“บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม” หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” ถือว่าเธอได้พ้นเคราะห์พ้นกรรมหมดทุกข์หมดโศกไปแล้ว ในวัย 28 ปี หลับอย่างนิรันดร์ ไปสู่สุคติในภพภูมิที่มีแต่ความสุขความสบาย ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใดๆ ทุกชีวิตมีความเทียมเท่า ไร้ซึ่งความเห็นต่าง
จะเหลือก็แต่คนที่อยู่ข้างหลังในภพนี้เท่านั้น ที่จะดำเนินชีวิตกันอย่างไรก่อนจะไปถึงสถานีสุดท้ายคือความตาย หากทำดีก็มีคนกล่าวถึง ทุกข์สุขอยู่ที่การกระทำของแต่ละบุคคล แต่ละฝ่าย และแต่ละกลุ่ม ที่มีจุดยืนและทรรศนะต่อชีวิตของตนเองและโลกที่อยู่รอบตัวอย่างไร
ความตายของ“บุ้ง เนติพร” มีทั้งคนที่อาลัยต่อการจากไปของเธอด้วยความเศร้าโศกเสียใจ อย่างที่มนุษย์กับมนุษย์จะมีต่อกัน และมีคนที่คิดจะใช้ความตายของเธอเพื่อนำไปเป็นเงื่อนไขทางการเมือง
คนกลุ่มหลังนี้จึงสมควรถูกประณาม เป็นคนซึ่งไร้จิตใจของความเป็นมนุษย์ ไม่ต่างจาก“ฝูงอีแร้ง”ที่เห็นความตายของ“บุ้ง เนติพร”เป็นเพียงแค่ซาก“อสุภ”อันเป็นเหยื่อที่โอชะให้รุมจิกทึ้ง
ร่างของ“บุ้ง เนติพร”เพิ่งจะถูกเข็นเข้าไปในห้องดับจิต เสียงฝูงอีแร้งก็ดังเซ็งแซ่
"ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน”
“ไม่ควรมีใครต้องถูกคุมขังเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิต เพียงเพราะการคิดที่แตกต่างกัน”
“ไม่ควรมีใครต้องมาเสียชีวิตจากขบวนการอยุติธรรมนี้"
อย่างไรก็ตาม หลัง“บุ้ง เนติพร”สิ้นลมหายใจ พรรคก้าวไกลส่งเสียงดังที่สุด ได้แถลงแสดงความเสียใจพร้อมทั้งติดแฮชแท็กเรียกร้องให้คืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน เกี่ยวกับสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี
พรรคก้าวไกล ซึ่งมิอาจปฏิเสธได้ว่า“บุ้ง-เนติพร”และเยาวชนคนหนุ่มสาวกลุ่มทะลุวังที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องหาและจำเลยใน“คดีมาตรา 112” ได้รับอิทธิพลความคิดทางการเมืองมาจากพรรคการเมืองนี้ และคนทั่วไปเชื่อกันว่าพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลังทุกการเคลื่อนไหวของบุ้งและกลุ่มทะลุวัง กล่าวในคำแถลงแสดงความเสียใจว่า
“ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับประเด็นและวิธีการที่คุณบุ้งแสดงออกในช่วงที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลขอยืนยันหลักการว่า ในสังคมประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต้องได้รับการรับรอง ไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง และไม่ควรมีใครถูกผลักให้ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต”
ในข้อเท็จจริงนั้น “บุ้ง เนติพร”ได้รับการประกันตัวมาแล้ว 2 ครั้ง แต่บุ้งทำผิดเงื่อนไข จึงถูกถอนประกันและต้องกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จากนั้นเธอก็ได้ประกาศอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่เวลาหกโมงเย็นของวันที่ 27 มกราคม 2567เป็นต้นมา อันเป็นสาเหตุให้เธอต้องเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ในวิถีทางของเธอ ในฐานะผู้เห็นต่างจากประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง แม้เธอจะมีความเห็นต่างในทางการเมือง แต่เธอทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีข้อบัญญัติห้ามไว้ ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติขึ้นมา ก็เพื่อคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ จึงได้กำหนดการกระทำอันเป็นความผิดและกำหนดอัตราโทษแก่ผู้กระทำการหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และโดยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น ก็สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี นิติประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ จะกล่าวหา หรือฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้
มาตรา 112 จึงนอกจากจะคุ้มครองมิให้มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมทราม หรือสิ้นสลายไปเท่านั้น ยังเป็นบทบัญญัติที่เป็นกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอนและบ่อนทำลาย โดยใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้
ตามที่พรรคก้าวไกล อ้างหลักการของสังคมประชาธิปไตย ว่า“สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต้องได้รับการรับรอง และไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง” จึงเป็นการบิดเบือนเพื่อให้มวลชนในฟากฝ่ายของตนเองเข้าใจผิด และหลงผิด เพราะ“บุ้ง เนติพร”กระทำความผิดในคดีอาญามาตรา 112
และอีกองค์กรหนึ่งที่สมควรต้องประณาม นั่นก็คือ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) ซึ่งได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” ด้วยข้อความที่ทำให้คนในสังคมอาจเข้าใจผิดได้ ว่า“บุ้ง เนติพร”เป็นผู้ต้องขังคดีการเมือง โดยระบุในคำแถลงด้วยการบิดเบือนว่า “ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้น”
มิหนำซ้ำ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในยุคนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็น“ไม้หลักปักขี้เลน”ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ยังประสานเสียงเหมือน“อีแร้ง”ที่ไม่ยอมหลงฝูงว่า “ไม่ควรมีใครเสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขัง และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด”
ขอย้ำอีกครั้งในข้อเท็จจริงว่า “บุ้ง เนติพร”เป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา เคยได้รับการประกันตัวมาแล้วถึงสองครั้ง แต่กระทำผิดเงื่อนไขจึงถูกถอนประกัน !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี