดเจนเรื่องอธิปไตยของชาติ การให้เครื่องบินต่างชาติเข้ามารับทหารในประเทศไทยผิดกฎหมายสากล และถือว่าฝักใฝ่รัฐบาลทหารที่สหประชาชาติคว่ำบาตร #อยากเรียนนายกฯว่าวว่า การขออนุญาตใช้เครื่องบินพาณิชย์ หรือแม้แต่เครื่องบินทหารรับผู้โดยสาร หากจำเป็นทำได้ในภูมิภาคนี้
เช่นปี 2531 ที่มักเรียก 888 ที่คณะปฏิวัตินำ โดยพลเอกซอ หม่อง ปราบปรามการประท้วงใหญ่ในประวัติศาสตร์พม่า ทำให้นักศึกษาพม่าสองหมื่นกว่าคน หนีตายไปอยู่กับกะเหรี่ยง KNU ใกล้ชายแดนไทย นักศึกษานับพันคนทนสภาพในป่า ไม่ไหวขอกลับบ้าน ทางการไทยก็อนุญาตให้พม่านำเครื่องบินลำเลียงทหารมารับกลับไป หลายร้อยคน ออกเดินทางจากสนามบินแม่สอด และสนามบิน บน.6 ผู้เขียนกับนักข่าวสายทหารก็ติดไปในเครื่องบิน C-130 ด้วย
หรือในกรณีเขมรเผาสถานทูตไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ผู้บัญชาการทหารไทยยุคนั้นนำเครื่องบิน C-130 พร้อมรถหุ้มเกราะไปรับคนไทยกว่า 300 คน กลับจากกรุงพนมเปญ และยังมีอีกหลายกรณีที่เครื่องบินพาณิชย์ และเครื่องบินทหาร ขออนุญาตบินเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้านได้ ขอให้นายกฯว่าว เข้าใจว่า เป็นเรื่องที่เพื่อนบ้านเอื้อเฟื้อต่อกันทางด้านมนุษยธรรม
เอาละวกกลับมาเรื่องสื่อไอโอเสนอข่าวกะเหรี่ยงยึดเมืองเมียวดีได้ ในฐานะคนหากินกับข่าวก็ต้องสอบถามกับคนในพื้นที่ตั้งแต่วันที่มีข่าวเมียวดีแตก แหล่งข่าวในกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA)ที่แยกออกมาจากกะเหรี่ยง KNU และแปรพักตร์เป็นกองกำลังป้องกันชายแดน (Border Guard Force=BGF) ของรัฐบาลพม่า ถามเราว่า “พี่ยังไม่คุ้นเคยกับข่าวทำนองนี้อีกหรือ... เมียวดี ยังอยู่สุขสบายที่เขาตีกันนะไกลออกไปหลายสิบกิโลเมตร” แหล่งข่าวใน BGF กล่าวกับแนวหน้า
คำถามที่ว่า “พี่ยังไม่คุ้นเคยกับข่าวทำนองนี้หรือ” ทำเอาผู้เขียนหน้าชาเล็กน้อย เนื่องจากว่า นักข่าวที่เกาะติดกลุ่มชาติพันธุ์มานาน ต่างก็เคยชินกันการปั่นกระแสว่า กลุ่มชาติพันธุ์ยึดฐานที่มั่นโน่นนี้นั้นของทหารพม่าได้เป็นร้อยครั้งในเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อผู้สื่อข่าวขอไปในพื้นที่ยึดได้ ไม่มีกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มไหนยอมให้ไปโดยอ้างเพื่อความปลอดภัยบ้าง อ้างว่ากลัวผิดใจทหารไทยบ้าง และไม่กี่วันต่อมาก็มีข่าวว่า ทหารพม่ายึดฐานที่มั่นเหล่านั้น คืนได้แล้ว
ผู้เขียนเมื่อคราวทำข่าวกับสำนักข่าวยูพีไอต่อเนื่องสำนักข่าวรอยเตอร์ส ตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2545 ไม่เคยเห็นสักครั้งว่ากลุ่มชาติพันธุ์ยึดฐานทหารพม่าได้เกินสิบวันจึงพูดได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ทำสงครามกับรัฐบาลเมียนมากว่าห้าสิบปี มีแต่พม่าที่เป็นฝ่ายรุก (Offensive) ส่วนชนกลุ่มน้อยมีแต่ทำสงครามจรยุทธ์ โจมตีฐานพม่า แล้วล่าถอยออกมา และในสงครามยุคใหม่ หลังจากพลเอกมิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าสงครามประชาชน ที่สื่อตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งของไอโออเมริกามักเสนอข่าวฝ่ายต่อต้านสามารถยึดบางส่วนของรัฐยะไข่ได้ ยึดเมืองส่วนใหญ่ในรัฐคะยาได้ ฝ่ายต่อต้านยึดบางเมืองในรัฐคะฉิ่นได้ และไม่กี่วันหลังจากปั่นกระแสความสำเร็จของฝ่ายต่อต้านสื่อตะวันตกก็โหมกระแสโจมตีรัฐบาลทหารว่า ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดโจมตีเมืองที่ฝ่ายต่อต้านยึดได้อย่างโหดร้ายทารุณ ทำให้พลเรือนตายเป็นร้อยเป็นพัน ในบางเมืองทหารปิดเส้นทางเข้าออกก่อนเผาบ้านเรือนประชาชน กลายเป็นเถ้าถ่านทั้งหมู่บ้าน และทิ้งระเบิดสังหารซ้ำ
เอาละมาว่ากันเรื่องยึดเมียวดี แหล่งข่าวในหน่วยงานมั่นคงบอกกับแนวหน้าว่า กองกำลังผสมของฝ่ายต่อต้านยึดศูนย์ยุทธ์ตะวันออกของพม่าที่“ติกายิน่อง”ประมาณ 20 กิโลเมตรจากเมียวดีได้จริง แต่ไม่ได้เกิดจากการสู้รบรุนแรง มันเกิดจากการปิดล้อมกดดันของกองกำลังผสมเฉพาะกิจ อันประกอบด้วย ทหากะเหรี่ยง KNU กองกำลังสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC) และ กองกำลัง PDF บางส่วน หลังจากปิดล้อมหลายวัน ทหารพม่า 3 กองพัน ที่อยู่ในศูนย์ยุทธศาสตร์ฯก็ขาดแคลนเสบียง เลยมีการเจรจาให้ยอมจำนน และทหารเมียนมาส่วนใหญ่ถอนตัวออกจากฐานที่มั่น บางส่วนนำเอกสารสำคัญข้ามมาฝั่งไทย ขึ้นเครื่องบินจากแม่สอดกลับไปร่างกุ้ง แหล่งข่าวว่า“เข้าใจว่าเป็นกลยุทธ์ของกองทัพพม่าที่ไม่อยากเสียกำลังพลโดยไม่จำเป็นเพราะถึงอย่างไรก็ยึดฐานทัพคืนได้ในไม่ช้า”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าหากดูผิวเผินจะเข้าใจว่าฝ่ายต่อต้านสนธิกำลังได้เข้มแข็งเพราะข่าวกะเหรี่ยงกลับมารวมกันทั้ง 5 กลุ่ม แต่ในความเป็นจริง กะเหรี่ยงรวมตัวกันหลวมๆ ปัจจุบันนี้ กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่มไม่ขึ้นต่อกัน บางกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เพราะแรงสนับสนุนจากมหาอำนาจ อาทิ กะเหรี่ยง KNU และกองกำลังกะเหรี่ยงสันติภาพ ต่างก็มักใหญ่ใฝ่สูง อยากเป็นแกนนำฝ่ายต่อต้าน ส่วนกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ไม่มีวันที่จะกลมกลืนกับกะเหรี่ยง KNU ได้
...“ในปฏิบัติการยึดศูนย์ยุทธศาสตร์ฯครั้งนี้ DKBA วางเฉยไม่รักษาชายแดนให้พม่าและก็ไม่ร่วมรบกับกองกำลังผสมที่ KNU เป็นแกนนำ” แหล่งข่าวกล่าว และอธิบายด้วยว่า หม่อง ชิตตู ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF ภายใต้การบัญชาการของทหารพม่า กองกำลัง BFG ประมาณ 600 คนกับทหารพม่าสามกองพันยังคงควบคุมเมืองเมียวดีไว้ได้โดยสมบูรณ์
เป็นที่น่าสังเกตว่า กะเหรี่ยงพุทธ หรือ DKBA ก่อขบถ และแยกจากกะเหรี่ยง KNU ตั้งแต่ปี 2545 ต่อมาเป็น BGF ในปี 2551 แต่ DKBA ไม่พิทักษ์ชายแดนให้พม่าและไม่ร่วมรบกับ KNU ในการโจมตีกองทัพพม่าครั้งนี้เพราะเหตุว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ทางการจีนกล่าวหาว่า หม่อง ชิตตู มีส่วนเกี่ยวข้องแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มจีนสีเทา และขู่จะจับเขานั่นเป็นสาเหตุให้ DKBA วางเฉยไม่ช่วยรบพม่า และไม่ร่วมกับฝ่ายต้านเป็นการชั่วคราว
ทั้งหมดนี้ คือความซับซ้อนในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่าที่แทบจะกล่าวได้ว่า เกือบทุกกลุ่มมีความแตกแยกแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่แตกเป็น 5 กลุ่ม ชาติพันธุ์มอญก็มีมอญกู้ชาติ กองกำลังมอญ BGF ชาติพันธุ์ฉานหรือไตใหญ่ก็มีไตใหญ่เหนือ ไตใหญ่ใต้ และชาติพันธุ์อื่นๆ ก็เช่นกันที่มีทั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลและกองกำลัง BGF อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนเร็วๆ นี้ คือ สงครามในเขตปกครองครองพิเศษโกก้าง ที่โกก้าง BGF ซึ่งเป็นคอลเซ็นเตอร์ ที่ถูกกำลังผสมโกก้าง ชาติพันธุ์ยะไข่และปะหล่อง ยึดเมืองเล่าก์ก่ายได้ และแล้วโกก้างกลุ่มที่ปราบปรามโกก้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็กลายเป็นโกก้าง BGF กลุ่มใหม่บริหารเขตปกครองพิเศษโกก้างต่อไป
ผู้เขียนเข้าไปทำข่าวคลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งในยุคนั้นประเทศไทยใช้กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นรัฐกันชนเพื่อต้านการรุกรานคอมมิวนิสต์ พบว่า หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น ประเทศไทยค่อยๆ ลดการใช้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นรัฐกันชน ถึงปี 2544 บริษัทครอบครัวผู้นำไทยทำการค้ากับรัฐบาลทหารพม่า การใช้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นรัฐกันชนก็สิ้นสุดลงโดยปริยาย และ กลุ่มชาติพันธุ์ขัดแย้งแตกแยกชิงดีกันตั้งแต่ทศวรรษ 2545 ในขณะที่ทหารพม่ามีความเป็นเอกภาพมากว่า 50 ปี จึงสรุปว่าฝ่ายต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีวันเอาชนะกองทัพพม่าได้ในศตวรรษนี้
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี