นายวิษณุ เครืองาม เจ้าของวาทกรรม “อภินิหารทางกฎหมาย” ทำให้รัฐบาลที่เขาร่วมงานในฐานะเนติบริกรผ่านพ้นอุปสรรคทางกฎหมายไปได้ แต่ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่ผู้คนสงสัยว่า จริงแล้วเนติบริกรมีอภินิหารทางกฎหมาย หรือ เขามีพรายกระซิบบอกเจ้านายล่วงหน้าว่า จังหวะไหนควรต่อสู้คดีตามกฎหมาย หรือจังหวะไหนควรหนีไปตั้งหลักและพรายกระซิบด้วยว่า จังหวะไหนกลับบ้านได้ เนติบริกรถึงเตรียมการล่วงหน้าให้ได้ถูกจังหวะเวลา
นอกจากใช้อภินิหารทางกฎหมายผ่านพรายกระซิบแล้ว นายวิษณุน่าจะมีพลังเชื่อมจิตกับบ้านจันทร์ส่องหล้า หรือไม่ก็ระลึกชาติข้ามภพได้ว่า เจ้าของวาทกรรม อภินิหารทางกฎหมายกับเจ้ามูลเมือง มีความผูกพันกันมาแต่ปางก่อน เหมือนกับที่นายวิษณุ จินตนาการถึงอดีตกว่าสามร้อยปี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่โกษาปานข้ามน้ำข้ามสมุทรเป็นทูตไทยไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในหนังสือเรื่อง ข้ามสมุทร ที่นายวิษณุจินตนาการให้นักเรียนไทยคนหนึ่งวาดภาพพระราชวังแวร์ซายก่อนม่อยหลับข้ามภพข้ามชาติไปถึงยุคที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งทูตไปสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตัวละครที่ดูสมจริงสมจัง ทำเอาผู้อ่านเคลิ้มไปว่าเกิดในยุคเดียวกับโกษาปาน
เลยอดที่จะคิดไม่ได้ว่า ตัวละครในหนังสือเรื่อง โลกนี้คือละคร เป็นการต่อเนื่องความผูกพันข้ามภพข้ามชาติของเจ้ามูลเมืองกับอภินิหารทางกฎหมาย โลกนี้คือละครนายวิษณุ ได้บรรยายถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นและบุญคุณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มีต่อเขาและครอบครัวว่า หัวหน้าครอบครัวบ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นผู้อุปถัมภ์อุ้มชูให้เขาเป็นเสนาบดีครั้งแรกในภพนี้ คุณหญิงบ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นสตรีที่มีอัธยาศัยงดงามผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลทุกข์สุขยามเจ็บไข้ได้ป่วย จนภริยาเขาเกรงใจถึงกับเอ่ยปากว่า ทีหลังไม่ต้องชวนเธอไปรับประทานอาหารบ้านจันทร์ส่องหล้าอีก
นายวิษณุ เขียนไว้ในหนังสือ โลกนี้คือละคร ด้วยว่า นอกจากทักษิณกับคุณหญิงแล้วยังมีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่เขยทักษิณ เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างเขากับบ้านจันทร์ส่องหล้า ครั้งหนึ่งนายบรรณพจน์ นัดทานข้าวกับเขาระหว่างทานอาหาร นายบรรณพจน์บ่นปัญหาที่หัวหน้าพรรคไทยรักไทยประสบอยู่รอบด้าน และนายบรรณพจน์ได้จดที่นายวิษณุแนะนำไปทีละข้อ และต่อมาเมื่อนายวิษณุพบกับคุณหญิงอ้อ เธอยื่นกระดาษ ที่นายบรรณพจน์จดข้อความระหว่างทานอาหารมาให้ดู แล้วถามว่า ข้อนั้นข้อนี้นายวิษณุแนะนำมาใช่ไหม?
ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านจันทร์ส่องหล้ากับนายวิษณุแนบแน่นล้ำลึกอย่างไร ดูได้จากที่เขาบรรยายไว้ในหนังสือ โลกนี้คือละคร และพฤติกรรมที่เขาปฏิบัติต่อนายทักษิณ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมนายวิษณุ จึงยอมเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูก 40 สว.ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ผู้มีปัญหาความซื่อสัตย์สุจริต และผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายเศรษฐา นายกฯหุ่นเชิดคงไม่มีปัญญาเชิญนายวิษณุ กูรูทางกฎหมายมาช่วยงานได้ แต่ด้วยความสัมพันธ์ข้ามภพข้ามชาติและบุญคุณที่มีต่อกันกับทักษิณ ชินวัตร เป็นเหตุให้นายวิษณุลุกจากเตียงฟอกไตมาเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้ และเป็นไปได้ว่าที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงฉากหน้า เป้าหมายที่แท้จริง น่าเป็นคดีที่อัยการสั่งฟ้องทักษิณละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112
หากมองย้อนกลับไปวันที่นายทักษิณกลับประเทศไทย หลังจากเร่ร่อนอยู่ต่างประเทศนานกว่า 17 ปี ตอนค่ำของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 หลังจากรับทราบความผิดในศาล ทักษิณถูกนำตัวมาเรือนจำคลองเปรม ประมาณหนึ่งทุ่มคืนนั้นนายวิษณุ เครืองาม รักษาการรองนายกฯควบรักษาการรมว.ยุติธรรม เข้าพบ น.ช.ทักษิณในคลองเปรมมีรายงานว่า ทั้งสองพูดคุยกันประมาณ 2 ชม. และไม่นานหลังจากนายวิษณุออกจากคลองเปรมมีรายงานด่วนว่า ทักษิณ อาการป่วยกำเริบปางตายต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่งโรงพยาบาลตำรวจทันที
รุ่งขึ้นวันที่ 23 สิงหาคม 2566 นายวิษณุให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ทักษิณอยู่ในข่ายถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ทันที สองวันหลังจากนั้นมีรายงานว่าได้ถวายฎีกาทูลเกล้าแล้วและสองวันต่อมา มีกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษให้ น.ช.ทักษิณจากแปดปีเหลือโทษจำคุกหนึ่งปีจึงเกิดความคลางแคลงใจสงสัยว่า น.ช.ทักษิณป่วยอาการปางตายอยู่ในโรงพยาบาล ใช้เวลาตอนไหนทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้ จึงต้องพิเคราะห์ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่นายวิษณุเตรียมฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไว้ล่วงหน้า แล้วนำเข้าไปให้ทักษิณลงนามตอนพบกันในคลองเปรมคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายวิษณุ ถึงได้ให้สัมภาษณ์ว่า น.ช.ทักษิณอยู่ในข่ายขอพระราชทานอภัยโทษได้ทันที
หากข้อสงสัยว่านายวิษณุเป็นผู้ร่างฎีกาขออภัยโทษ ให้ทักษิณ เป็นเรื่องจริง คนจำนวนมากจะได้คลายความรู้สึกหดหู่ใจที่เห็นนายวิษณุถ่อสังขารออกมารับใช้นายขณะที่สุขภาพกายไม่อำนวย และนอกจากนั้นไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปว่า ใครเป็นคนร่าง TOR ที่นำไปสู่ข้อตกลงให้นายทักษิณกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องติดคุกแม้แต่นาทีเดียว
นายวิษณุ ซึ่งทำงานในทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไต่เต้าจากรองเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสำนักรัฐมนตรี จนก้าวขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในทศวรรษ 2544 นอกจากงานในทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ
ยังเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นที่ปรึกษาหน่วยงานองค์กรต่างๆ อีกมากมาย นี่คือที่มาของคำว่า นกมีขนคนมีพวกคือเขามีพรรคพวกมีเส้นสายที่ภาษาสมัยใหม่เรียกง่ายๆ ว่า “คอนเนคชั่น”มากมายหลายวงการ
จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ที่ผ่านมานายวิษณุ ช่วยให้นายทักษิณหลุดพ้นจากคดี หรือหนีไปต่างประเทศได้เพราะเส้นสายมีพรายกระซิบหรือไม่ ดังที่นายวิษณุ เคยพูดว่า มีพรายกระซิบให้เขาลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลไทยรักไทย ไม่กี่เดือนก่อนนายทักษิณถูกยึดอำนาจ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ทักษิณกับภรรยา เป็นจำเลย มีพรายกระซิบให้ทักษิณ บินไปชมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง ปี 2551 และต่อมาพรายกระซิบให้กลับบ้านได้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากนายเศรษฐาไปพบนายวิษณุ วันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมาวันที่ 26 มิถุนายน มีพรายกระซิบว่าถึงเวลาติดโควิด แล้ววันที่ 28 พฤษภาคม ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่สามารถไปฟังอัยการสั่งฟ้องได้ตามใบรับรองแพทย์แจ้งว่าผู้ต้องหาติดโควิดหมอสั่งให้พักงาน(การเมือง)เจ็ดวัน
ดังนั้น จากนี้ถึงวันที่ 18 มิถุนายน นอกจากทีมกฎหมายแล้วพรายกระซิบต้องทำงานหนักในการเตรียมข้อมูลกระซิบจำเลยว่า เดินหน้าสู้คดีหรือหนีไปตั้งหลักสักหลายปี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี