ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าศึกษา และผู้คนที่เกิดในบ้านเมืองใดก็ตาม ควรจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของชาตินั้นๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ทราบถึงรากเหง้า ความเป็นมาของชาติที่เป็นแผ่นดินเกิดแล้ว ยังสามารถจะนำเรื่องราวบางเรื่องในประวัติศาสตร์มาใช้เป็นบทเรียนในการบริหารกิจการบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี
อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรที่ ๒ ของชาติไทย ถูกสถาปนาขึ้นราวปีพุทธศักราช ๑๘๙๓ โดยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ตรงส่วนกลางของประเทศ โดยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงก่อสร้างบ้านเมืองและครองราชย์เป็นพระองค์แรกคือพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
พระองค์ทรงปกครองแผ่นดินอยู่เป็นระยะเวลา ๑๙ ปีเศษ และเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๑๙๑๒ หลังจากนั้นสมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสซึ่งปกครองเมืองลพบุรี ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน แต่หลังจากครองราชย์เพียงแค่ ๑ ปี ก็มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินขึ้น โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งปกครองเมืองสุพรรณบุรีอยู่เดิมก็ได้ขึ้นครองราชย์แทน เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชวงศ์อู่ทองมาเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิ
บันทึกทางประวัติศาสตร์หลายฉบับมีความแตกต่างกัน ในเรื่องที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมเด็จพระราเมศวรมาเป็นขุนหลวงพะงั่ว โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แม้จะต่างราชวงศ์ก็ไม่มีการเสียเลือดเนื้อเกิดขึ้นแต่อย่างใด
กล่าวกันว่าหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้ขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ของอาณาจักรอยุธยาแล้ว พระองค์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านการรบและการปกครองแผ่นดิน ตลอดจนอาจจะมี ลักษณะนิสัยบางประการที่ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นภายในบ้านเมือง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้ยกทัพจากเมืองสุพรรณบุรีมายังกรุงศรีอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระราเมศวรทรงทราบ ก็ได้ยกกองทัพออกไปต้อนรับ และในที่สุด ก็ได้มอบให้ขุนหลวงพะงั่วขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๑๓ โดยได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา แทนพระองค์ซึ่งเสด็จกลับไปครองเมืองลพบุรี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความกล้าหาญ เชี่ยวชาญในด้านการรบและการศึกสงคราม ตลอดจนการบริหารบ้านเมือง โดยในสมัยของพระองค์นั้น ได้ทรงยกทัพออกไปรบในดินแดนต่างๆ หลายครั้ง อาทิ เมืองขอม เชียงใหม่ ลำปาง และที่สำคัญมาก คือเมืองชากังราวซึ่งก็คือเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบันนี้
ในปีพุทธศักราช ๑๘๙๖ ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยานั้น พระองค์ ได้ยกทัพไปยังนครธมแห่งกรุงกัมพูชาอธิบดี ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้ให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปปราบปรามขอมซึ่งเริ่มกระด้างกระเดื่อง แต่ไม่สามารถจะเอาชนะได้ จึงให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ยกทัพไปช่วย หลังจากสู้รบกับกองทัพกัมพูชาอยู่เป็นระยะเวลาเกือบ ๑ ปี ก็สามารถเอาชนะกรุงกัมพูชาได้ กวาดต้อนเอาผู้คนครอบครัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก
หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว ในปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ พระองค์ได้ยกทัพ ไปตีเมืองชากังราว โดยพระยาใสแก้วและพญาคำแหงเจ้าเมืองชากังราวยกทัพออกมา รบต่อพระองค์ พระยาใสแก้วเสียชีวิตแต่พระยารามคำแหงหนีกลับไปได้ ในปีพุทธศักราช ๑๙๒๑ พระองค์ยกทัพไปตีเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ ๒และก็เอาชนะ ต่อกองทัพของเมืองชากังราวได้
การยกทัพไปตีเมืองชากังราว เกิดขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งที่ ๓ ในปีพุทธศักราช ๑๙๒๔ ซึ่งในครั้งนี้พระมหาธรรมราชาที่ ๒ กษัตริย์พระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงสุโขทัย ทรงออกมารบเป็นสามารถ แต่เมื่อเห็นว่าจะสู้ทัพจากกรุงศรีอยุธยาไม่ไหว จึงออกมาถวายบังคม ซึ่งพระองค์ทรงให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองต่อไปในฐานะเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงยกทัพกลับ หลังจากนั้นในปีพุทธศักราช ๑๙๓๑ ทรงยกทัพไปเมืองชากังราวอีกครั้ง แต่ได้เสด็จสวรรคตระหว่างการเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ครองราชย์อยู่เป็นระยะเวลา ๑๘ ปี และด้วยพระปรีชาสามารถทำให้อาณาจักรอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองและขยายพระราชอาณาเขตไปได้เป็นอย่างมาก จึงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ควรได้รับการยกย่อง
หันกลับมาดูการเมืองของไทยในขณะนี้ ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ส่วนผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองที่เรียกว่าเป็นรัฐบาล จะเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยผู้บริหารสูงสุดมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องบริหารบ้านเมืองโดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในอดีตที่ผ่านมานั้น การเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ จากการกระทำผิดกฎหมายเป็นจำนวนหลายรายแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ที่ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่จากการประพฤติมิชอบ แล้วศาลสั่งให้พ้นหน้าที่คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ที่เป็นน้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคณะนายทหารกระทำรัฐประหาร ด้วยเหตุที่ว่ากระทำคอร์รัปชันและทำให้ บ้านเมืองแตกแยก โดยทั้ง ๒ รายต่างก็หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเมื่อศาลตัดสินให้ลงโทษจำคุก
ในส่วนของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ขอกลับมาเมืองไทยเพื่อมารับโทษจำคุก ๘ ปี แต่ก็ได้ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ ๑ ปี แต่ก็เชื่อกันว่าได้รับการช่วยเหลือจากนักการเมืองที่วางแผนระยะยาว ทำให้กฎหมายและระเบียบต่างๆ บิดเบี้ยว จนสามารถกลับไปรับการกักขังที่บ้านพัก สถานะในขณะนี้จึงยังเป็นนักโทษ แต่ก็ได้ใช้ช่องทางต่างๆจนสามารถจะตระเวน ไปในที่ใดๆ และเมื่อใดก็ได้ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พึงพอใจรัฐบาลที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย
และก็เชื่อกันว่าอีกไม่นานนัก นักโทษ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะหาทางกลับมายังประเทศไทย โดยใช้ข้ออ้างและสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยู่ในคณะรัฐบาลและมีอำนาจบริหารบ้านเมืองขณะนี้ จะต้องดำเนินการจนทำให้กลับมาได้โดยเป็นนักโทษที่ถูกกักขังนอกคุกเช่นกัน
ใครก็ตามที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองโดยจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์ เห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้อง และคาดหวังในอำนาจที่อาจจะทำให้เกิดขึ้นได้ อันจะนำประโยชน์มาสู่ตัวเองด้วย ย่อมจะต้องเจอกับวิบากกรรม แม้จะสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่ามีความตั้งใจและมีความสุขในการทำงาน แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าในจิตใจนั้นจะเต็มไปด้วยความเร่าร้อน ที่เกิดจากความทุกข์ที่สะสมเข้ามา อันมีแต่จะมากขึ้นและมากขึ้นตามระยะเวลาที่เปลี่ยนไป
การที่กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาได้เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กระทำผิดหรือไม่ในการขอแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เคยถูกคำสั่งศาลให้ลงโทษจำคุกมาแล้วนั้น ก็น่าจะเป็นเรื่องของวิบากกรรม ทำให้ความคิดและดวงตามืดบอด ในการเสนอบุคคลที่มีชนักติดตัว ซึ่งถือว่าบกพร่องทางจริยธรรมให้เป็นรัฐมนตรี
ก่อนจะถึงวันพิจารณาคดีเพียง ๑ วัน นายพิชิตได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเพื่อทำให้นายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองต่อไปได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะคิดตรงกันว่า ถ้านายพิชิตยืนยันว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วน ทำไมจะต้องลาออก และคงคิดว่าการชิงลาออกของตัวเองนั้นจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับพิจารณาคดีของนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ก็เห็นแล้วว่าศาลได้มีคำสั่งรับฟ้อง นายกรัฐมนตรีว่ากระทำการโดยชอบหรือไม่ โดยให้โอกาสในการชี้แจงต่อศาลถึงเหตุผลในการขอแต่งตั้งภายในระยะเวลา ๑๕ วัน
คงเป็นระยะเวลาไม่นานนักที่ศาลจะพิจารณาตัดสิน ซึ่งผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไรก็จะต้องติดตามดูกันต่อไป หากศาลตัดสินว่าผิดจริงก็จะทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันจะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาบริหารประเทศ
ใครทำกรรมอะไรไว้ กรรมนั้นก็จะติดตามสนอง เป็นเรื่องแน่นอนอย่างที่สุด
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี