เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่แล้ว (8-9 มิ.ย. 2567) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์ “โครงการพัฒนาการกำกับดูแลกันเองอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้บริบทสื่อใหม่เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัย” ซึ่งมีการบรรยายเรื่อง “การกำกับดูแลกันเองภายใต้บริบทสื่อยุคใหม่” โดย ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้
คุณชำนาญ ฉายภาพประวัติศาสตร์ของ “การกำกับดูแลกันเอง” ซึ่งต้องย้อนไปในสมัย “ยุคศักดินา” ในทวีปยุโรป ที่มีชนชั้นสูง 3 กลุ่มหลักอยู่ในฐานะผู้ปกครอง คือ กษัตริย์ ขุนนาง และพระ (บาทหลวง) ส่วนประชากรที่เหลือเป็นทาสติดที่ดิน (Serf) กระทั่งต่อมา ประชากรกลุ่มหลังนี้ซึ่งมีโอกาสขยับฐานะของตนผ่านการค้าขายหรือการเป็นช่างฝีมือ ก็ได้รวมตัวกันในรูปแบบของสมาคม (Association) หรือองค์กรวิชาชีพ (Guild) ขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองโดยเฉพาะกับชนชั้นผู้ปกครอง อีกทั้งยังหมายถึงการทำให้วิชาชีพมีความเป็นมาตรฐานด้วย
ส่วน “ประวัติศาสตร์ขององค์กรวิชาชีพสื่อ”จุดเริ่มต้นอาจนับได้จากปี 2423 ซึ่งในประเทศอังกฤษ มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกันเองของอาชีพนักทำโปสเตอร์โฆษณา จากนั้นในปี 2468 เกิดร่างจรรยาบรรณของอาชีพนักโฆษณาฉบับแรก กระทั่งในปี 2491 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ตามด้วยปี 2496 สภาวิชาชีพสื่อสิ่งพิมพ์ในอังกฤษจึงถือกำเนิดขึ้น
เมื่อพูดถึง “การกำกับดูแล” จะแบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน 1.รัฐกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ 2.กำกับดูแลร่วมกันระหว่างรัฐกับองค์กรวิชาชีพ ซึ่งต้องมาตกลงร่วมกันว่าเรื่องใดรัฐจะเข้ามาควบคุม หรือเรื่องใดที่ปล่อยให้วิชาชีพดูแลกันเอง เช่น ที่ประเทศเบลเยียม รัฐจะดำเนินการเองเพียง 2 เรื่อง คือเรื่องการก่อการร้ายซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กับเรื่องที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน นอกเหนือจากนี้จะเป็นบทบาทขององค์กรวิชาชีพ
และ 3.องค์กรวิชาชีพกำกับดูแลกันเองทั้งหมดโดยรัฐกำหนดอำนาจทั้งการกำหนดมาตรฐาน การพิจารณาความและการตัดสิน เช่น FCC ของสหรัฐอเมริกา หรือIPSO ของอังกฤษ อนึ่ง ตัวอย่างกรณี IPSO แม้จะมีด้านของความสำเร็จ อาทิ การปกป้องประเด็นสำคัญของสังคมอย่างการเลือกตั้ง แต่ก็มีด้านที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อาทิ ในอังกฤษมีสื่อประเภท “แท็บลอยด์ (Tabloid)”มีสำนักข่าวที่รับซื้อภาพและข่าวจากนักข่าวประเภท “ปาปาราซซี่(Paparazzi)” ที่ไล่ตามติดชีวิตคนมีชื่อเสียงในสังคมในลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว
“จุดเด่นของการกำกับดูแลกันเองก็มีหลายเรื่อง มีความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย ตรงกับความต้องการของสมาชิก ช่วยหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ข้อเสีย
อาจจะไม่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะบางประเทศเขาก็ทำได้ อย่างผมไปเห็นที่เบลเยียม กสทช. เขาปีหนึ่งรับเรื่อง 5 เรื่อง ใน 5 เรื่องตัดสินว่าผิดแค่ 3 เรื่อง อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นมันก็มีบางสังคมที่ Self-Regulation (การกำกับดูแลกันเอง) หรือCo-Regulation (การกำกับดูแลร่วม) ยังพอไปได้อยู่
กระบวนการบังคับมีความโปร่งใสต่ำ อันนี้ผมไม่แน่ใจ เพราะถ้าเกิดทำแบบชัดเจน มีมาตรฐาน ผมคิดว่าเราสามารถสร้างความโปร่งใสให้มันขึ้นมาได้ ไม่รายงานต่อองค์กรใดๆ แต่ผมก็รายงานมาตรฐานวิชาชีพนะ ฉะนั้นเราก็ควรจะต้องมาตกลงกันก่อนไหม? อะไรคือเส้นที่เราจะไม่ข้าม อะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ข้อสุดท้าย ไม่ใช่ภาครัฐ อาจมีการขัดกันของผลประโยชน์ อันนี้ผมก็ยังมีคำถามไว้อยู่นะ เพราะเข้าใจว่าในวงการสื่อ เราอาจจะมีแหล่งรายได้ แต่ถ้าเราเอาบรรทัดฐานของวิชาชีพเป็นตัวตั้ง เรื่องผลประโยชน์อาจมาเป็นเรื่องรองๆ หรือไม่?” คุณชำนาญ กล่าว
รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้หลักคิดเรื่องการกำกับดูแล โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับ
การรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ 2.ผลประโยชน์สาธารณะ เรื่องที่สื่อต้องหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวัง อาทิ ภาพหวาดเสียวอุจาด เนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการลอกเลียนแบบแล้วก่อให้เกิดอันตราย เช่น ขั้นตอนการกระทำผิดกฎหมาย หรือเนื้อหาที่เป็นการยั่วยุให้เกิดการเกลียดชัง เหยียดหยามและใช้ความรุนแรง นอกจากนั้นสื่อควรวางตัวเป็นกลาง เปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายต่างๆที่มีแนวคิดหลากหลาย เป็นต้น
และ 3.การคุ้มครองบุคคล ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นกฎหมาย อาทิ การคุ้มครองเด็ก การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากนั้น สื่อควรให้ความเป็นธรรมในการรายงาน เช่น เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ถูกพาดพิงได้ชี้แจง แต่ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ อยู่ในภาษาอังกฤษคำว่า “Due” หรือภาษาไทยคือ “ความเหมาะสม” หมายถึง ในแต่ละสถานการณ์ สื่อจะให้น้ำหนักกับปัจจัยใดมาก-น้อยเพียงใด อาทิ นักการเมืองทำผิดจริยธรรม กับเยาวชนอายุ 16 ปีทำผิดจริยธรรม 2 เรื่องนี้ การให้น้ำหนักเรื่องความเป็นส่วนตัวของบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน
ถึงกระนั้น “ในยุคออนไลน์ที่ใครๆ ก็เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้” การกำกับดูแลสื่อนั้นก็มี “ข้อท้าทาย” หลายประการ ไล่ตั้งแต่ 1.จะนับใครเป็นสื่อบ้าง? ซึ่งด้านหนึ่งก็ต้องกำหนดขอบเขตให้ชัด แต่อีกด้านหนึ่ง จริยธรรมสื่อไม่ใช่วิชาเฉพาะของคนทำงานสื่ออีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ 2.ข้อมูลมหาศาล ซึ่งจำนวนมากไม่ได้ทำให้คนรับข้อมูลฉลาดขึ้น อาทิ ยุคนี้ยังมีคนเชื่อว่าโลกแบนบ้าง เชื่อว่า มนุษย์ไม่เคยไปเหยียบดวงจันทร์บ้าง คำถามคือเรามีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพียงใด แต่เรื่องนี้ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ก็ต้องมีบทบาทด้วย เช่น ติดป้ายคำเตือนกรณีเป็นทฤษฎีสมคบคิด หรือเป็นความเห็น (Opinion) ที่ยังไม่มีข้อเท็จจริง (Fact) ยืนยัน
3.ข้อมูลเท็จ ซึ่งปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบแหล่งที่มา 4.ความเป็นส่วนตัว หรือความปลอดภัยของข้อมูล 5.ประเภทของเนื้อหา ซึ่งบางเรื่องไม่ผิดกฎหมายแต่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรม 6.การขาดความน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องน่าสนใจที่มีผลสำรวจพบว่าปัจจุบันคนเชื่อถือสื่อลดลง 7.การกระจาย
ของกลุ่มเป้าหมาย เป็นอีกเรื่องที่แพลตฟอร์มต้องมีบทบาทด้วย เพราะสื่อทำเองอย่างในอดีตไม่ได้อีกต่อไป เช่น นำเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็กไปไว้หลังเวลา 22.00 น. และ 8.นิยามประโยชน์สาธารณะคำคำนี้สำหรับคนไทยควรจะเป็นอย่างไร?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี